เครื่องฝานกล้วยแนวยาว ผลงาน มทร. น่าน

เครื่องฝานกล้วยต้นแบบ

ผลิตภัณฑ์กล้วยอบหลายชนิด ถือเป็นของขบเคี้ยวที่ได้รับความนิยมบริโภคกันทั่วไป หลายจังหวัดได้รับการคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนการผลิตนั้นจำเป็นต้องผ่าหรือฝานผลกล้วยให้เป็นแผ่นบางๆ ก่อน ส่วนใหญ่จะต้องใช้แรงงานคน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะนำไปทอดหรือกรรมวิธีอื่น ดังนั้น เพื่อให้การทำงานได้ง่ายและรวดเร็ว ลดการใช้แรงงานคน ได้ผลผลิตเพียงพอกับความต้องการและมีคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พื้นที่น่าน จึงได้คิดประดิษฐ์เครื่องฝานกล้วยตามแนวยาวของผล โดย ดร.สิทธิบูรณ์ ศิริพรอัครชัย และคณะ

ดร.สิทธิบูรณ์ (เสื้อขาว) พร้อมทีมงาน

เครื่องฝานกล้วยตามแนวยาว เป็นเครื่องจักรกลกึ่งอัตโนมัติ สามารถฝานกล้วยที่ปอกเปลือกแล้วครั้งละประมาณ 4-5 ผล ผลกล้วยต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 3 เซนติเมตร ความยาวไม่เกิน 10 เซนติเมตร การทำงานโดยการวางผลกล้วยตามแนวนอนลงในช่องบรรจุด้านบนของเครื่อง จากนั้นจึงปล่อยกลไกที่ช่วยกดดันให้ผลกล้วยเข้าสู่ระบบการฝาน ซึ่งมีใบมีดติดตั้งอยู่กับจานหมุน เมื่อเดินเครื่องทำงานผลกล้วยที่ถูกฝานเป็นชิ้นๆ แล้วจะตกลงสู่ถาดรองรับเพื่อลำเลียงออกนอกเครื่อง จากนั้นจึงบรรจุผลกล้วยชุดใหม่เพื่อฝานต่ออีกจนหมด

แผ่นกล้วยที่ผ่านการฝานแล้ว

เครื่องฝานกล้วยแบบนี้ เป็นเครื่องต้นแบบ น้ำหนักเครื่อง 80 กิโลกรัม ฝานผลกล้วยได้อัตรา 26,000 ชิ้นต่อชั่วโมง หรือ 160 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง ได้แผ่นกล้วยหนา 1.3 มิลลิเมตร ยังสามารถปรับความหนาและบางของแผ่นกล้วยได้ด้วย ใช้กำลังไฟฟ้า 210 วัตต์ เครื่องฝานแบบนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการฝานกล้วยแนวตั้ง หรือใช้กับพืชผลอื่นๆ ได้ เช่น มันฝรั่ง มันเทศ มันสำปะหลัง ฟักทอง แตงกวา ขนุน มะม่วง ฝรั่ง ฯลฯ

เครื่องฝานผลกล้วยนี้ ได้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ร่วมกันในนามของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08-1716-9072 หรือ 08-4616-1338