“ปทุมธานีโมเดล”ต้นแบบแก้ปัญหารุกคลองชลประทาน

ในรอบปีที่ผ่านมา ปัญหาการรุกล้ำที่สาธารณะกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง รวมถึงความพยายามดำเนินการจัดระเบียบของรัฐบาล ไม่ว่าจะบนทางเท้า ย่านการค้าจุดจอดรถโดยสารต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงและถูกต้องตามวัตถุประสงค์

เช่นเดียวกับ”คลองสาธารณะ”ของกรมชลประทานก็เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่ถูกรุกล้ำมานาน ทั้งการสร้างสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ และประสิทธิภาพในการระบายน้ำ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของการบริหารจัดการน้ำของไทย

โดยเฉพาะบริเวณ “คลอง 1” คลองชลประทานในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี 1 ใน 13 คลองระบายน้ำหลักของจังหวัดปทุมธานี ที่ถูกรุกล้ำอย่างหนักจากความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและการขยายตัวของชุมชน จึงเป็นที่มาของ “ปทุมธานีโมเดล” เพื่อจัดระเบียบตลอดแนวความยาว 20 กิโลเมตร ของคลองส่งน้ำแห่งนี้

1,600 รายบุกรุกคลองหนึ่ง

“พิสิษฐ์ พิบูลย์สิริ” ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในเแม่งานที่ดูแลโครงการปทุมธานีโมเดล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การรุกคลองสาธารณะของกรมชลประทานนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เดิมเป็นวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงเป็นเส้นทางการคมนาคมทางน้ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อความเจริญเข้ามา โดยเฉพาะในพื้นที่ปริมณฑลอย่าง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีตลาดขนาดใหญ่ สถาบันการศึกษา โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้การรุกล้ำลำคลองหนักหนายิ่งขึ้น

โดยบริเวณแนวคลอง 1 ซึ่งอยู่ติดกับตลาดไท มีผู้ใช้แรงงาน ผู้มีรายได้น้อยเข้ามาก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง จากผลสำรวจล่าสุดปี 2559 พบว่ามีผู้บุกรุกกว่า 16 ชุมชน จำนวนกว่า 1,433 ครัวเรือนส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำและสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดวัชพืช การขุดลอกแหล่งน้ำลำคลอง น้ำเสีย กระทั่งขยะมูลฝอยจากครัวเรือนที่มีผลต่อเครื่องสูบน้ำต่าง ๆ ผลเสียของการรุกล้ำลำคลองปรากฏชัดเจนในปี 2554 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล การระบายน้ำในพื้นที่ อำเภอคลองหลวงและธัญบุรีทำได้ลำบาก

“ตอนนี้รูปแบบการรุกล้ำเปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นการรุกล้ำจากที่ดินของตนเอง ก็มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเข้ามาในคลองชลประทาน หลายคนสร้างบ้านง่าย ๆ ด้วยไม้และสังกะสี เพียงแค่ 2-3 สัปดาห์ก็เสร็จเรียบร้อย บางรายถึงขั้นทำเป็นบ้านเช่า ให้แรงงานต่างด้าวมาเช่าบ้าน อีกส่วนคือผู้ที่มีที่ดินติดคลองที่มาปลูกสิ่งปลูกสร้างเพื่อทำเป็นร้านค้า หารายได้ หาประโยชน์จากทางน้ำสาธารณะ”

ตั้งเป้าย้ายได้ปลายปี′60

“พิสิษฐ์” กล่าวว่า ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดปทุมธานี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ จังหวัดปทุมธานี ของกรมชลประทาน สำนักงานเทศบาลเมืองท่าโขลง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ ฯลฯ ได้จัดโครงการ “ปทุมธานีโมเดล” ย้ายผู้รุกคลองทั้ง 16 ชุมชน ในเขตเทศบาลตำบลท่าโขลง และคลองหลวง ไปยังพื้นที่ใหม่

สำหรับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ จะจัดให้รวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อผ่อนจ่ายเงินเดือนละประมาณ 1,000 บาท สำหรับเป็นค่าเช่าที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ซึ่งเป็นอาคารชุดที่ พม.จะดำเนินการก่อสร้างบนพื้นที่ 33 ไร่ บริเวณคลองเชียงรากใหญ่ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้มาตรา 44 ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวตกเป็นที่ราชพัสดุแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2560 และเข้าอยู่ได้จริงประมาณปลายปี 2560

โดยรูปแบบตัวอาคารออกแบบโดยอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอาคารชุด 2-3 ชั้น ยกพื้นสูง มีห้องขนาด 30 ตารางเมตร และ 45 ตารางเมตร พร้อมทั้งมีการจัดสาธารณูปโภคเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตด้วย อาทิ ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ดูแลคนชรา ลานกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฟสแรกจะเริ่มย้ายประมาณ 400 หลังคาเรือนก่อน ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 1,400 ราย

นอกจากนี้ยังมีแนวทางอื่น ๆ เช่น การเข้าโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ การรวมกลุ่มสหกรณ์ไปซื้อหรือเช่าที่ดินใหม่ของตัวเอง อย่างเช่น ชุมชนแก้วนิมิต ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิม ได้จัดตั้งสหกรณ์บ้านมั่นคงไทยมุสลิมสามัคคี จำกัด เพื่อรวบรวมเงินจากสมาชิกประมาณ 169 ราย 10 ครัวเรือน ซื้อที่ดินจำนวน 5 ไร่ 42 ตารางวา บริเวณใกล้เคียงที่ใกล้กับศาสนสถาน โดยตั้งเป้าสร้างเป็นที่อยู่อาศัยรูปแบบบ้านแถว

ชูต้นแบบนำร่อง 13 คลอง

ทั้งนี้ โครงการปทุมธานีโมเดลจะดำเนินการในพื้นที่คลอง 1 ก่อน และจะขยายผลไปคลองต่าง ๆ ที่มีการรุกล้ำต่อไป ซึ่งจะทำให้คลองชลประทานมีภูมิทัศน์ที่ดูดี ลดปัญหาการระบายน้ำจากการกีดขวาง ปัญหามลพิษทางน้ำ ปัญหาขยะมูลฝอย และการทำกิจกรรมทางน้ำขุดลอกคลองต่าง ๆ

“ตอนนี้ราชการได้พยายามทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งคนที่เข้าโครงการเขาก็จะยังอาศัยอยู่จนกว่าที่พักโครงการใหม่จะสร้างเสร็จ แต่สำหรับคนที่ไม่เข้าโครงการนั้นก็ต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายจากการบุกรุกที่สาธารณะต่อไป ส่วนการดำเนินการรื้อถอนจะทำหลังจากที่ประชาชนย้ายไปแล้ว โดยจะให้ประชาชนเป็นคนรื้อเอง เพราะเขาเป็นคนสร้าง แต่ถ้าไม่พร้อมเราก็จะดำเนินการให้” ผอ.พิสิษฐ์กล่าว

สะดุดที่ดินเอกชน

“ศราวุธ วงศษ์ศุภลักษณ์” นิติกรโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ อธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้เข้าโครงการและต้องย้ายออกก่อนนั้น ได้มีข้อตกลงเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้กับผู้ที่บุกรุกได้เข้าไปอยู่อาศัยก่อนในลักษณะแคมป์ชั่วคราวบริเวณใกล้ๆกับพื้นที่ชุมชนใหม่ ขณะที่อาคารชุดแห่งใหม่นั้นถือเป็นโครงการเช่าระยะยาว ผู้เช่าไม่มีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดดังกล่าว โดยหากมีการเปลี่ยนผู้เช่าต้องแจ้งกับสหกรณ์ก่อนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ดิน 33 ไร่ จะใช้ ม.44 เปิดทางให้เรียบร้อยแล้ว แต่ขณะนี้ยังติดขัดกับที่ดินของเอกชนในบริเวณใกล้เคียงที่ปัจจุบันยังเป็นที่ว่าง เนื่องจากต้องใช้สะพานสาธารณประโยชน์เป็นทางเข้าโครงการร่วมกัน แต่ที่ดินตั้งแต่สะพานเข้ามาเป็นที่ดินของเอกชน ทางเอกชนจึงยื่นข้อเสนอว่า ขอทำถนนล้อมรอบที่ดินเพื่อความสะดวก แต่ต้องการสร้างเข้ามาในพื้นที่โครงการ ไม่ทำในที่ดินของเอกชนเอง แลกกับการปลูกต้นไม้ ปรับภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงาม ซึ่งตามกฎหมายแล้วไม่สามารถทำได้ เพราะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและหาทางเข้าด้านอื่น ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงกว่าเส้นทางเดิม

การจัดระเบียบรุกล้ำคลองชลประทานตามแนวทาง “ปทุมธานีโมเดล” จะเดินหน้าได้แค่ไหน ต้องจับตากันต่อไป