โรดแมปบริหารน้ำ พัทลุง-สงขลา 700 ล.

บริหารน้ำ - กรมชลประทานเร่งจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำปีงบประมาณ 2563 จ.พัทลุง ตอนล่าง และสงขลา ตอนบน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และใช้ในภาคเกษตรได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าว และพืชผักผลไม้ได้เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้ง

กรมชลฯ เปิดโรดแมปแผนศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำ จ.พัทลุง ตอนล่าง-สงขลา ตอนบน เตรียมเสนอของบประมาณกว่า 700 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพอ่าง-คลองส่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ทำนาข้าว 10,000 ไร่ แถมเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งได้อีก 8,700 ไร่

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนงานบริหารจัดการน้ำจังหวัดพัทลุง ระยะแรก งบประมาณรวม 744.7 ล้านบาท แบ่งเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บน้ำคลองหัวช้าง อันเนื่องจากพระราชดำริ โดยสันฝายอาคารระบายน้ำที่สามารถเก็บกักเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำอีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 30.339 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 33.339 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักฝายท่าเชียดอีก 300,000 ลบ.ม. ผ่านการเสริมสันฝายเพื่อยกระดับน้ำสูงขึ้นอีก 1 เมตร

นอกจากนี้ มีโครงการต่อเนื่องในการปรับปรุงคลองส่งน้ำ จำนวน 8 สาย รวมความยาว 90.60 กิโลเมตร มีอาคารส่งน้ำ 564 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพัทลุง ตอนล่าง 5 อำเภอ จำนวน 8 ตำบล มี อ.เขาชัยสน บางแก้ว ตะโหมด ป่าบอน และปากพะยูน มีพื้นที่รับประโยชน์รวมทั้งหมด 108,513 ไร่ โดยแผนทั้งหมดเตรียมนำเสนอโดยใช้งบประมาณ ปี 2563 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงระบบส่งน้ำ โดยจะศึกษาให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2561 ใช้เวลาทำการศึกษารวม 450 วัน

ที่ผ่านมา จังหวัดพัทลุง เคยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในฤดูน้ำหลาก เนื่องจากคลองธรรมชาติที่มีอยู่มีความจุไม่พอกับปริมาณน้ำหลาก และยังมีปริมาณน้ำเพิ่มเติมมาจากทะเลสาบสงขลา ที่ถูกหนุนสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองส่งน้ำสายต่างๆ เช่น คลองท่ามะเดื่อ ปากเพนียด หมาขบค่าง และคลองปากพล มีความยาวคลองทั้ง 4 สาย รวม 30 กิโลเมตร

ส่วนที่ จ.สงขลา ตอนบน ซึ่งเป็นรอยต่อจังหวัดพัทลุง กรมชลประทาน ได้สร้างคันกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วม พร้อมกับจัดทำแก้มลิงเก็บกักน้ำ และปรับปรุงคลองส่งน้ำ ควบคุมน้ำ ซึ่งสามารถป้องกันความเสียหายให้เกษตรกร ตลอดจนรายจ่ายภาครัฐในการบรรเทาภัยพิบัติ รวมถึงเพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งได้อีก 8,700 ไร่ โดยโครงการดังกล่าวจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ แหล่งปลูกข้าวใหญ่ของภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ เช่น อ.ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง และขาดแคลนน้ำเป็นประจำ มีสาเหตุหลักจากการไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำและไม่สามารถใช้น้ำจากทะเลสาบสงขลาได้เมื่อมีน้ำเค็มรุกเข้ามา รวมถึงยังไม่มีระบบกระจายน้ำที่เหมาะสม

นายประดิษฐ์ ปิ่นกระจาย ผู้เชี่ยวชาญชลประทาน กรมชลประทาน กล่าวว่า เมื่อโครงการในพื้นที่พัทลุง ตอนล่าง-สงขลา ตอนบน ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถปลูกข้าวเพิ่มได้ประมาณ 10,000 ไร่ และพืชผักอีกหลายพันไร่ ตามข้อเสนอของบริษัทที่ปรึกษา เพราะเดิมนั้นเป็นพื้นที่ทำนา จากนั้นประชาชนในพื้นที่ได้เปลี่ยนไปปลูกยางพาราแทน แต่ไม่ขยายตัว เพราะไม่เหมาะสมกับพื้นที่ จึงมีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนกลับมาทำนาข้าว โดยเฉพาะข้าวพื้นเมืองสำคัญ 2 สายพันธุ์ ที่มีชื่อเสียงของ จ.พัทลุง ทั้งสายพันธุ์เล็บนก และสังข์หยด

ด้าน นายทักษิณ สุดจันทร์ นายกสมาคมโรงสีข้าว และกลุ่มชาวนาภาคใต้ กล่าวว่า ในระยะหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ การปลูกข้าวค่อนข้างมีรายได้ที่ดี เนื่องจากราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี และภาคใต้ยังปลูกข้าวได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ส่งผลให้โรงสีข้าวมีปริมาณข้าวเปลือกไม่เพียงพอต่อการสีเป็นข้าวสาร โดยปีที่ผ่านมาชาวนาสามารถขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น ประมาณ 1,000 บาท/ตัน โดยเฉพาะข้าวขาว ส่วนข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองมีราคาสูงกว่า เช่น ข้าวสังข์หยด ราคาอยู่ที่ราว 10,000 บาท/ตัน ส่วนสายพันธุ์เล็บนกอยู่ที่ 9,000-9,500 บาท/ตัน และบางปีสูงถึง 12,000 บาท/ตัน ทั้งนี้ หากสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้อีก 10,000 ไร่ จะมีรายได้รวมมูลค่ากว่า 78 ล้านบาท/ฤดูกาล

“ระบบน้ำถือว่ามีความสำคัญอันดับต้นๆ ต่อการทำนา กรมชลประทาน เห็นว่า หากมีการบริหารจัดการระบบน้ำได้ดีจะเป็นปัจจัยสำคัญสามารถเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ที่ปลูกพืชผักผลไม้จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดรายได้ที่ดี จะช่วยกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้”นายทักษิณ กล่าว