แม่โจ้ สถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่สอน “วิชาในหลวง” โดยตรง

อภิปรัชญาวิชา “ในหลวง” สู่ศาสตร์ “ภูมิสังคม” ม.แม่โจ้

การจะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ใด ควรต้องเรียนรู้และเข้าใจในบริบทของพื้นที่นั้น ดังพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

คือที่มาการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่มีการเรียน-การสอน “วิชาในหลวง” โดยตรง ตั้งแต่ พ.ศ. 2547

ภายใต้การริเริ่มของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ว่า “ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนจะได้รับรู้ รับทราบ ปรัชญา หลักสูตร และแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงเมตตา ประทานแสงประทีปแห่งปัญญา…ทำให้ประเทศได้พัฒนาเจริญทั่วหน้าอย่างสอดคล้องกับภูมิสังคม”

นอกจาก “เรียนวิชา” ที่เป็นตำราเรียนทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิของหลักสูตร ทั้ง ม.จ.ภีศเดช รัชนี, ดร.อำพล เสนาณรงค์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี แล้วยังมี นายปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ฯลฯ ได้มาถ่ายทอด

หลักสูตรให้ความสำคัญกับตำรานอกสถานที่ “แหล่งเรียนรู้ของชาวภูมิสังคม” ใน 10 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาต้องลงพื้นที่ชุมชน 152 หมู่บ้าน 10 ศูนย์เรียนรู้ชุมชน/วิสาหกิจชุมชน 29 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 5 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และ 10 โครงการในมูลนิธิชัยพัฒนา

สำหรับรายวิชาที่เปิดสอน 9 รายวิชา จากทั้งหมด 11 รายวิชา ตำราเรียนของหลักสูตรจึงเป็นตำราแห่งชีวิต ประกอบด้วย

รายวิชา พภ 511 ปรัชญา ทฤษฎี และแนวคิดในการพัฒนา ต้องการให้นักศึกษาเรียนรู้บริบทของการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการปรับตัวของชุมชนต่อการพัฒนา แบบเรียน ควบคู่ไปกับแบบฝึกหัดของนักศึกษา จึงเป็นพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ อาทิ ชุมชนในเขต อ.ดอยสะเก็ด ได้แก่ ชุมชนบ้านป่าสักงาม บ้านสันทราย ต.ลวงเหนือ ชุมชนบ้านปางไม้แดง อ.ดอยสะเก็ด ชุมชนในเขต อ.แม่ออน ได้แก่ ชุมชนบ้านปางจำปี บ้านป็อก ต.ห้วยแก้ว บ้านสหกรณ์ ต.บ้านสหกรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

การเรียนรู้ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิชา พภ 521 ใช้พื้นที่ชุมชนบ้านสาขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เป็นห้องเรียน จากการพลิกวิกฤตเรื่องหนี้สินของชุมชน โดยอาศัยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง, ชุมชนบ้านทาป่าเปา อ.แม่ทา จ.ลำพูน บทเรียนของการจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยชุมชน, บ้านบัว บ้านล้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา บ้านบัวเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับ “มั่งมี ศรีสุข”

ในวิชา พภ 531 การบริหารโครงการพัฒนา สนับสนุนให้เกิดเรียนรู้ในการบริหารจัดการโครงการตามแนวพระราชดำริ ทั้งในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนลำพะยังตอนบน จ.กาฬสินธุ์

รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่ในการดำเนินงานภายใต้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 5 ศูนย์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำริเรียกว่า “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ

นอกจากนี้ นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ในโครงการพัฒนาต่าง ๆ ตามแต่วัตถุประสงค์ของโครงการ เช่น โครงการศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.บ้านนา จ.นครนายก โครงการทฤษฎีใหม่วัดมงคลชัยพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง จ.เพชรบุรี

โครงการในมูลนิธิชัยพัฒนา อาทิ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จ.สมุทรสงคราม โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จ.สระแก้ว โครงการฟาร์มทดสอบสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เช่น ศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนท่าสอน เป็นการจัดการป่าชายเลนลุ่มแม่น้ำเวฬุ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร สวนศรียา ของนายไสว ศรียา จ.นครนายก ที่โด่งดังในการทำต้นไม้แฟนซี การทำผลไม้ในขวดแก้ว เป็นต้น

แบบเรียนที่สำคัญอีกรายวิชา คือ พภ 532 การวิเคราะห์พื้นที่เพื่อการพัฒนา เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมของนักพัฒนา ในกระบวนการวิเคราะห์พื้นที่ โดยการประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีตามพระราชดำริในการพัฒนาพื้นที่ โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ภายใต้พื้นที่ที่เรียกว่า “Known Area” และฝึกปฏิบัติในพื้นที่กรณีศึกษาที่เรียกว่า “Unknown Area” โดยมีโจทย์การวิเคราะห์ในพื้นที่ที่มีความแตกต่างในชาติพันธุ์ ภูมิวัฒนธรรม ภูมิประเทศ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย และผู้เรียนสามารถออกแบบการพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น พื้นที่ ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว พื้นที่ ต.แม่วิน อ.แม่วาง พื้นที่ อ.สะเมิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อ.เวียงป่าเป้า อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

“การพัฒนาภูมิสังคม” ยังต้องคำนึงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทรัพยากรที่สนับสนุนการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน นั้นคือการเรียนรู้ในรายวิชา พภ 543 ชุมชน ทรัพยากร และความหลากหลายทางชีวภาพ และ พภ 547 ภูมิปัญญาไทย ควบคู่ไปพร้อมกัน

ทั้ง 2 วิชานี้ ใช้กรณีศึกษาในพื้นที่ จ.น่าน เรียนรู้ภูมิปัญญาในการเก็บพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งฆ้อง อ.ท่าวังผา การทอผ้าและย้อมผ้าสีธรรมชาติบ้านโป่งคำ อ.สันติสุข การอนุรักษ์แม่น้ำน่าน และป่าชุมชน ภายใต้การพัฒนาท้องถิ่นโครงการไหล่น่าน อ.เวียงสา

ในการเรียนรู้ของหลักสูตร มิได้จำกัดแต่เฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ผู้เรียนยังได้เรียนรู้ความแตกต่างตามภูมิสังคม ของแต่ละภาคทั้งในภาคเหนือ : จ.น่าน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน ภาคกลาง : จ.ฉะเชิงเทรา ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา

วิชาที่สนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยการศึกษากรณีตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับรายวิชา เช่น รายวิชา พภ 533 วิธีวิทยาการวิจัยเพื่อการพัฒนา และวิชา พภ 544 นวัตกรรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พภ 548 การจัดการความรู้ ซึ่งศาสตร์แห่งการเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่เป็นตัวอย่างที่ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคตของการทำงานในแต่ละภูมิสังคมอีกด้วย

ผศ.ดร.รัตนาโพธิสุวรรณ อาจารย์ประจำหลักสูตร แนะนำสาขาวิชาภูมิสังคมว่า “เป็นการเรียนหลักสูตรการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียนรู้หลักคิด สรรพวิชา ที่พระองค์ท่านทรงทำ ถ้าจบหลักสูตรนี้ องค์กรธุรกิจ หรือบุคคล จะไม่ได้อยู่เพื่อเงิน เพื่อกำไร แต่คือบุญ ได้ทั้ง Social Benefit, Economic Benefit”

หลักสูตรการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน ในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีนักศึกษาจบไปแล้ว 13 รุ่น จำนวน 191 คน