“ศพก.” ดีเด่น จังหวัดพังงา ปี ’61 ตัวอย่างความสำเร็จที่น่าสนใจ

ศพก. : ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นหนึ่งในงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพหลัก นำไปสู่การปฏิบัติร่วมกับหน่วยงาน บุคลากรในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 แห่ง (มีทั้งหมด 882 แห่ง ทั่วประเทศ) เพื่อนำตัวอย่างเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ มาเป็นตัวอย่างในการขยายผล เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ดูงานของเกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจ ในลักษณะเกษตรกรสอนเกษตรกร โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนข้อมูลข่าวสารทางวิชาการ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น

ผลการดำเนินงาน ศูนย์เรียนรู้ฯ ตำบลทุ่งคาโงก อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา ถือว่าประจักษ์ชัด

คุณนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดพังงา เล่าว่า ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลทุ่งคาโงก อำเภอเมืองพังงา เป็น 1 ในจำนวน 8 ศูนย์ ของจังหวัดพังงา ที่เริ่มดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยดำเนินการในพื้นที่ของเกษตรกรต้นแบบ คุณสุทัศน์ กาละสังข์ ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ที่ บ้านเลขที่ 55 หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งคาโงก อำเภอเมืองพังงา กิจกรรมหลักคือ การปลูกปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ 6 ไร่ มีปาล์มน้ำมันอายุ 7 ปี จำนวน 123 ต้น จากการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรของอำเภอ และความสมัครใจของเกษตรกรต้นแบบที่มีความมานะพยายาม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพเกษตรมาอย่างยาวนาน หลังจากที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองพังงา ได้คัดเลือกแปลงต้นแบบแล้วก็ได้แนะนำขั้นตอนของการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ส่งไปอบรมดูงาน และสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น รวมทั้งการพัฒนาอาคารสถานที่ให้เหมาะแก่การให้บริการผู้ที่มาศึกษาเรียนรู้ ห้องน้ำ ฐานการเรียนรู้ แปลงเรียนรู้ (ปาล์มน้ำมัน) และที่สำคัญที่สุดคือ เกษตรกรเจ้าของแปลงที่มีความพร้อมในการเป็นวิทยากรและพร้อมที่จะพัฒนา เพิ่มเติมความรู้ตลอดเวลา รวมทั้งการเก็บสะสมองค์ความรู้ (Knowledge) ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำเสนอ เปรียบเทียบ บอกต่อและนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลในเชิงประจักษ์ได้จริงๆ

คุณสุทัศน์ กาละสังข์ เกษตรกรเจ้าของแปลงเรียนรู้ฯ แห่ง ศพก. ทุ่งคาโงก ได้เล่าให้ฟังว่า ในอดีตแปลงปาล์มน้ำมันของตนเองแปลงนี้ ได้รับการดูแลและการจัดการมาอย่างดีตลอด ตั้งแต่ปลูกจนถึงอายุ 5 ปี (พ.ศ. 2559) การจัดการดิน จัดการปุ๋ย การดูแลโดยทั่วไปตามคำแนะนำของนักวิชาการบ้าง พัฒนาการเรียนรู้เองบ้าง ผลผลิตปาล์มก่อนปี 2559 โดยเฉลี่ย ครั้งละ 750 กิโลกรัม (เก็บเกี่ยวทุก 15 วัน) หรือเฉลี่ยปีละ 3 ตัน ต่อไร่ แต่หลังจากที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบได้นำหลักวิชาการมาใช้เต็มรูปแบบ ทั้งการตรวจวิเคราะห์ดิน การกำจัดวัชพืชโดยใช้วิธีตัดหญ้า (ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า) การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การเก็บเกี่ยวผลปาล์มที่สุกเต็มที่ การตัดแต่งทางใบ ผลการเปลี่ยนแปลงเห็นผลชัดเจนแล้ว คือ 1. ผลผลิตปาล์มติดทะลายดกตลอดทั้งปี ในขณะที่แปลงอื่นๆ ผลผลิตลดลงตามช่วงฤดู 2. ความสมบูรณ์ของผลปาล์ม ขนาดของทะลาย และน้ำหนักรวมของทะลายเพิ่มมากขึ้น 3. น้ำหนักรวมของผลผลิตในการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการจดบันทึกตัวเลขผลผลิตในแต่ละรอบ ปี 2559 ผลผลิตเฉลี่ย 3.5 ตัน ต่อไร่ ต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 4 ตัน ต่อไร่ ต่อปี ในปี 2560 และคาดว่าในปี 2561 ผลผลิตเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ตัน ต่อไร่ ต่อปี

จากผลความสำเร็จดังกล่าว เป็นที่น่าสนใจของเพื่อนเกษตรกรทั้งใกล้ไกล ที่เริ่มเข้ามาเรียนรู้อย่างจริงจังมากขึ้น ตามเจตนาของนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ มีความพร้อมในการให้บริการผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยแปลงเรียนรู้เรื่องการผลิตปาล์มน้ำมัน ฐานการเรียนรู้จำนวน 7 ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมัก ฐานการเรียนรู้เรื่องการผสมปุ๋ยเคมีและการบริหารจัดการกองทุนปุ๋ยของกลุ่ม ฐานการเรียนรู้เรื่องการปลูกกล้วยหอมทองแซมในสวนปาล์มน้ำมัน การปลูกผักปลอดภัย การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินในสวนปาล์มน้ำมัน การเลี้ยงสุกรในสวนปาล์มน้ำมัน การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ และศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ยังได้มีหลักสูตรในการให้บริการความรู้แก่สมาชิก และเกษตรกรผู้สนใจตามศักยภาพของศูนย์ ได้แก่ หลักสูตรการเลี้ยงสุกร การเลี้ยงปลา การผสมปุ๋ยเพื่อลดต้นทุน การขยายพันธุ์พืช การตรวจวิเคราะห์ดิน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกพืชเสริมรายได้ และการจัดทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น

นอกจากการทำหน้าที่บริการให้ความรู้ในฐานะศูนย์หลักแล้ว ยังได้เชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ภายในอำเภอเมืองพังงา เช่น ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ศูนย์เรียนรู้เรื่องเกษตรผสมผสานตำบลป่ากอ ศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานตำบลตากแดด ศูนย์การเรียนรู้การผสมปุ๋ยใช้เองตำบลบางเตย ศูนย์การเรียนรู้การปลูกพืชแซมในสวนปาล์มน้ำมัน (มะม่วงหิมพานต์ตัดยอด) และศูนย์การเรียนรู้การแปรรูปผลผลิตเกษตร (น้ำพริกกุ้งเสียบ) ตำบลนบปริง การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้กับฐานต่างๆ เหล่านี้เป็นการเพิ่มศักยภาพ และความเข้มแข็งให้กับ ศพก.แห่งนี้มากขึ้น ทำให้ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการคัดเลือก ศพก. ดีเด่น ระดับจังหวัด ปี 2561 ให้เป็น ศพก. ดีเด่น ของจังหวัดพังงา

ผลงานดีเด่นในเชิงประจักษ์ ที่ ศพก. ทุ่งคาโงกแห่งนี้ มีความภาคภูมิใจมากที่สุด คือการพิสูจน์ทราบว่า การจัดการดิน และการใช้ปุ๋ยผสมตามค่าวิเคราะห์ดิน สามารถทำให้ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตสูงขึ้นได้จริง มีผลผลิตดกทั้งปี และมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงได้จริง โดยคุณสุทัศน์ได้เปรียบเทียบตัวเลขให้เห็นดังนี้

ประเด็นเปรียบเทียบ ก่อนปี 2559 ปี

2559

ร้อยละ

สะสม

ปี

2560

ร้อยละ

สะสม

ปี

2561

ร้อยละ

สะสม

1. จำนวนผลผลิต (ต่อไร่ ต่อปี) 3 ตัน 3.5 ตัน +17% 4 ตัน +33% 5 ตัน +67%
2. ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี  (ต่อไร่ ต่อปี) 4,500 บาท 4,200 บาท -7% 3,500 บาท -23% 3,000 บาท -33%

 

ในภาพรวมเฉพาะแปลงเรียนรู้ต้นแบบปาล์มน้ำมันของ ศพก.แปลงนี้ ในเนื้อที่ 6 ไร่ สามารถเพิ่มผลผลิตได้จริง สูงกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดพังงา จาก 3 ตัน เป็น 5 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 ส่วนประเด็นเปรียบเทียบต้นทุนการผลิต (เฉพาะค่าปุ๋ยเคมี) เปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมีสำเร็จรูปในท้องตลาด ในอัตราการใช้ปุ๋ยที่เท่ากันต่อต้นต่อปี จากไร่ละ 4,500 บาท เป็นไร่ละ 3,000 บาท หรือลดลงร้อยละ 33 ซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่าง และต้นแบบที่น่าจะนำไปขยายผลอย่างจริงจัง เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นและต้นทุนการผลิตที่ลดลง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เรียกว่า “กำไร” จริงๆ เสียที

ท่านใดสนใจที่จะศึกษา เรียนรู้ดูงาน ติดต่อได้โดยตรงที่ คุณสุทัศน์ กาละสังข์ โทร. (087) 273-4778 ได้ทุกวัน