‘ไคลเมท เชนจ์’ 2018 ไทยพร้อมรับมือ น้ำมา อากาศเปลี่ยน?

จากกรณีเยาวชนและผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมหมูป่า อะคาเดมี จำนวน 13 คน ติดอยู่ในถ้ำเขาหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพราะส่วนหนึ่งเล็งเห็นว่า ป้ายหน้าถ้ำระบุว่า ห้ามเข้าถ้ำในระหว่างช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูน้ำป่าไหลหลาก แต่ผลปรากฏว่าเกิดน้ำไหลท่วมเข้ามาในถ้ำ จนหลายฝ่ายแสดงความเห็นร่วมกันว่า อาจต้องทำป้ายแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวเป็นระบบที่มีอักษรเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บวกลบสภาพอากาศอย่างน้อย 1 เดือน สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับที่ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานแถลงข่าว “รับมือน้ำขาด-น้ำท่วม-น้ำแล้ง” ภายใต้ยุทธศาสตร์การปฏิรูป การบริหารจัดการน้ำของประเทศ เมื่อวันอังคารที่ 3 กรกฎาคม 2561 ว่า ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า อนาคตสถานการณ์น้ำของไทยมีแนวโน้มผันผวนสูง เนื่องจากฤดูกาลไม่แน่นอน สาเหตุของการเกิดเหตุดังกล่าว ข้อหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อ วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Pro Green) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีอภิปราย เรื่อง “R&D, Technology and capacity building for climate change mitigation and adaptation” ณ ห้องอินฟินิตี้ รูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นพื้นที่ในการอภิปราย แลกเปลี่ยน ข้อมูลองค์ความรู้ทางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ประเด็นสังคมที่สำคัญของโลก ใน “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) โดย ผศ.ดร. ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้มีผลกระทบต่อทางด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเรื่องการท่องเที่ยวและด้านสุขภาพด้วย ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเข้าถึงฐานข้อมูลด้านนี้ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับที่ ดร.วิชสิณี วิบูลผลประเสริฐ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ทั่วโลกตื่นตัวกับประเด็นนี้ จนมีความสนใจในหลายประเด็น อาทิ เรื่องไฟฟ้าคาร์บอนต่ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

ด้าน นายอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ก่อตั้ง บริษัท รีคัลท์ โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ ได้ยกตัวอย่างการศึกษาข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า Big Data จากเครื่องมือ อย่าง ดาวเทียม ที่พยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีประโยชน์กับภาคเกษตรกรรมของไทยอย่างมาก ปัจจุบันตนและเพื่อนๆ ได้นำ Big Data และเทคโนโลยี เอไอ มาใช้ในภาคเกษตร โดยการวิเคราะห์เก็บข้อมูลของเกษตรกรทำให้เกษตรกรวางแผนการปลูกพืชได้อย่างแน่นอนตั้งแต่การลงเมล็ด รดน้ำ ใส่ปุ๋ย เก็บเกี่ยว ตลอดจนการประเมินสภาพภูมิอากาศ ผ่านภาพถ่ายดาวเทียมที่สามารถดูผ่านแอปพลิเคชั่นทางสมาร์ทโฟนได้  นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้ยังทำให้ธนาคารสามารถประเมินความเสี่ยงของเกษตรกรว่าสามารถสร้างผลผลิตจนมีรายได้มาชำระหนี้ได้หรือไม่ ธนาคารจึงเกิดความเชื่อมั่นและปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรมากู้เงิน โดยตอนนี้มีเกษตรกรไทยใช้แอปพลิเคชั่นของเขาเกือบ 1,000 ราย โดยเริ่มต้นเจาะกลุ่มผู้ใช้เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ในพื้นที่ จ.สระบุรี

ด้านทิศทางการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รศ.ดร. ชนาธิป ผาริโน ผอ.ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกว. ได้สนับสนุนการวิจัยในประเด็นนี้มากกว่า 15 ปี โดยงานวิจัยในอนาคตที่ไทยควรมุ่งเน้นหลังจากนี้ 4 ประเด็น คือ 1. การจัดตั้งศูนย์วิจัยใน 3 ด้าน  คือ 1) ศูนย์บรรยากาศศาสตร์ 2) ศูนย์แบบจำลองภูมิอากาศ 3) ศูนย์พยากรณ์ภูมิอากาศรายฤดู 2. การสร้างเครื่องมือและองค์ความรู้ ที่ทำให้ภาคเกษตรและภาคอื่นๆ เข้าถึงข้อมูลด้านผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. ให้ชุมชนมีองค์ความรู้ เกี่ยวกับความเสี่ยงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4. การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างการพัฒนา ระบบตรวจสอบ รายงาน วัดผล ในประเทศไทย นอกจากนี้ ทิศทางการสนับสนุนทุนด้านนี้เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ของโลก เราสนใจเรื่องของกลไกการเงินเพื่อโลกร้อน (Climate Finance) การส่งเสริมเยาวชนให้เป็นพลังคนรุ่นใหม่ให้มีบทบาทในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมของโลก และท้ายที่สุดมากกว่าการสร้างนักวิจัยและผลงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หน่วยงานวิจัยควรมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันทั้งภาคีในประเทศและต่างประเทศผ่านการสร้างความร่วมมือ อย่างการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางและมีผลกระทบมากขึ้น