ชาวไร่มันวอนรัฐเร่งพยุงราคา ช่วยเหลือเหมือนข้าว หลังราคาตกต่ำเหลือเพียงก.ก.ละ1.5บาท

เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ เรียกร้องให้รัฐบาลหรือกระทรวงพาณิชย์เร่งพยุงราคามันให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.50 – 3.00 บาท พร้อมจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือไร่ละ 1 – 2 พันบาทเหมือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หลังนำผลผลิตไปขายตามลานได้เพียง ก.ก.ละ 1.5 บาทต่ำสุดในรอบสิบปี ชี้ไม่สามารถชะเก็บผลผลิตขายได้เพราะจำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน

(15 พ.ย.59) เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังหลายหมู่บ้าน ในพื้นที่ ต.หนองบัว อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ ต้องเร่งเก็บกู้หัวมันสำปะหลังไปขายให้กับลานมันในพื้นที่ แม้จะได้ราคาต่ำเพียงกิโลกรัมละ 70 สตางค์ ถึง 1 บาท 50 สตางค์ ต่ำกว่าราคารับซื้อที่ติดไว้หน้าลาน เนื่องจากผู้ประกอบการอ้างว่าเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งต่ำทั้งที่คุณภาพหัวมันก็ไม่ได้แตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบหลายปีไม่อยู่ที่จุดคุ้มทุน โดยเกษตรกรให้เหตุผลว่าที่ต้องเร่งเก็บกู้มันไปขายในช่วงนี้ เพราะจำเป็นต้องนำเงินไปชำระหนี้สินและใช้จ่ายในครอบครัว จึงไม่สามารถชะลอการเก็บเกี่ยวตามที่ภาครัฐแนะนำได้ จากกรณีดังกล่าวจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล หรือกระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งพยุงราคามันสำปะหลังไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 2 บาท 50 สตางค์ ถึง 3 บาท พร้อมจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือไร่ละ 1 – 2 พันบาท อย่างเช่นมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้อยู่รอดได้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอยู่กว่า 12,000 ราย พื้นที่เพาะปลูกกว่า 300,000 ไร่ ปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 1 ล้าน 2 แสนตัน อำเภอที่ปลูกมากที่สุด คือ อ.ปะคำ โนนสุวรรณ ละหานทราย และ อ.บ้านกรวด จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาราคามันที่กำลังตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ก่อนที่ผลผลิตมันจะออกสู่ตลาดมากภายใน 1 – 2 เดือนนี้

นายทองใส แหวนมุก รองประธานชมรมผู้ปลูกมันสำปะหลัง จ.บุรีรัมย์ ได้ร้องขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาราคามันที่ตกต่ำอย่างเร่งด่วนด้วย เพราะขณะนี้เกษตรกรนำหัวมันไปจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการลานมัน ได้เพียงกิโลกรัมละ 70 สตางค์ ถึง 1 บาท 50 สตางค์เท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรไม่สามารถอยู่ได้ เพราะไม่คุ้มกันต้นทุนการผลิต จึงขอให้รัฐบาลช่วยพยุงราคามันให้สูงขึ้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท 50 สตางค์ หรือ 3 บาท หรือช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันไร่ละ 1 – 2 พันบาท อย่างเช่นมาตรการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวนาปี เกษตรกรผู้ปลูกมันจึงจะอยู่รอดได้