“บ้านสวนอำพันธ์” อยุธยา ศูนย์รวมพันธุ์ไม้อินทผลัมแบบครบวงจร

อินทผลัม เป็นไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นพันธุ์พืชใหม่ของคนไทย จึงจำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้เพื่อเข้าใจธรรมชาติของไม้ผลชนิดนี้อย่างเหมาะสม 

ในฉบับนี้ ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมชม บ้านสวนอำพันธ์ ของ คุณชัยอารีย์ วงศ์หาญ ประธานชมรมศูนย์ส่งเสริมปลูกอินทผลัม ภาคกลาง ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายมุสลิม ที่รู้จักคุ้นเคยกับการบริโภคอินทผลัมมาตลอดชีวิต เขามีโอกาสไปทำงานที่อิสราเอล 3 ปี ก็ได้เรียนรู้เรื่องอินทผลัมมากขึ้น เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงลงทุนปลูกอินทผลัมที่บ้านเกิดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาประมาณ 10 ปีแล้ว

คุณชัยอารีย์ วงศ์หาญ กับอินทผลัมพันธุ์คอนัยซี่

บ้านสวนอำพันธ์

ทุกวันนี้ บ้านสวนอำพันธ์ อินทผลัม อยุธยา จำหน่ายต้นพันธุ์อินทผลัมสายพันธุ์ชั้นนำของโลก โดยนำเข้าอินทผลัมเพาะเนื้อเยื่อจากแล็บอังกฤษ  DPD LTD.U.K. และ UAE. กว่า 20 สายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ คาลาส (khalas) อัจวาห์ (Ajwah) ชิชี (Shishi) คอนัยซี่ (Khonaizi) บาร์ฮี (Barhi) พันธุ์ซัคลูล (Zaghloul) พันธุ์อาเหม็ด ดาฮาน  (Ahmed dahan) พันธุ์โจซี่ (Jozi) พันธุ์ซุกการี พันธุ์มูซาฟาตี พันธุ์ซันตาน่า พันธุ์ซักห์ลูล พันธุ์ลูลู่ พันธุ์จาวิส เป็นต้น

“สายพันธุ์กลุ่มผลสด อีกสายพันธุ์หนึ่งที่น่าสนใจ เช่น พันธุ์นาวาเดอร์ (Nawader) หรือพันธุ์ซุปเปอร์คาลาส (Super Khalas) สายพันธุ์ชั้นนำ และถูกพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE.) และอีกหลายสายพันธุ์ชั้นนำจากประเทศบาห์เรน (Bahrain) เช่น พันธุ์กาซาอิ๊ฟ อัล อัสฟูร์ (Khasaif Al asfoor) และอีกหลากหลายสายพันธุ์ ที่ขอแนะนำ เช่น บาร์ฮีแดง บาร์ฮีบิ๊ก อัม เอ็ด ดาฮาน (Um ad dahan) ซักห์ลูล (Zughlou) เป็นต้น” คุณชัยอารีย์ กล่าว

บาร์ฮี เพาะเมล็ด

อินทผลัมทุกๆ สายพันธุ์ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิตจากแล็บ จนถึงในสภาพนำมาเลี้ยง อนุบาลลงในแคปซูล เพาะเลี้ยงต่อในโรงเรือน ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี อินทผลัมที่เกิดจากการเพาะเนื้อเยื่อราคาจำหน่ายโดยทั่วไปประมาณ 1,000-1,400 บาท ต่อต้น ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และจำนวนที่ต้องการ ทั้งนี้ต้นอินทผลัมเพาะเนื้อเยื่อ ปลูกจากแคปซูล ใช้เวลาดูแลประมาณ 3 ปี ก็เริ่มติดผลให้เห็นแล้ว

โชว์ความดกของต้นอินทผลัม

ชมรมศูนย์ส่งเสริมปลูกอินทผลัม ภาคกลาง

คุณชัยอารีย์ ต้องการเผยแพร่ความรู้เรื่องการปลูกดูแลอินทผลัมให้กับผู้สนใจทั่วไป จึงก่อตั้งชมรมศูนย์ส่งเสริมปลูกอินทผลัม ภาคกลาง ได้ติดตามความก้าวหน้าและผลความสำเร็จของสมาชิก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปลูกดูแล และแนะแนวทางแก้ไขให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัม และไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ด้วยความเต็มใจในพันธสัญญา ว่าเราจะคอยช่วยเหลือกันตลอดไป และคุณชัยอารีย์เปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องอินทผลัม 2 แห่ง คือ บ้านสวนอำพันธ์ สาขาอำเภอผักไห่ และสาขาอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้สนใจแวะเข้ามาศึกษาและขอความรู้ได้ทั้ง 2 แห่ง

บ้านสวนอำพันธ์ สาขาแรก ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอยุธยา อยู่ด้านหลังอยุธยาปาร์ค เส้นวัดใหญ่-วัดพนัญเชิง ซอยไอยรา (1/15) เข้าไป 100 เมตร ซอยติดทางรถไฟ

บ้านสวนอำพันธ์ สาขาลาดบัวหลวง

สาขาแห่งที่สอง เปิดเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ และส่งเสริมปลูกอินทผลัม เนื้อที่กว้างขวางถึง 10 ไร่ อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลคลองพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นี่เปิดเป็นที่พักสำหรับแขกทั่วไป ทั้งชาวไทยและต่างชาติ บรรยากาศห้อมล้อมไปด้วยสภาพพื้นที่ทุ่งนาโดยรอบ บ้านสวนอำพันธ์ สาขา 2 เดินทางไปไม่ยาก ตั้งอยู่ใกล้กับวัดเจดีย์หอย อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เขตติดต่อกับอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างกัน 5-6 กิโลเมตร แปลงปลูกแห่งนี้ได้ทดลองปลูกอินทผลัมบนพื้นที่แปลงนาข้าว โดยปรับยกร่องระบายน้ำ สูงจากพื้นนาเดิม 30-40 เซนติเมตร

ต้นอินทผลัมที่ปลูกในท้องนา

บรรยากาศภายในศูนย์แห่งนี้ เน้นศึกษาทดลองวิจัยเรื่องการเพาะขยายสายพันธุ์อินทผลัม กว่า 30 สายพันธุ์ ทั้งในรูปแบบเพาะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด การเพาะขยายพันธุ์ด้วยหน่อพันธุ์ และเพาะขยายพันธุ์ด้วยเนื้อเยื่อ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีต้นอินทผลัมอายุ 3-4 ปี กว่า 30 สายพันธุ์ หากใครสนใจเข้าเยี่ยมชม ศึกษาดูงานภายในศูนย์ กรุณาแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าได้ที่ คุณชัยอารีย์ วงศ์หาญ (ประธานชมรม) โทร./ID.line (082) 198-2255

การปลูกดูแล

อินทผลัมทุกสายพันธุ์ สามารถปลูกให้เจริญเติบโต ติดผลได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะนำเข้า ต้นกล้าจากเมล็ด เนื้อเยื่อ และหน่อพันธุ์จากต่างประเทศ จากการศึกษาของคุณชัยอารีย์ พบว่า ต้นอินทผลัมชอบดินท้องนาภาคกลาง เพราะหน้าดินดำ หรือดินร่วนปนเหนียว อินทรียวัตถุค่อนข้างสูง ขุดหน้าดินขึ้นมาถม ระดับลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร สภาพดินเป็นกลางค่อนข้างกรดเล็กน้อย ก่อนปลูกปรับค่า pH โดยใช้โดโลไมท์ หรือกรดซิลิคอน

เนื่องจากหน้าดินดำพื้นนาเดิมในพื้นที่ภาคกลางส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เพื่อรักษาหน้าดิน และระบบนิเวศ โดยไม่ใช้ยากำจัดวัชพืช ควรกำจัดวัชพืชบริเวณรอบทรงพุ่ม และไม่ควรมีไม้ใหญ่บดบัง เพื่อให้ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน

การปลูกอินทผลัม ทั่วไปนิยมให้ปุ๋ยทางดินโดยใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ทุกครั้ง และให้อาหารเสริมทางใบ หลักสำคัญคือ องค์ประกอบและปัจจัยถูกต้องเหมาะสม เช่น การให้ปุ๋ยและน้ำ การผสมเกสร แสงแดด อุณหภูมิ เป็นต้น

โดยทั่วไป ต้นอินทผลัมมักเกิดโรคเชื้อรา ใบจุดสีน้ำตาล อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาวหรือสภาพอากาศแปรปรวน น้ำค้างแรงกลางคืน ตกกลางวันร้อนอบอ้าว โรคจะระบาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การดูแลควรใช้ยาป้องกันโรคเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ แค็ปแทน ฉีดพ่นทั่วทรงพุ่ม ห่างกันทุกๆ 7-10 วัน ต่อครั้ง จนกว่าอาการระบาดจะลดลง

หลายคนห่วงกังวลว่า พื้นที่ภาคกลาง เสี่ยงกับปัญหาน้ำท่วม จะเหมาะกับการปลูกอินทผลัมหรือ?? คุณชัยอารีย์บอกว่า ไม่น่าห่วง ในกรณีน้ำท่วมทั่วๆ ไป คือท่วมสูงไม่ถึงบริเวณเรือนยอด (ตายอด) ต้นอินทผลัมสามารถทนน้ำท่วมได้เหมือนต้นไม้อื่นๆ แต่ถ้าท่วมเรือนยอดหรือระดับตายอด จะไม่สามารถทนทานอยู่ได้เป็นเวลานานๆ ต้นอินทผลัมจะค่อยๆ เน่าตายในที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดหรืออายุต้นด้วย

เรื่อง อินทผลัม…เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด

คุณชัยอารีย์ บอกว่า อินทผลัม มีเรื่องให้ศึกษาเรียนรู้ไม่สิ้นสุด จนกลายเป็นสโลแกนที่พูดติดปากเสมอ ก็คือ  “อินทผลัมเมืองไทย อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ” ยกตัวอย่าง เช่น กรณีคุณชัยอารีย์ ซื้ออินทผลัมผลสดพันธุ์เคแอล-1 จากสยามพารากอน และนำเมล็ดพันธุ์เคแอล-1 มาเพาะขยายพันธุ์ ปรากฏว่า ได้อินทผลัมผลสีแดง ซึ่งโดยปกติ อินทผลัมพันธุ์เคแอล-1 จะให้ผลสดสีเหลืองเป็นหลัก

คุณชัยอารีย์ บอกว่า 1 ใน 100 ต้น เมื่อนำเมล็ดไปเพาะ อาจได้อินผลัมผลสีม่วง ส้ม หรือแดงเข้ม ก็เป็นไปได้ ต้นพันธุ์เพาะเมล็ดมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ ได้ทั้งเหมือนต้นแม่พันธุ์ และพ่อพันธุ์ หรือไม่เหมือนเลย (กลายพันธุ์) เปอร์เซ็นต์สัดส่วนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสารพันธุกรรม (DNA) ยีนส์เด่นหรือด้อยทั้งสิ้น ต้นลูกที่ได้อาจเหมือนต้นแม่ ต้นพ่อ และเกิดสายพันธุ์ลูกผสมขึ้นใหม่…(ในทางวิชาการลูกที่ได้จากการเพาะเมล็ดถือว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่โดยสิ้นเชิง) คุณชัยอารีย์ ได้ศึกษาทดลองเพาะเมล็ดอินทผลัมกว่า 30 สายพันธุ์ พบว่า กว่าร้อยละ 50 จะได้ลูกที่มีลักษณะเหมือนต้นแม่หรือต้นพ่อ ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 50% จะได้อินทผลัมพันธุ์ลูกผสม

สำหรับคุณภาพรสชาติของผลอินทผลัม มีองค์ประกอบหรือปัจจัยหลักๆ เช่น

  1. แม่พันธุ์ดีตรงตามพันธุ์
  2. พ่อพันธุ์ (ควรใช้พ่อพันธุ์คุณภาพ ในที่นี้คือ เรื่องสารแทนนินที่จะมีบทบาทสำคัญของค่าความฝาด เพราะอินทผลัมรสชาติดี คุณภาพดี ฝาดน้อยหรือไม่ฝาดเลย เป็นประการสำคัญ)
  3. การบำรุงดูแล การใช้ปุ๋ย/ให้น้ำ อย่างถูกต้องเหมาะสม
  4. ปัจจัยภายนอก เช่น แสงแดด อุณภูมิ รวมทั้งฝน และอื่นๆ

อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่คุณชัยอารีย์เล่าให้ฟังคือ ก่อนหน้าเขานำเข้าต้นพันธุ์ เมดจูล (Medjoul gold) เพาะเนื้อเยื่อ อายุ 3-4 ปี นำเข้าจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE.) ติดผลผลิตครั้งแรก เหมือนต้นเนื้อเยื่อ ต้นอื่นๆ ในชุดเดียวกัน แต่แปลกประหลาดต้นนี้ แทงจั่นมาได้อย่างไร เพิ่งเคยพบในช่วงผลแก่ ช่วงสุดท้าย (เป็นเรื่องแปลกที่แทงจั่นนอกฤดูในฤดูฝน สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากภาวะฝนแล้งในระยะดังกล่าวก็เป็นไปได้) คุณชัยอารีย์ เก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นการบ้านที่ต้องเรียนรู้ศึกษากันต่อไป

ต้นอินทผลัมที่อายุไม่เกิน 3 ปี ติดผลดก

ข้อแนะนำ มือใหม่หัดปลูก

อินทผลัม มีหลากหลายสายพันธุ์แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้เป็น กลุ่มกินผลสดและกินผลแห้ง สำหรับกลุ่มผลแห้งอาจไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย ดังนั้น ควรมุ่งปลูกอินทผลัมกินผลสดเป็นหลักเพื่อสะดวกในการดูแลจัดการสวน ซึ่งอินทผลัมกินผลสดในปัจจุบันมีจำนวนหลากหลายสายพันธุ์ ได้แก่

พันธุ์คาลาส (Khalas) พันธุ์นาวาเดอร์ (Nawader) และ พันธุ์กาซาอิ๊ฟ อัล อัสฟูร์ (Khasaif Al asfoor) คุณสมบัติสำหรับพันธุ์กินผลสดและทำผลแห้งคุณภาพไม่แพ้กับต่างประเทศ…ผ่านการพิสูจน์และรับรองคุณภาพในเบื้องต้น อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

พันธุ์กาซาอิ๊ฟ อัล อัสฟูร์ (Khasaif Al asfoor) ผลสดแก่จัดๆ ฝาดน้อยหรือไม่ฝาดเลย รสชาติหวาน กรอบ มีลักษณะผล เนื้อละเอียด หวาน กรอบกำลังดี คล้ายพันธุ์อัจวาห์

ต้นอินทผลัมพันธุ์กาซาอิ๊ฟ อัล อัสฟูร์

พันธุ์คอนัยซี่ อินทผลัมสีแดง กินผลสด/แห้ง กินสดหวาน กรอบ ติดฝาดนิดหน่อย และปล่อยสุกห่ามๆ อร่อยยิ่งขึ้น และสามารถทำผลแห้งได้ด้วย

พันธุ์เดคเลต นัวร์ (Deglet nour) ผลสด หวาน กรอบใช้ได้

ซักห์ลูล (Zughloul) และ อัม เอ็ด ดาฮาน (Am ad dahan) สายพันธุ์กลุ่มกินผลสดทั้งคู่ คุณสมบัติและคุณลักษณะคล้ายกัน ผลใหญ่ เนื้อแน่น หวาน กรอบ ผลแก่จัดๆ รสชาติดีมาก ไม่ติดฝาด สีของผลสดแก่ต่างกันชัดเจน

อินทผลัมพันธุ์บาร์ฮี (barhi) ที่คนไทยรู้จักกันดี และนิยมปลูกกินผลสดในเมืองไทยนั้น สามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ถึง 3 กลุ่ม คือ พันธุ์บาร์ฮีดั้งเดิม (original barhi) บาร์ฮีใหญ่ (big barhi) และบาร์ฮีแดง (red barhi) ซึ่งบาร์ฮีแต่ละชนิดก็มีคุณลักษณะและคุณสมบัติ ความหลากหลายทางสีสันกันคนละแบบ ในกลุ่มสายพันธุ์บาร์ฮีด้วยกัน ยกตัวอย่าง เช่น บาร์ฮีพันธุ์แดง เนื้อแน่น ละเอียด และกรอบกว่า แต่ความหวานค่อนข้างจะหวานน้อยกว่าพันธุ์เหลือง

คุณชัยอารีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันพี่น้องเกษตรกรชาวมุสลิมในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ ต่างสนใจติดตามความเคลื่อนไหวอินทผลัมของไทยอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้บริโภคที่ชื่นชอบกินอินทผลัมผลสด ขณะเดียวกันพวกเขาก็สนใจสั่งซื้อพันธุ์อินทผลัมที่คนไทยปลูกขยายพันธุ์ได้เอง รวมทั้งสายพันธุ์อินทผลัมที่นำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย ดังนั้น ตลาดอินทผลัมจึงเปิดกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่พี่น้องเกษตรกรทั้งคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านสนใจ ให้ความสนใจปลูกอินทผลัม แต่นั่นยังไม่ใช่บทสรุปหรือแนวทางเป้าหมายที่ชัดเจน หัวใจหลักคือ เรื่องของชนิดสายพันธุ์ ที่ต้องรู้จักเรียนรู้และนำมาใช้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศบ้านเราเป็นสำคัญครับ” คุณชัยอารีย์ กล่าว

ผู้สนใจ สามารถติดต่อ “บ้านสวนอำพันธ์/ชมรมศูนย์ส่งเสริมปลูกอินทผลัม ภาคกลาง” ได้ทางเฟซบุ๊ก “Chaiaree Wonghan” และ “Ayutthaya date palm” หรือเบอร์โทร.และไอดีไลน์ (082) 198-2255