พิษสหรัฐ ทำโรงรมยางสูญ 2 พันล้าน วอนรัฐผ่อนปรนเงื่อนไขเงินกู้ 1.5 หมื่นล้าน

3,000 โรงรมควันยางพารา สูญ 2 พันล้านบาท เหตุพิษกำแพงภาษีสหรัฐ-จีน ทำราคา “ยางรมควัน” ผันผวนรายวัน เร่งพลิกกลยุทธ์การผลิต เพิ่มแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น 70% ลดยางรมควันเหลือ 30% น้ำยางข้นแปรรูปได้หลากหลาย พร้อมวอนรัฐผ่อนปรนเงื่อนไขเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ธ.ก.ส. 15,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกำหนดสถาบันเกษตรกรต้อง “กำไร” เหตุราคายางตก ขาดทุนต่อเนื่องกันหลายปี

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรผู้ส่งออกยางรายใหญ่ภาคใต้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่สหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีการค้า 45% กับประเทศจีน และการที่นักลงทุนซื้อขายล่วงหน้าที่ตลาดยางเซี่ยงไฮ้ ล้วนส่งผลให้เกิดการกดราคายางลดลง และส่งผลต่อสถาบันการเกษตร เนื่องจากไทยส่งออกยางไปสู่จีนปริมาณมาก และจีนนำไปผลิตล้อยางรถยนต์ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาถึง 40%

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคายางพาราผันผวนเกิดขึ้นทั้งในส่วนน้ำยางสด และยางรมควัน ส่งผลให้สถาบันในกลุ่มสหกรณ์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ราคายางรมควันลดต่ำกว่าราคารับซื้อน้ำยางดิบในช่วงราคาผันผวน แต่ผู้ค้ายางรายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีการป้องกันความเสี่ยงผ่านการสต๊อกยางพาราในปริมาณมาก รวมถึงเข้าลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ขณะที่สถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากราคายางที่ผันผวนวันต่อวันได้ เพราะไม่มีเงินทุนสะสมเพียงพอที่จะสต๊อกยางพาราที่รับซื้อมา

ด้าน นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (วคยถ.) และสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า กลุ่ม วคยถ. ประกอบด้วยสมาชิกโรงรมควันยางพารา ประมาณ 250 โรง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และพัทลุง ขาดทุนโดยเฉลี่ย โรงรมละ 500,000 บาท/ปี นับตั้งแต่ ปี 2560 เป็นต้นมา เฉลี่ยทั้งกลุ่มเสียหายราว 125 ล้านบาท ทั้งนี้ จากโรงรมทั่วประเทศกว่า 3,000 ราย ความเสียหายรวมอาจถึง 2,000 ล้านบาท

จากการประชุมร่วมกับสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มยาง ฯลฯ ประมาณ 100 กว่าราย พบว่า สถาบันเกษตรกรหลายแห่งเปลี่ยนอัตราส่วนการผลิตน้ำยางสดเพื่อการแปรรูปเป็นน้ำยางข้น ประมาณ 70% และอีก 30% เป็นยางรมควัน จากเดิมที่อัตราส่วนเท่ากัน 50% เนื่องจากยางรมควันมีตลาดรองรับเพียงการแปรรูปเป็นล้อยางรถยนต์ส่งออกไปจีน ในขณะที่น้ำยางข้นสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น หมอน ที่นอน ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และอุปกรณ์การแพทย์ สำหรับส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย และขายตลาดภายในประเทศ

ส่วนที่รัฐบาลสนับสนุนแหล่งเงินทุนช่วยเหลือสถาบันเกษตรกรยางพารา จำนวน 2 โครงการ ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) งบประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร 10,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกร เพื่อลงทุนและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการแปรรูปยางพารา จำนวน 5,000 ล้านบาท นายเรืองยศ กล่าวว่า ในส่วน 10,000 ล้านบาท ยังคงเหลืออยู่กว่า 8,000 ล้านบาท เนื่องจากสถาบันเกษตรกรยางพาราติดเงื่อนไขที่กำหนดว่า ต้องเป็นสถาบันเกษตรกรยาง กลุ่มยาง ฯลฯ ที่ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี และมีผลกำไร รวมไปถึงกรรมการสถาบันเกษตรกรยาง คู่สมรสจะต้องลงนามยินยอมร่วม และต้องมีคณะกรรมการ 15 คน ซึ่งมีหลักประกันเงินกู้เป็นหลักทรัพย์ โดยเฉพาะที่ดิน เป็นต้น และจะต้องมีเอกสารแสดงกว่า 20 รายการ โดยต้องผ่านการตรวจสอบพิจารณาจากคณะกรรมการอีกหลายคณะ

เงื่อนไขหลักที่สถาบันเกษตรกรเข้าถึงได้ยากคือ มีกำไร เนื่องจากผลประกอบการของสถาบันเกษตรกรยางในระยะปี 2559-2560 ล้วนประสบภาวะขาดทุน กรณีคู่สมรสมต้องเซ็นยินยอม บางรายคู่สมรสไม่ได้ประกอบกิจการยาง จึงไม่เซ็นยินยอม เพราะไม่เกิดความเชื่อมั่น รวมถึงวิสาหกิจชุมชนที่มีคณะกรรมการไม่ถึง 15 คน ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งยังเรื่องหลักทรัพย์ที่กำหนดเฉพาะที่ดินเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ที่ดินของเกษตรกรต่างวางเป็นหลักค้ำประกันไว้กับ ธ.ก.ส. เป็นส่วนใหญ่ก่อนหน้าแล้ว” นายเรืองยศ กล่าว

ในขณะที่ นายชำนาญ เมฆตรง ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) โดยผู้ประกอบการค้ายางแผ่นรมควันจำนวนหนึ่งได้หาทางออกผ่านการทำสัญญาซื้อขายผูกพันวันต่อวัน และส่งมอบยางรมควันในอีก 6 วัน เพื่อรับประกันความเสี่ยง จึงเสนอทางออกให้ กยท.เป็นผู้ดำเนินการทำการซื้อขายล่วงหน้า ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ผลิต กล่าวคือ ทำสัญญาซื้อราคาวันนี้และส่งมอบภายใน 7 วัน เพื่อป้องกันการแก้ไขการขาดทุน ไม่ต่างกับการซื้อขายตลาดล่วงหน้าที่ต่างประเทศ

“ปัจจุบัน ใน ชสยท. ที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีปริมาณน้อยราย ประเด็นหาผู้ซื้อไม่ได้ น่าจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้ซื้อว่า ไม่สามารถจะส่งมอบยางรมควันให้ได้ตามกำหนด เพราะเวลายางพาราราคาขึ้นจะไม่ส่งมอบ และจะส่งมอบในช่วงราคายางขาลง ขึ้นอยู่ที่ความเชื่อมั่น จึงอยู่ที่ กยท. เป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนได้ ส่วนน้ำยางสดแม้มีราคาต่ำลง แต่ไม่ผันผวนรุนแรงเท่ายางแผ่นรมควัน เพราะรับทราบราคาวันต่อวัน ส่งมอบวันต่อวัน” นายชำนาญ กล่าว

นายเยี่ยม วโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท. ได้อนุมัติงบประมาณ 250 ล้านบาท สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนจ่ายให้เกษตรกรวันต่อวันในการรับซื้อยางจากเกษตรกรในตลาดกลางยางพาราของ กยท. จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย จ.หนองคาย บุรีรัมย์ ยะลา สงขลา นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เพราะเกษตรกรเริ่มนำยางเข้าไปขายในตลาดยางของ กยท. มากขึ้น ทำให้สามารถควบคุมราคาและปริมาณยางได้ ผ่านการที่ กยท. เป็นตัวกลางในการเจรจากับผู้ซื้อ ในลักษณะการประมูลแข่ง ทำให้ราคากลับเข้าสู่ระบบที่ควรจะเป็น

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์