‘ปศุสัตว์’ เร่งสร้างฟาร์มปลอดโรคบรูเซลลาในแพะ หวังกำจัดโรคให้หมดจากไทยโดยเร็ว

นายวิริยะ แก้วทอง ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกรณีกระแสข่าวที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยโรคบรูเซลลามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2557 โดยในปี 2561 ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.-17 ก.ค. 2561 พบรายงานการเกิดโรคในคน จำนวน 12 ครั้ง และมีผู้ป่วย จำนวน 12 ราย ในจังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ สระบุรี อุทัยธานี สกลนคร และราชบุรี โดยไม่พบผู้เสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หรือทำงานในฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์ ทั้งนี้ จากผลการสอบสวนโรค ในปี 2560-2561 พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วย ดื่มนมดิบ นำรกแพะที่ออกลูกตายไปรับประทานเป็นอาหาร มีประวัติทำคลอดสัตว์ รีดนม ฝังซากโดยไม่ป้องกันตนเอง และไม่ได้ใส่ชุดหรืออุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องสัมผัสสัตว์นั้น ในข้อเท็จจริง โรคบรูเซลลาเกิดจากเชื้อ Brucella spp. ก่อโรคในสัตว์ ได้แก่ โค กระบือ แพะ แกะ สุกร และเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน โดยสัตว์จะแสดงอาการแท้งระยะท้าย ข้ออักเสบ

โดยชนิดเชื้อที่มักก่อให้เกิดปัญหาในคน คือ Brucella melitensis ซึ่งติดต่อได้จาก แพะ แกะ โดยส่วนใหญ่แพะ แกะ จะแสดงอาการแท้งระยะท้ายเพียง 1-2 ครั้ง หลังจากนั้นอาจไม่พบแสดงอาการดังกล่าวของโรคอีก แต่สามารถทำให้ผู้ที่สัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรคหรือดื่มนมโดยที่ไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน (pasteurization) ติดเชื้อดังกล่าวและแสดงอาการป่วยได้ ดังนั้น สัตว์ต้องได้รับการทดสอบโรคและตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ จึงจะทราบสภาวะของโรคบรูเซลลา

กรณีที่จะนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงภายในฟาร์ม สัตว์ที่จะนำเข้ามาต้องผ่านการทดสอบโรคและมีผลเป็นลบ หรือนำสัตว์มาจากฟาร์มที่มีประวัติการทดสอบโรคเป็นลบ หรือเป็นฟาร์มที่ได้รับรองฟาร์มปลอดโรคจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งจะเป็นการป้องกันโรคดังกล่าว

นายวิริยะ กล่าวว่า เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อระหว่างสัตว์และคน กรมปศุสัตว์ มีโครงการรณรงค์ทดสอบโรคบรูเซลลาประจำปี ตั้งแต่ปี 2550 และในปี 2561 กรมปศุสัตว์ ได้มีโครงการเร่งรัดสร้างฟาร์มปลอดโรคบรูเซลลาในแพะ เพื่อเร่งกำจัดโรคบรูเซลลาให้หมดจากประเทศไทย ปัจจุบัน ฟาร์มปลอดโรคบรูเซลลาในแพะ แกะ ที่ได้รับรองจากกรมปศุสัตว์ จำนวน 333 ฟาร์ม โดยได้มีมาตรการควบคุมและกำจัดโรคบรูเซลลา เมื่อตรวจพบผลบวกทางห้องปฏิบัติการ สัตว์ที่ให้ผลเป็นบวกจะถูกทำลายโดยมีค่าชดเชย ส่วนสัตว์ร่วมฝูงจะถูกสั่งกักและทดสอบโรคทุกตัว ทุก 2 เดือน ติดต่อกัน 3 ครั้ง จากนั้นให้ทดสอบโรคอีก 6 เดือนถัดมา หากให้ผลลบถือว่าโรคสงบ ทั้งนี้ สัตว์ร่วมฝูงห้ามเคลื่อนย้าย ยกเว้นกรณีเคลื่อนย้ายเข้าโรงฆ่าเท่านั้น ส่วนกรณีพบผู้ป่วยด้วยโรคบรูเซลลา กรมปศุสัตว์ ในพื้นที่จะประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อร่วมกันสอบสวนโรคและหาสาเหตุการเกิดโรค พร้อมทั้งดำเนินการเก็บตัวอย่างซีรั่มสัตว์ที่สงสัยส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งให้ความรู้ ความเข้าใจ กับเกษตรกร ผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบถึงสถานการณ์โรคและวิธีการป้องกัน

ที่มา : มติชนออนไลน์