สสก. 9 พิษณุโลก-ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) จ.ตาก แนะนำการวิธีการเก็บผลอะโวกาโดให้ได้คุณภาพ

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดพิษณุโลก ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า อะโวกาโด (avocado) เป็นผลไม้ที่มากคุณประโยชน์และดีต่อสุขภาพ เป็นผลไม้ชนิดใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้รักสุขภาพทั้งหลาย เพราะมีคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ การที่อะโวกาโดเป็นผลไม้ชนิดใหม่ในท้องตลาดจึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโดนั้นขาดความรู้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต อะโวกาโดที่มีคุณภาพ และผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้ออะโวกาโดที่เหมาะต่อการบริโภค จึงส่งผลให้พบปัญหาต่างๆ เช่น การเก็บผลอ่อนเกินไป ผลผลิตช้ำเสียหาย หรือได้ผลผลิตเน่าเสีย อันเนื่องมาจากโรคและแมลงศัตรูเข้าทำลาย

นายศุภชัย ศรีจันทร์ดร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) จังหวัดตาก อธิบายเพิ่มเติมว่า อะโวกาโด เป็นผลไม้ประเภท climacteric fruit คือ สามารถสุกแก่ต่อได้หลังจากการเก็บเกี่ยวจนถึงมือผู้บริโภคและสำหรับผู้บริโภคที่ชอบรับประทานอะโวกาโด มีคำแนะนำในการเลือกซื้อผลผลิตอะโวกาโดให้ได้คุณภาพดังนี้

1. ขั้วผล โดยปกติขั้วผลอะโวกาโดจะมีสีเขียวอ่อนหรือเขียวยอดตอง เมื่อเวลาสุกแก่พร้อมเก็บเกี่ยวจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ขั้วผล กลายเป็นสีเหลืองเข้ม เหลืองอมส้ม สีปูนแดงกินหมาก หรืออาจแตกสะเก็ดสีน้ำตาลอ่อนหรือเข้มเป็นริ้วบางๆ หรือเป็นทั่วทั้งส่วนของขั้วผล

2. ผิวผล อาจมีการเปลี่ยนสีจากสีเขียวอ่อน ผิวเกลี้ยงเนียน เปลือกบาง กลายเป็นเปลือกหนา ผิวหยาบ
ผิวผลเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง สีเขียวขี้ม้าเข้ม สีม่วงอมเขียว หรือสีม่วงอมแดง แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ในส่วนของบางสายพันธุ์ที่ไม่มีการเปลี่ยนสีนั้น มักพบสะเก็ดเนื้อตุ่มนูนสีน้ำตาลขึ้นทั่วผิวผล ขรุขระ จับแล้วสากมือ บางสายพันธุ์ก็พบลักษณะขึ้นนวล

Advertisement

สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกอะโวกาโดการเก็บเกี่ยวอะโวกาโดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ คือ การเก็บโดยใช้กรรไกรตัดกิ่ง หรือใช้ตระกร้อที่รองด้วยถุงผ้า แล้วตัดแต่งบริเวณขั้วผลโดยให้ขั้วผลยังติดอยู่กับผลผลิต ไม่ควรใช้วิธีการเขย่าต้นเพื่อให้ผลร่วง อาจทำให้ผลช้ำเสียหายได้ หากท่านใดสนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) : โทรศัพท์ 055-806249, FB : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) หรือ scan QR Code

ที่มา : มติชนออนไลน์

Advertisement