องคมนตรีเกษมแนะศูนย์ศึกษาการพัฒนาของในหลวง “ต้นแบบ” ทำวิจัยพัฒนาชนบทไทยที่ยั่งยืน นักวิจัยรุ่นใหม่ควรศึกษา

เมื่อวันที่ 11 – 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  ร่วมกับ มูลนิธิมั่นพัฒนา  และ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนา เชิงปฏิบัติการ TSDF – TRF Sustainability Forum ครั้งที่ 2 ปี 2559 ภายใต้หัวข้อ “พื้นที่ชนบทไทย : โอกาสและความท้าทายของนักวิจัยรุ่นใหม่” ณ โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ เทอร์มินอล 21 กรุงเทพฯ ภายในงานมีการเปิดวิดีทัศน์ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และที่ปรึกษามูลนิธิมั่นพัฒนา ที่บรรยายถึง บทบาทและความท้าทายของนักวิจัยต่อการพัฒนาชนบทไทยให้เกิดความยั่งยืน โดยมีรายละเอียดคือ

ประเด็นเรื่องการทำวิจัยในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชุมชนชนบท การวิจัยคือการหาคำตอบเพื่อการพัฒนา เพื่อการแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นผู้ที่ทำวิจัยในชุมชนอาจเป็นคนนอกที่เข้าไปทำวิจัยในชุมชนก็ได้ แต่ที่ดีไปกว่านั้นคือการไปทำให้คนในชุมชนเป็นนักวิจัยเอง เพราะการที่ชุมชนทำวิจัยเอง เขาจะสามารถรู้ปัญหาของเขาอย่างลึกซึ้ง “มีตัวอย่างของชาวนารายหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี ที่ทำนาแล้วมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  พระองค์ทรงมีรับสั่งว่า การทำนาต้องรู้จริง และทำจากเล็กไปใหญ่  คำว่ารู้จริงในการทำนาคือ ต้องรู้ว่าเตรียมดินอย่างไร ใช้ปุ๋ยอย่างไร เลือกพันธุ์อย่างไร ตลอดจนการเก็บเกี่ยวและเอาผลผลิตไปขาย ทุกขั้นตอน ต้องนำเอาความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาอยู่เสมอชาวนาผู้นี้จึงขวนขวายหาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญตลอด และถ้าผู้เชี่ยวชาญหาคำตอบไม่ได้  จะทำวิจัยเองในนาของตนเอง ความสามารถของชาวนาผู้นี้ในการทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการทำนาตามแนวพระราชดำริ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มาศึกษาดูงาน ตัวอย่างที่ 2 ของการทำวิจัยคือ หลักสูตร “พุทธเศรษฐศาสตร์” ที่ไร่เชิญตะวันของท่าน ว.วชิรเมธี ที่ ที่มีการอบรบมาแล้ว 3 – 4 รุ่น แต่ละรุ่นจะให้ชาวนากว่าร้อยคนเข้ามาเรียน 2 เรื่อง คือ การเกษตรและการปฏิบัติธรรมะ  โดยหลักในการทำการเกษตรต้องคำนึงถึง “การทำเกษตรให้ลงทุนน้อยลง ได้กำไรมากขึ้น ไม่อันตรายต่อสุขภาพและไม่สร้างสุขภาวะ” นอกจากนี้ชาวนาจะต้องเรียนวิชาหาความรู้ วิธีทำวิจัยในไร่ในนาของตน สำหรับเรื่องปฏิบัติธรรม ในหลักสูตรนี้ ได้สอนให้ชาวนาทำบัญชีครัวเรือน ทำรายรับรายจ่าย วิจัยการเงินของตนเอง โดยการลดละ “เหล้า บุหรี่ หวย” ปรากฎว่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนของ ชาวนาหลายรายสามารถใช้หนี้ได้หมดก่อนจบหลักสูตร 1 ปี  ดังนั้นการทำวิจัยในนาที่นี่ คืออีกตัวอย่างของการทำให้คนในชุมชนเรียนรู้วิธีวิจัย

สำหรับข้อเสียเปรียบที่คนนอกชุมชนเข้าไปทำวิจัย คือ นักวิชาการหรือนักวิจัยจะรู้ระเบียบวิธีจัย แต่ไม่รู้วิธีการทำมาหากิน วิถีชีวิตของเขา ความรู้สึกนึกคิด รวมทั้งทรัพยากรแต่ละท้องที่ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย ขณะนี้ประเทศของเราก้าวไปข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ชนบทบางชนบทมีลักษณะผสม ระหว่าง “ชนบท” และ “เมือง” สิ่งที่นักวิจัยต้องทำคือ รู้จักชุมชน อดทน เปิดใจกว้างรับรู้ว่าชาวไร่ ชาวนามีวิถีชีวิตที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ต้องนำเข้าไปอยู่ในโจทย์วิจัย การวิจัยคงไม่ใช่เรื่องของผลผลิตหรือการเกษตรอย่างเดียว ถ้ามีเวลาควรใช้ชีวิตในชุมชนที่ตัวเองลงไปทำวิจัย ไปพูดคุย ประชุมให้รู้ชัดว่าชาวบ้านในชุมชนคิดอะไรหรือมีปัญหาอย่างไร จึงจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้  นอกจากนี้ ไม่อยากให้ทำวิจัยโดยคิดว่าผลงานวิจัยเป็นของนักวิชาการ ไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะไม่ได้อะไร อันดับแรกขอให้ดึงผู้นำชุมชนมาเป็นผู้ร่วมทีมวิจัยเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ นอกจากนี้ควรมองหาคนในชุมชนที่มีหน่วยก้านเหมาะสมมาเป็นนักวิจัยด้วย ชุมชนนั้นจึงจะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพานักวิชาการ การทำวิจัยในชุมชนเป็นเรื่องใหญ่มาก หากจะพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  หรือการเข้าสู่ Thailand 4.0     ต้องยกความรู้ความสามารถกับชาวนาให้ได้ อย่างที่พระองค์ท่านรับสั่ง ให้ชาวนามีความรู้ ฝึกพวกเขา จากสิ่งๆเล็กไปสู่ฐานที่ใหญ่ขึ้น

ปัจจุบันมีตัวอย่างของการเกษตรที่เคลื่อนตัวโดยใช้ความรู้เป็นฐาน อย่างในประเทศไต้หวัน ที่มีการเกษตรอยู่ระหว่างตึกสูงในเมือง สหกรณ์การเกษตรของเขาต่างจากบ้านเรา เป็นการรวมตัวเพื่อ 1.สร้างความรู้และนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการเกษตร มีห้องอบรม บรรยาย ที่ทดลอง จนมีผลิตภัณฑ์เกษตรใหม่ๆมาในตลาดโลกตลอดเวลา 2.สหกรณ์การเกษตรของเขาจะตัดพ่อค้าคนกลางขายปุ๋ย ไปซื้อปุ๋ยจากโรงงานแทน  รวมถึงตัดพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อผลิตภัณฑ์ไปขาย เกษตรกรไปขายกับผู้บริโภคโดยตรง และ 3.มีการตั้งธนาคารชุมชน ให้ SME มากู้ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของเงินคือชาวไร่ชาวนา

 

การทำวิจัยในชุมชนเหมือนการทำวิจัยนอกมหาวิทยาลัย เป็นสหสาขาวิชาเพราะฉะนั้นความร่วมมือบูรณาการหลายสาขาวิชา ต้องทำร่วมกับสาขาอื่น ยกตัวอย่างชุมชนการเกษตรที่ทำไร่อ้อย ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญนักการจัดการ การตลาด การแปรรูป หลังจากตั้งหัวข้อวิจัย ควรเชิญนักวิจัยสาขาต่างๆมาร่วมในงานวิจัยแต่ถ้าหากต้องการพัฒนาชุมชนระยะยาว  ควรเป็นไปในลักษณะของหลายๆโครงการต่อเนื่องกัน  ควรมีการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานหรือวิจัยร่วมสำหรับชุมชนนั้นๆ มีกรอบเวลาในการทำงาน หรือสร้างหน่วยงานที่ทำเรื่องวิชาการ รวมทั้งเรื่องอื่น โดยตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นมาในชุมชน “ดังตัวอย่างของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี ฯลฯ  ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและบริหารจัดการ ที่ไม่ใช่การทำวิจัยขึ้นหิ้ง แต่อันนี้เป็นกลไกถาวรที่อยู่กับชาวบ้าน ที่ทำให้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลง  นับเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ยั่งยืน”  

นอกจากนี้คำถามสำคัญ นักวิจัยต้องถามตัวเองว่าเข้ามาทำงานวิจัยในพื้นที่นี้เพื่ออะไร ยกตัวอย่างเช่น เป็นอาจารย์ จุดประสงค์แรก อยากทำวิจัยเพื่อไปขอตำแหน่งทางวิชาการ นำเสนอตามที่ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ อันนี้เป็นเป้าหมายส่วนตัวที่ใช้ประโยชน์ได้เลย  อีกความคิดหนึ่งคือทำวิจัยโดยคิดว่าเป้าหมายคือการทำให้ประโยชน์ต่อชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านพัฒนาตนเอง จนไปสู่เป้าหมายที่ 3 คือ ชุมชนยกระดับเช่น จากการเกษตรพื้นฐานเป็นการเกษตรสมัยใหม่แล้วทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ส่วนตัวคิดว่าเป้าหมายทั้ง 3 ไม่ขัดกัน เพราะนักวิจัยจะได้ทั้งประโยชน์ส่วนตน ประโยชน์ชาวบ้าน และประโยชน์ชุมชน ถ้านักวิจัยรักษาสมดุลเป้าหมายทั้ง 3 ข้อนี้ได้  จะสนุกกับการทำวิจัยในพื้นที่มากขึ้น