ทุเรียนหลงลับแล รสชาติเยี่ยม ติดผลดก ทนทาน กิ่งก้านแข็งแรง

เมื่อก่อนชาวลับแล อุตรดิตถ์ ปลูกทุเรียนและลางสาด โดยเริ่มจากกินทุเรียนแล้วโยนออกนอกหน้าต่าง เมล็ดที่โยนไปจะงอกมีต้นใหม่ขึ้นมา ใกล้บ้านมีต้นไม้มากขึ้น นานเข้าต้องใช้คันสูน ลักษณะคล้ายหนังสติ๊ก ยิงเมล็ดผลไม้ออกไปให้ไกล จึงเกิดสวนขึ้นในบริเวณกว้าง

ทุกวันนี้ที่ทางมีขอบเขตจำกัด เขาแบ่งที่กันชัดเจน มีการปลูกพืชสมัยใหม่พันธุ์ไม้ได้จากการขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่งและติดตา เกษตรกรที่นั่นเริ่มมีผลไม้คุณภาพ อาทิ ลองกอง มังคุด ทุเรียนชะนี หมอนทอง รวมทั้งหลงลับแล

ทุเรียนหลงลับแลมีผลมาจากการปลูกทุเรียนโดยการใช้เมล็ดเมื่อครั้งที่ใช้เมล็ดโยนไปตามป่า ซึ่งทุเรียนจำนวนแสนต้นล้านต้นที่ปลูกไว้นั้นมีลักษณะทุเรียนที่ดีไม่กี่ต้น  คนท้องถิ่นเขาคัดเลือกต้นที่ดีเด่นอยู่นานปี สุดท้ายได้ต้นของนางหลงอุปละ เพียงต้นเดียว จึงตั้งชื่อว่า หลงลับแลŽ

ทุเรียนหลงลับแลเป็นทุเรียนที่กลายพันธุ์ในทางที่ดีคือ ติดผลดก เนื้อมากเมล็ดลีบ รสชาติหวานมัน หากราคาทุเรียนหมอนทองที่ปลูกในท้องถิ่นขายกิโลกรัมละ ๓๐ บาท  หลงลับแลต้องขาย ๔๐ บาทเป็นอย่างต่ำ  บางช่วงขายได้ราคามากกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะปีที่หลงลับแลติดผลผลิตน้อย

ปัจจุบันเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกออกไปมาก งานปลูกของเกษตรกรที่นั่นอิงแอบธรรมชาติ  ยามเดินทางเข้าไปลับแลมีความรู้สึกว่าชาวบ้านที่นั่นกลมกลืนกับป่ากันเป็นอย่างดี

พื้นราบ มีการนำหลงลับแลลงมาปลูกที่จันทบุรีได้ผลดี รสชาติเยี่ยมยอดเกษตรกรที่สุพรรณบุรีทดลองปลูกหมอนทองคู่กับหลงลับแล หมอนทองตาย แต่หลงลับแลอยู่ได้  ชาวบ้านที่ลับแลบอกว่า หลงลับแลเนื้อไม้ละเอียด มีเลือดไม้ป่ามาก ทนทาน กิ่งก้านแข็งแรง ต่างจากหมอนทองที่ต้นอ่อนแอ เนื้อไม้ไม่ละเอียด