เผยแพร่ |
---|
นายนอร์แมน แกรนท์ ประธานกรรมการบริหาร สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเล ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ออสเตรเลียประสบปัญหาโรคจุดขาวระบาดในฟาร์มกุ้งในรัฐควีนส์แลนด์ ทำให้ผลผลิตเสียหายจำนวนมาก กรมการเกษตรและประมงของออสเตรเลียจึงต้องการออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อตรวจสอบและควบคุมการแพร่กระจายของโรคไปยังบริเวณใกล้เคียงทางตอนใต้ของรัฐ โดยกำหนดเป็นแผนดำเนินการกำจัดโรคจุดขาวให้หมดไปภายใน 2 ปี และรัฐบาลออสเตรเลียได้มีมาตรการตรวจสอบคุณภาพกุ้งนำเข้าอย่างเข้มงวด
นายแกรนท์ กล่าวว่า ปัจจุบัน การบริโภคกุ้งในประเทศออสเตรเลีย เฉลี่ยปีละ 100,000 ตัน เหตุผลหนึ่งมาจากการเข้ามาของคนเอเชียที่นิยมบริโภคกุ้ง ทำให้ปริมาณการบริโภคสูงขึ้น ในจำนวนนี้คิดเป็น 50% เป็นกุ้งนำเข้า ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริโภคในออสเตรเลียยังมีข้อมูลเกี่ยวกับกุ้งไทยน้อยมาก โดยเฉพาะระบบการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากผู้ส่งออกกุ้งไทยทำการค้าโดยตรงกับผู้นำเข้าอาหารทะเล จึงไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของสินค้าให้ผู้บริโภครับรู้ และหากผู้บริโภคขาดรายละเอียดของสินค้า อาจจะหันไปหาเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เช่น เนื้อแกะ ไก่ แทน เพราะราคาถูกกว่า ดังนั้น จำเป็นที่ผู้ส่งออกไทยต้องหากลยุทธ์การเข้าถึงผู้บริโภคออสเตรเลียโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางการตลาด แบบ B2C ที่เพิ่มรายละเอียดของฟาร์มและแหล่งที่มาของวัตถุดิบบนบรรจุภัณฑ์
นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกกุ้งไปออสเตรเลีย เฉลี่ยปีละ 5,000-6,000 ตัน ทั้งกุ้งต้มทั้งตัวและกุ้งปรุงสำเร็จเป็นหลัก สำหรับ ซีพีเอฟ ได้ดำเนินการเลี้ยงกุ้งเป็นฟาร์มระบบปิดแบบครบวงจร และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต รวมถึงมีระบบการตรวจสอบคุณภาพกุ้งอย่างเข้มงวด ตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันเชื้อและโรคติดต่อต่างๆ โดยใช้ชุดตรวจสอบคุณภาพกุ้งซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ในประเทศออสเตรเลีย ควบคู่กับการตรวจสอบคุณภาพกุ้งอย่างสม่ำเสมอ