เผยแพร่ |
---|
มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบการค้าโลก ได้สร้างความกังวลให้นักธุรกิจที่ต้องตระหนักถึงความร่วมมือเพื่อความอยู่รอดมากขึ้น แม้กระทั่ง “ภาคเกษตร” ที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศอาเซียน
ล่าสุดทางสถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำประเทศไทย ได้จัดงาน “Kick off ASEAN : สินค้าเกษตร” เชิญชวนนักลงทุนไทยไปลงทุนด้านการเกษตรที่ประเทศเวียดนาม เพื่อร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าเกษตร โดยมีคณะผู้แทนจากเวียดนามกล่าวถึงโอกาสการค้าการลงทุน พร้อมเชิญชวนเข้าร่วม “HORTEX Vietnam 2019” งานประชุมและนิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับนานาชาติ ด้านพืชสวน ผัก ผลไม้ และดอกไม้ ครั้งที่ 2 ในระหว่าง วันที่ 13-15 มีนาคม ปี 2019
นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล เอ็กซิบิชั่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซอร์วิส กล่าวว่า พืืชสวน ผักผลไม้ และดอกไม้ ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักธุรกิจไทยเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามจาก 439 ล้านดอลลาร์ ในปี 2009 เพิ่มเป็น 3.5 พันล้านดอลลาร์ ในปีก่อน และครึ่งปีแรกของปีนี้ส่งออกได้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์ เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 19.70%
ขณะที่ นายดิน หว่าน เอือง ประธานสมาคมพืชผักและผลไม้ (VINAFRUIT) กล่าวว่า “หากนักธุรกิจต้องการไปเร็วให้ไปคนเดียว แต่ถ้าอยากไปได้ไกลต้องเดินไปด้วยกัน”
โดยยึดมั่นว่า ทั้งไทยและเวียดนามจะร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้าเกษตร รัฐบาลเวียดนามออกกฎระเบียบเพื่อสร้างบรรยากาศในการลงทุน และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้เต็มที่ เช่น การยกเว้นภาษีค่าเช่าที่ดินสำหรับการเกษตรนาน 15 ปี และปีที่ 16 เป็นต้นไป ลดภาษี 50%
สำหรับการทำเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเวียดนามยกย่องให้ไทยเป็น อันดับ 1 ในการทำเกษตรในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญในการจัดการกับความเสี่ยง ทั้งด้านการแปรรูปและแพ็กเกจกิ้ง ขณะที่รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการทำ “สมาร์ทฟาร์ม” หรือการเกษตรแบบก้าวหน้า เน้นการทำน้อย แต่ให้ผลผลิตที่มากขึ้น ต่างจากการเกษตรแบบเดิมที่ผลผลิตต้องพึ่งพาสภาพอากาศเป็นหลัก
“แม้ว่าปัจจุบันจีนคือกลุ่มนักลงทุน อันดับ 1 ของเวียดนาม และญี่ปุ่น อันดับ 2 ในด้านเกษตร แต่ว่าส่วนใหญ่จะถนัดการทำเกษตรแบบพืชเมืองหนาว ซึ่งจะเห็นว่าบางพื้นที่เขตหนาวของเวียดนาม เช่น ทางตอนเหนือที่มีการปลูกเมล็ดกาแฟจะเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยหลายปีมานี้คุณภาพและปริมาณการส่งออกเมล็ดกาแฟของเวียดนามแซงหน้าเมล็ดกาแฟของบราซิลไปแล้ว”
ประธาน VINAFRUIT ระบุว่า ปัจจุบันเป็นการค้าที่ต้องพึ่งพากันและกันสูง การเจรจาการค้าแบบรายประเทศอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดอีกต่อไป หากไทยและเวียดนาม สามารถร่วมกันสร้างแบรนด์ในนาม “อาเซียนแบรนด์” ทั้งยังหมายถึงความสามารถในการขยายตลาดในภูมิภาคอื่นเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน
ขณะที่ศักยภาพของพื้นที่เชื่อมต่อเวียดนามและไทย เช่น เส้นทาง R9 ที่เชื่อมโยง 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม กับเส้นทาง R12 ที่เชื่อมไปจนถึงจีนตอนใต้ สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางเหล่านี้ได้ เช่น ไทยส่งออกสินค้าเกษตรเข้ามาในเวียดนาม หรือการใช้เวียดนามเป็นฐานในการเพาะปลูก เพื่อส่งออกต่อไปยังจีน รวมถึงประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และตะวันออกกลาง เป็นต้น
ส่วน นางจาง ไท ทัน ทูตการค้า สถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประชากรเวียดนามมีมากถึง 95 ล้านคน ทำอาชีพเกษตรกรรมถึง 70% ขณะที่ในไทยมีเพียง 25-30% เท่านั้น ด้วยจำนวนประชาชนวัยพร้อมทำงานที่มากกว่าไทย, ค่าจ้างแรงงานถูก (ระดับปริญญาตรี เงินเดือนราว 7,000 บาท), บุคลากรมีคุณภาพ และมีพื้นที่ว่างเพื่อรองรับการเพาะปลูก ทั้งยังมีสภาพดินและอากาศที่หลากหลาย จึงเป็นโอกาสของไทย และภาคเกษตรเวียดนามที่ได้รับการพัฒนาได้ไกลกว่านี้
ทูตการค้าฯ เวียดนาม กล่าวว่า การเกษตรคือกระดูกสันหลังสำหรับไทยและเวียดนาม โดยเฉพาะ “ข้าว” ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีบทบาทมากในเวทีการค้าโลก หากทั้งสองประเทศร่วมกันพัฒนาข้าวเพื่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ และมีคุณภาพที่ดีขึ้น มากกว่าการมองว่าต่างเป็น “คู่แข่ง” และช่วยกันผลักดันให้เกิดแบรนด์ของอาเซียน และเชื่อว่าจะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียน ที่รวมถึงไทยและเวียดนามสามารถก้าวขึ้นเป็นภูมิภาคทรงอำนาจที่ก้าวได้ไกลกว่านี้
ที่มา : ประชาชาตฺิธุรกิจออนไลน์