หลงลับแล ทุเรียน GI : การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเพื่อการส่งออก โดย มหาวิทยาลัยนเรศวร และสภาวิจัยแห่งชาติ

ทุเรียนหลงลับแล จากอดีตราคากิโลกรัมละไม่เกิน 100 บาท หลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ราคาทุเรียนหลงลับแลขยับขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 450-500 บาท น้ำหนักผล ผลละ 1-2 กิโลกรัม ถ้าผลน้ำหนัก 2 กิโลกรัม ก็จะขายได้ราคา ผลละ 1,000 บาท แต่ผลผลิตก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเกษตรกรให้เตรียมความพร้อมผลิตทุเรียนคุณภาพ เพื่อการส่งออกด้วยเทคโนโลยีการปฏิบัติดูแลตามมาตรฐานการส่งออก  

ประวัติ และความเป็นมา

ทุเรียนหลงลับแล ต้นเดิมขึ้นอยู่บนม่อนน้ำจำ บ้านผามูบ ตำบลแม่พูล เมื่อปี พ.ศ. 2479 นายมี หอมตัน ได้นำเมล็ดทุเรียนที่ผลร่วงหล่นภายในสวนของเพื่อนบ้านไปปลูก ต่อมาสวนได้ถูกเปลี่ยนมือเป็นของ นายสม อุปละ สามีของ นางหลง อุปละ ซึ่งสวนนี้มีต้นทุเรียนอยู่สิบกว่าต้น แต่มี 1 ต้น ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทุเรียนพื้นบ้านโดยทั่วไป ที่มีรสชาติดี เมล็ดลีบ

แปลงปลูกทุเรียนหลงลับแล

ปี พ.ศ. 2520 มีการประกวดทุเรียนที่ปลูกจากเมล็ดที่อำเภอลับแล ทุเรียนในนามของ นางหลง อุปละ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2521 คณะกรรมการรับรองพันธุ์ ตั้งชื่อ “หลงลับแล” เพื่อเป็นเกียรติแก่ นางหลง อุปละ หลังจากนั้น มีเกษตรกรนำยอดทุเรียนหลงลับแลไปขยายพันธุ์โดยการเสียบยอดจนประสบผลสำเร็จ

ทางหน่วยงานจังหวัดได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียน GI เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 เพิ่งจะประกาศรับรอง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 แต่ให้มีผลมาตั้งแต่ วันที่ 13 มิถุนายน 2555 เป็นต้นมา ปัจจุบัน จึงถือได้ว่า ทุเรียนหลงลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) มีปลูกอยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอลับแล อำเภอเมือง และอำเภอท่าปลา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดของภาคเหนือ ที่อำเภอลับแล พื้นที่ปลูกทุเรียนหลงลับแล จำนวน 2,485 ไร่ ให้ผลผลิตเก็บผลได้ 1,750 ไร่ ผลผลิต 2,275 ตัน เฉลี่ย 850-900 กิโลกรัม ต่อไร่  

ลักษณะทางกายภาพของทุเรียนหลงลับแล

รูปทรง ทรงกลมหรือกลมรี ปลายผลนูน ฐานผลค่อนข้างกลม ก้านผลมีขนาดใหญ่ ผลค่อนข้างเล็ก น้ำหนักผล 1-2 กิโลกรัม

หลงลับแลต้นนี้ อายุ 7 ปี

เปลือก เปลือกบาง หนามผลเว้าปลายแหลม หนามปลายผลและรอบขั้วผลโค้งงอ มีสีเขียวอมเหลือง ร่องพูไม่ชัดเจน

เนื้อ เนื้อมาก สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งละเอียดเหนียว ไม่มีเส้นใย

รสชาติ หวาน มัน กลิ่นอ่อน

เมล็ด เมล็ดลีบเล็ก บางผลมีเมล็ดลีบทั้งผล

ความหวาน 28-31 องศาบริกซ์

การปลูก และการดูแลทุเรียนหลงลับแล

ตามที่ปรากฏในทะเบียนบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

การปลูก

– ขุดหลุม 60x60x60 เซนติเมตร (กว้างxยาวx ลึก) ระยะปลูก 6×6 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก

– พื้นที่ต้องเป็นดินระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุตามไหล่เขาและเป็นพื้นที่ลาดเอียง

– ฤดูปลูก ต้นฤดูฝน เว้นแต่มีน้ำปลูกได้ทุกฤดู

เจ้าของแปลงปลูกทุเรียน เบื้องหน้าคือ หลงลับแล

การดูแล

– อายุ 1-3 เดือน ใช้วัสดุบังแสง

– อายุ 1-5 ปี ตัดแต่งกิ่ง เพื่อควบคุมทรงต้น

– อายุ 5 ปีขึ้นไป เริ่มออกดอก ช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ระยะนี้ให้น้ำแต่น้อย แต่ต้องรักษาความชื้นในดิน

– ระยะดอกบาน ค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำและให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

– ระยะผลอ่อน ให้ตัดผลอ่อนที่มีมากเกินไป ควรเก็บไว้ 1-2 ผล ต่อกิ่ง หรือก้าน เพื่อรักษาขนาดและคุณภาพผลกับต้องให้น้ำสม่ำเสมอจนถึงเก็บผลผลิต

การเก็บเกี่ยว

– ระยะเวลา 100-110 วัน นับแต่หลังจากดอกบาน หรือสังเกตผลดูลักษณะปากปลิง หนาม ร่องพู

– เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี

ทุเรียนหลินลับแล ออกผลผลิตปีแรก

การดูแลหลังการเก็บผลผลิต

– ตัดแต่งกิ่งที่แห้งตายภายในทรงพุ่ม กิ่งที่เป็นโรค กิ่งแขนง

– ใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้น

– กำจัดวัชพืช

ปัจจุบัน เมื่อทุเรียนหลงลับแลเป็นที่ต้องการของตลาด การที่จะผลิตหรือดูแลเช่นอดีตย่อมจะเกิดปัญหาในเรื่องคุณภาพ แล้วยิ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกด้วยแล้ว ต้องคำนึงถึงคุณภาพ จึงต้องนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องคุณภาพ

เมื่อ วันที่ 28-29 พฤษภาคม 2561 คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำวิจัยทุเรียนหลงลับแลเพื่อการส่งออก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้จัดอบรมการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลเพื่อการส่งออก ณ สำนักงานสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ผมเป็นผู้เข้ารับการอบรมคนหนึ่ง เห็นเป็นเรื่องดีๆ จึงนำเนื้อหาบางตอนเก็บมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ

ต้นแข็งแรง ผลผลิตดก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ฯ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดอบรมในครั้งนี้ว่า ปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนประสบปัญหาด้านคุณภาพของผลผลิตทุเรียนไม่ได้มาตรฐานตามความต้องการของบริษัทส่งออก และปัญหาสำคัญคือ เทคโนโลยีการผลิตก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวที่ไม่เหมาะสม การแพร่ระบาดของแมลง สภาวะของการให้ปุ๋ยในช่วงที่ไม่เหมาะสม และเกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงออกดอกและติดผล ทำให้ทุเรียนหลงลับแลมีคุณภาพต่ำ ปัญหาดังกล่าว แก้ได้ด้วยการจัดการความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลเพื่อการส่งออก โดยการถ่ายทอดความรู้จากการทำวิจัยและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการผลิตทุเรียนหลงลับแลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การดูแลรักษา การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว การตลาด และการส่งออก

คณะวิจัยได้สะสมความรู้จากการเข้าไปคลุกคลีกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนหลงลับแล ทำให้ได้รับรู้ปัญหาของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งสามารถแบ่งองค์ความรู้ได้เป็น 3 เรื่องหลัก ได้แก่

วางระบบน้ำด้วยสปริงเกลอร์ทุกต้น
  1. เทคโนโลยีการผลิตและการพัฒนาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวทุเรียนหลงลับแล เพื่อการพาณิชย์ของเกษตรกร
  2. การประเมินคุณภาพแบบไม่ทำลายผลิตผลทุเรียนหลงลับแลด้วยเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี
  3. การผสมพันธุ์ทุเรียนข้ามชนิดในระบบวนเกษตร

หากปัญหาของการผลิตทุเรียนหลงลับแลได้รับการแก้ไข จะเป็นการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทุเรียนหลงลับแล และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการค้า ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานทุเรียนหลงลับแลในการตรวจสอบคุณภาพเพื่อการส่งออกในอนาคต

ในการอบรมครั้งนี้ นอกจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท เป็นวิทยากรแล้ว ยังมีคณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาทิ ดร. สุขสวัสดิ์ พลพินิจ รองศาสตราจารย์ ดร. สมศิริ แสงโชติ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สายชล เกตุษา ราชบัณฑิต มาให้ความรู้แก่เกษตรกรอีกด้วย

“หลงลับแล” ทุเรียนคุณถาพ

การนำเสนอแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาคุณภาพทุเรียนหลงลับแล เพื่อการส่งออก เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการผลิต เริ่มตั้งแต่หลักการผลิตทางการเกษตรตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP (Good Agricultural Practice) ด้วยการปฏิบัติการเตรียมสภาพต้นทุเรียนหลงลับแลให้พร้อม โดยทำให้ต้นมีความสมบูรณ์ มีการสะสมอาหารอย่างเพียงพอและมีใบยอดแก่พอดีกับช่วงที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม โดยการตัดแต่งกิ่ง และใส่ปุ๋ยบริเวณใต้ทรงพุ่มโดยรอบ ใส่ในปริมาณและเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ให้หว่านปุ๋ยคอกก่อนแล้วตามด้วยปุ๋ยเคมี การให้ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมก็จำเป็นให้รักษาใบอ่อนที่แตกออกมาให้สมบูรณ์และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ (ดูความชื้นอย่าให้หน้าดินแห้ง) ช่วงเจริญทางใบและงดน้ำช่วงปลายฝนเพื่อเตรียมการออกดอก และเตรียมการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าก่อนถึงช่วงฤดูฝนตกชุก

วิธีการดูแลต้นทุเรียนหลงลับแลในช่วงออกดอก

เมื่อทุเรียนเริ่มออกดอก ให้ควบคุมปริมาณการให้น้ำ โดยค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ดอกทุเรียนหลงลับแลมีพัฒนาการที่ดี จนเมื่อดอกทุเรียนหลงลับแลพัฒนาถึงระยะหัวกำไล (ก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์) ให้ลดปริมาณน้ำ โดยให้น้ำเพียง 1 ใน 3 ของปกติ และต้องให้น้ำในปริมาณนี้ไปจนดอกบานและติดผลได้ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อยๆ และต้องให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ ตลอดช่วงพัฒนาการของผล มีการจัดการตัดแต่งดอกให้เหลือดอกรุ่นเดียว และให้กระจายอยู่ทั่วต้นในตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติการป้องกันกำจัดโรคและแมลงพร้อมกันไปด้วยเลย ที่สำคัญเกษตรกรต้องดำเนินการจดบันทึกวันดอกบานไว้ด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับการนับอายุวันที่ทุเรียนหลงลับแลแก่จัดพร้อมตัด

เมื่อติดผลแล้วก็ต้องดูแลให้การติดผลมีคุณภาพ ด้วยการตัดแต่งควบคุมปริมาณผล การใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยคอก ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม กำจัดวัชพืช การควบคุมไม่ให้ทุเรียนหลงลับแลแตกใบอ่อน การให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอตลอดช่วงที่กำลังติดผล และมีการพัฒนาการของผล แต่ก่อนการเก็บเกี่ยวควรลดปริมาณน้ำเพื่อให้เนื้อทุเรียนหลงลับแลมีคุณภาพ ป้องกันกำจัดโรคและแมลง ในระหว่างการพัฒนาของผล อาจพบว่าทุเรียนหลงลับแลมีปัญหาโรคและแมลงก็ต้องปฏิบัติการป้องกันและกำจัดให้เป็นไปตามหลักการการผลิตทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP ซึ่งโรคที่มักพบการระบาดในสวนทุเรียนหลงลับแล ได้แก่ โรครากเน่า โคนเน่า โรคใบร่วงใบติด ใบไหม้ โรคแอนแทรกโนส โรคราสีชมพู โรคราแป้ง ควรใช้วีธีการป้องกันก่อน หากเกษตรกรมีการจดบันทึกข้อมูลจากปีก่อนๆ ว่าโรคต่างๆ มักจะมีการระบาดหรือไม่ในช่วงเวลาใด หากมีก็ต้องควบคุมให้ได้ หากจำต้องใช้สารเคมีก็ต้องเคร่งครัดในการใช้ตามคำแนะนำ และไม่ควรใช้สารเคมีเดิมๆ ตลอด ควรใช้สลับกัน

ส่วนแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของทุเรียนหลงลับแลก็ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะผลทุเรียน หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ก็เช่นกันหากมีการบันทึกข้อมูลหรือประวัติจากปีก่อน ว่าพบการระบาดหรือไม่ ช่วงเวลาใด ก็ใช้การป้องกันก่อน อาจใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกัน หากเอาไม่อยู่ อาจต้องใช้สารเคมีกำจัดก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังในปริมาณที่แนะนำอย่างเคร่งครัดหรือใช้วิธีผสมผสานกันก็ได้

นำเสนอองค์ความรู้การจัดการทุเรียนเพื่อการส่งออก

วิธีการเก็บเกี่ยวให้ได้คุณภาพดี

เนื่องจากต้นทุเรียนหลงลับแลมักจะปลูกกันในพื้นที่ลาดเชิงเขา ต้นจึงสูง การเก็บผลจึงค่อนข้างยากลำบาก แต่เพื่อให้ได้คุณภาพของผลผลิต เกษตรกรจึงต้องใช้วิธีการปีนต้นขึ้นไปตัดผลที่เหนือปลิงของก้านผล ด้วยมีดคมและสะอาด ส่งลงมาให้คนที่รอรับข้างล่างไม่ให้ตกพื้น หรือใช้เชือกโรย หรือใช้กระสอบป่านตวัดรับผล จะต้องไม่วางผลทุเรียนหลงลับแลไว้กับพื้นดิน ก็เพื่อป้องกันการติดเชื้อราไปกับผลทุเรียนหลงลับแล แล้วทำความสะอาด คัดคุณภาพ คัดขนาด ก่อนนำออกขาย

ที่นี่ก็มีการกล่าวถึง ดัชนีการเก็บเกี่ยว เมื่อผลทุเรียนหลงลับแลแก่จัด โดยการ…

– นับอายุตั้งแต่ดอกบานจนถึงผลแก่ ทุเรียนหลงลับแลจะมีอายุ 100-110 วัน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผล ตำแหน่งบนต้น วิธีการตัดแต่ง อากาศ การดูแล ธาตุอาหาร ดิน ความชื้น เป็นตัวแปรของการนับวันบวกหรือลบจากตัวเลขที่กล่าว

ทุเรียนรุ่นหนุ่มสาว หากดูแลดีอนาคตไกล

– ดูที่ปากปลิง…พองโต เห็นรอยเด่นชัด

– ดูหนาม…จะออกสีน้ำตาลเข้ม

– บีบปลายหนามเข้าหากัน จะเหมือนมีสปริง

– ดูที่ก้านผล…จะแข็งเป็นสปริง

– ดูสีของผล มองจากด้านบน จะเห็นหนามสีคล้ำ แต่ผลจะมีสีนวลตัดกัน เห็นชัด

– ดูร่องพู…จะเป็นสีน้ำตาลปนเหลืองเด่นชัด

– เคาะเปลือก…จะได้ยินเสียงโพรกดังหลวมๆ ไม่ทึบ

– ชิมปลิง…ตัดขั้วจะเห็นน้ำใสๆ ซึมออกมา ชิมดูจะมีรสหวาน

– ดมกลิ่ม…จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกมาจากผล

แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจะต้องตัดทุเรียนหลงลับแลผลที่แก่จัดเท่านั้น ไม่มีผลอ่อน และต้องไม่บ่มด้วยเอทีฟอน

เมื่อเก็บเกี่ยวผลทุเรียนหลงลับแลแล้ว ก็มีประเด็นที่น่าสนใจคือ สรีรวิทยาของผลทุเรียนหลงลับแล จะมีการเปลี่ยนแปลงหลังการเก็บเกี่ยว ได้แก่ การหายใจ การสร้างเอทิลีน คาร์โบไฮเดรต การอ่อนนุ่มของเนื้อ สีและกลิ่น  ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวก่อนออกสู่ตลาด สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลังการเก็บเกี่ยว…การหายใจของผลทุเรียน จะมีอัตราสูงมาก สูงกว่ามะม่วงหรือกล้วยทำให้สุกเร็ว จึงวางขายอยู่ในตลาดไม่ได้นาน เพราะมีการสร้างเอทิลีน ซึ่งเปลือกทุเรียนเป็นตัวสร้างเอทิลีนมากกว่าเนื้อ จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีในการทำให้ผลทุเรียนสุกช้าลง

ผลทุเรียนที่อยู่บนต้นจะสะสมคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งไว้ในปริมาณมาก แต่เมื่อสุกก็จะแปลงเป็นน้ำตาล จึงทำให้เนื้อทุเรียนอ่อนนุ่ม ซึ่งทุเรียนที่แก่จัดจะมีความหวานมากกว่าทุเรียนที่แก่ไม่จัดหรืออายุยังไม่ถึงกำหนดแป้งก็จะน้อย เมื่อสุกน้ำตาลก็จะน้อยไปด้วย ทุเรียนที่ตัดจากต้นจะต้องขนส่งจากสวนไปสู่ตลาด กว่าจะถึงมือผู้บริโภคต้องใช้เวลา โดยเฉพาะทุเรียนที่ส่งออกจะเกิดการคายน้ำที่ผิว ทำให้น้ำหนักของผลทุเรียนขาดหายไป โดยประมาณร้อยละ 20 ในเรื่องความสุกแก่ของทุเรียนมีการตรวจสอบได้ทั้งโดยภูมิปัญญาดังที่กล่าว

การจัดการสวนที่ดี

ปัจจุบัน ก็มีมาตรฐานสินค้าทุเรียนออกมาบังคับแล้ว ก็จะมีวิธีการตรวจสอบคุณภาพความสุกแก่ของเนื้อทุเรียน อาทิ การตรวจสอบน้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียน การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบความสุกของเนื้อทุเรียน โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรได้นำเทคนิคเนียร์อินฟราเรด มาใช้สำหรับการตรวจวัดคุณภาพผลิตผลแบบไม่ทำลายหรือสร้างความสูญเสียให้แก่ผลทุเรียน ทำให้เกิดความแม่นยำในการดูผลทุเรียนสุกแก่ ซึ่งเป็นวิธีการในการลดความเสียหายและเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมการผลิตทุเรียน เป็นการตรวจวัดที่รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย และไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

เทคนิค Near Infrared Spectroscopy (NIRS) เป็นวิธีการประเมินคุณภาพผลผลิตทุเรียนที่มีความแม่นยำสามารถประเมินคุณภาพภายในหลายอย่างในผลิตผลพร้อมกันได้ในการตรวจวัดเพียงครั้งเดียว และเป็นเครื่องแบบพกพา จึงมีความเหมาะสมในการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะสามารถทำนายคุณภาพแบบไม่ทำลายด้วยการวัดสเปกตรัมที่เปลือกผลทุเรียน

ในการผลิตทุเรียนหลงลับแลเพื่อการส่งออก ต้องใช้เวลาและระยะทางในการขนส่ง จึงจำเป็นต้องใช้การเคลือบผิวเพื่อลดการสูญเสียน้ำหนัก ชะลอการสุกและการแตกของผล ทั้งต้องมีการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุการวางขาย เพราะทุเรียนเป็นผลไม้เขตร้อน แต่ถ้าเจอกับสภาพอากาศหนาวจัดก็จะเกิดอาการสะท้านหนาวได้ง่าย ดังนั้น…การเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บ จึงควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 13-15 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน 7-15 วัน ก็จะแก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายผลทุเรียนในระยะทางไกลๆ ได้

หลงลับแล ผลผลิตปีแรก

ภาคบ่ายของ วันที่ 29 คณะผู้จัดได้นำไปศึกษาดูแปลงปลูกทุเรียนหลงลับแล ของ คุณลุงสิทธิเดช หล่อวัฒนา  ท่านอายุ 80 ปีแล้ว แต่สุขภาพแข็งแรงมากๆ คุณลุงสิทธิเดช เล่าให้ฟังว่า ตนเองมีความสงสัยว่าทุเรียนหลงลับแลมีราคาสูง ทำไม เกษตรกรจึงไม่ปลูกกัน ท่านเป็นนักอุตสาหกรรม ไม่เคยทำการเกษตรมาก่อน ไม่มีความรู้ด้านการเกษตรเลย อยากปลูก จึงลองผิดลองถูกมาก็หลายครั้ง เริ่มปลูกทุเรียนหลงลับแล เมื่อปี พ.ศ. 2552 เพื่อนๆ บอกว่า ปลูกไปทำไม 10 กว่าปี กว่าจะได้กิน แต่ไม่เชื่อ ลงมือปลูก เนื้อที่ 30 ไร่ จำนวน 500 ต้น (มีทุเรียนหลินลับแลร่วมแปลงปลูกด้วย) ลักษณะพื้นที่เป็นที่ลาดเนินเขาเตี้ยๆ สร้างระบบน้ำโดยมีถังขนาดใหญ่บนยอดเนินเขา วางระบบน้ำผ่านสปริงเกลอร์ทุกต้น อายุทุเรียนหลงลับแล 7 ปี เริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว

แนวความคิดของ คุณลุงสิทธิเดช ต้องการผลิตทุเรียนหลงลับแล เน้นคุณภาพ ท่านต้องการสร้างชื่อเสียงการผลิตทุเรียนหลงลับแลคุณภาพของจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อถึงเวลานั้นท่านจะเปิดสวนทุเรียนหลงลับแลให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ วางแผนไว้ว่า ถ้าผลผลิตทุเรียนหลงลับแล…ออกมาเป็นจำนวนมาก จะสร้างโรงเก็บผลทุเรียนมีห้องเย็นพร้อมและแปรรูปเนื้อทุเรียน

ผมได้นำเสนอบทความนี้มา ก็เพื่อจะส่งสารมายังท่านผู้อ่านว่า ทุเรียนหลงลับแล ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว จึงเป็นทุเรียนที่ผลิตจากเกษตรกรอำเภอลับแล อำเภอเมือง และอำเภอท่าปลาเท่านั้น จึงจะใช้ชื่อว่า ทุเรียนหลงลับแล จากจังหวัดอุตรดิตถ์ที่แท้จริง เมื่อทุเรียนหลงลับแล มีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การผลิตออกสู่ตลาดจึงต้องเน้นคุณภาพ ไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของทุเรียนหลงลับแลเสียหายโดยรวม  โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งใช้เวลาและการขนส่งไกลๆ ต้องดำเนินการให้ได้มาตรฐานการส่งออก ตั้งแต่ การปลูก การดูแลต้นทุเรียน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการออกดอกติดผล วิธีการเก็บเกี่ยว การดูแลหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต การนำเทคโนโลยีมาใช้กับการตรวจวัดคุณภาพผลทุเรียน

ท่านใดประสงค์จะได้รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. (055) 963-014 หรือ [email protected]