ที่มา | เกษตรต่างแดน |
---|---|
ผู้เขียน | วิลาสินี แอล โฟลเดอนาวร์ |
เผยแพร่ |
ทั้งโลกกินกาแฟปีละ 31,500 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือราวหนึ่งล้านล้านบาท หรือราว 1 ใน 3 ของงบประมาณที่ไทยใช้ในการพัฒนาประเทศในปีที่ผ่านมา
อันนี้นับเฉพาะที่มีตัวเลขซื้อขายข้ามประเทศไปมานะ ที่ผลิตแล้วจิบกันเองในประเทศยังไม่รวม ถ้าเอารวมกันจริงๆอาจจะได้อีกเกือบเท่าตัว
พูดกันสั้นๆ โลกเราจิบกาแฟกันอย่างจริงจัง อย่างเอาเป็นเอาตาย มูลค่ากาแฟที่เราจิบกันเข้าไป ไม่ได้น้อยหน้าทองคำ หรือเพชรพลอยที่ค้าขายกัน
ในจำนวนนี้ อเมริกาซึ่งมีประชากร 250 ล้านคน จิบกันหนักหนา ถึงปีละ 6,300 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา เกือบสองแสนล้านบาท สูงสุดในโลก หรือราว 1 ใน 5 ของกาแฟที่จิบกันทั่วโลก เรื่องบริโภคที่อเมริกานี่ไม่ค่อยเป็นรองใครสักที เพราะฉะนั้นไม่มีใครแปลกใจ
ถ้าว่ากันเป็นทวีป ตัวเลขที่รวบรวมกันเป็นเรื่องเป็นราว บอกว่า ยุโรปกินกาแฟปีละ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5 แสนล้านบาท ต่อปี หรือ 53% ของกาแฟที่จิบกันทั้งโลก อเมริกาเหนือที่รวมอเมริกาและแคนาดา จิบมาเป็นอันดับสอง ราว 23.5% และเอเชียจิบตามรั้งท้าย 14.5% ส่วนรายเล็กรายน้อย อย่างแอฟริกา จิบปีละ 2.3% โอเชียเนียซึ่งรวมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จิบจิ๊บๆ แค่ 1.2% เท่ากับประเทศกลุ่มละตินอเมริกา ไม่รวมเม็กซิโก
พูดถึงแถวบ้านเรา ปี 2560 ไทยนำเข้ากาแฟ มูลค่า 149.5 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือเกือบ 5,000 ล้านบาท ยังไกลจากประเทศที่นำเข้ากาแฟมหาศาลอย่างญี่ปุ่น ที่สั่งซื้อ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือกว่า 4 หมื่นล้านบาท อันนี้ถือว่ามหาศาลมากเมื่อเทียบกับประชากรของญี่ปุ่นที่มี 127 ล้านคน และเมื่อเทียกับจีนที่มีประชากรกว่าพันล้านคน แต่สั่งซื้อกาแฟแค่ปีละ 620.8 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา
เพื่อนบ้านทางใต้ของเราที่ผลิตกาแฟได้ อย่าง มาเลเซีย ก็นำเข้ากาแฟ ปีละ 244.4 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์เห็นเล็กๆ มีคนไม่ถึง 6 ล้านคน ก็นำเข้าปีละ 65.9 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา มากกว่าฟิลิปปินส์ที่มีประชากร 100 ล้านคน แต่นำเข้า 55.1 ล้านเหรียญ มากกว่าอินโดนีเซียที่มีประชากร 350 ล้านคน ที่นำเข้า 32.5 ล้านเหรียญ
เวียดนาม ที่เป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ ก็นำเข้าถึง 57.3 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา กัมพูชา นำเข้า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ส่วนพม่ายังจิ๊บๆ อยู่แถวปีละ 4 แสนเหรียญ ลาวยิ่งน้อยใหญ่ เพราะนำเข้าแค่ปีละแสนกว่าเหรียญเท่านั้น
ที่จริงในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นผู้ส่งออกกาแฟกันถ้วนหน้า เวียดนาม ปลูกกาแฟโรบัสต้า เวียดนามทางตอนเหนือปลูกอะไรก็งามไปหมด รวมทั้งกาแฟด้วย ทั้งความสูงทั้งอากาศได้หมด ลาวก็ด้วย ภาคใต้ของลาวปลูกอะไรก็ไม่งามเท่ากาแฟ
ที่ราบสูงบอละเวนของลาวใต้ นั้นถูกยกเป็นที่ราบสูงที่เหมาะสำหรับปลูกกาแฟชั้นดี ไม่แพ้ที่ราบสูงหลายแห่งในอเมริกาใต้ จนตอนนี้ตลาดกาแฟโลกมีกาแฟบอละเวนเป็นหนึ่งในยอดกาแฟที่เรียกให้คนสรรหามาชิม
ว่ากันตามจริง กาแฟก็เหมือนอีกหลายสินค้าในโลก มันมีทั้งความต้องการจริง มีสินค้าที่ดีจริง และมีจริตจะก้านกับการผลักดันกาแฟชนิดหนึ่งชนิดใดขึ้นไปสู่ความนิยม โดยใช้แรงป่าวของบรรดาคนที่เขายกย่องให้เป็นกูรู
สินค้าใดที่มีเรื่องรสนิยมเข้ามาผสม ย่อมต้องมีกูรู มีเทพเข้ามาชี้แนะจัดอันดับ เหมือนไวน์ เหมือนน้ำหอม เหมือนชีส และเหมือนอะไรอีกมากมายที่ไม่ได้มีไว้กินแก้หิว แต่กินเพื่อความรื่นรมย์
ของไทยนั้น กาแฟเราอยู่ในอันดับกลาง ขายในตลาดในประเทศไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อออกสู่ตลาดโลก ยังมีน้อยรายมากที่ฝ่าไปได้ ปริมาณการผลิตของเราก็ไม่มาก เมื่อเทียบกับเวียดนามและลาว
แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เด็ดสุด มาแรงสุดในเรื่องกาแฟ และมาแรงขนาดไต่ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้า การผลิต และแหล่งบ่มความรู้เรื่องกาแฟในภูมิภาคนี้ได้อย่างเผ็ดสุด ก็คือ สิงคโปร์
ใช่แล้ว เป็นสิงคโปร์ที่มีขนาดเล็กขนาดวิ่งข้ามประเทศได้ในเวลาสองชั่วโมง ประชากรไม่ถึง 6 ล้านคน น้อยกว่าคนในกรุงเทพฯ และเป็นสิงคโปร์ที่ไม่มีที่ปลูกกาแฟเลย
เหมือนจะเหลือเชื่อ แต่เพราะแรงดิ้นสุดกำลังแบบที่คนสิงคโปร์เท่านั้นที่ทำได้ในภูมิภาคนี้ สิงคโปร์กำลังดันตัวเองขึ้นไปเป็นศูนย์กลางกาแฟโลก มีเป้าหมายจะนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบเพิ่ม เป็นปีละ 500 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ในอีก 2 ปีข้างหน้า และส่งออกหลังจากเพิ่มมูลค่าแล้วเป็น 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา
ปล่อยประเทศรายล้อมที่มีพื้นที่ปลูกกาแฟมากมาย อย่าง เวียดนาม ลาว ไทย มองตาปริบๆ
สิงคโปร์ ไม่มีพื้นที่ปลูกกาแฟ จะเรียกว่าไม่มีกาแฟสักต้นก็ได้ แต่เขามีความชำนาญในเรื่องการคั่วกาแฟ ซึ่งว่ากันว่าเป็นขั้นตอนสำคัญมากในการกำหนดคุณภาพและกลิ่นรสของกาแฟ
สิงคโปร์มีองค์ความรู้เรื่องคั่วกาแฟมากว่าร้อยปี แต่ครั้งอังกฤษยังมีอิทธิพลอยู่ อย่าลืมว่ากาแฟน่ะมันเรื่องของคนตะวันตกเอามาเผยแพร่ เมืองไทยเราก็เพิ่งรู้จักกาแฟกันเอาจริงเอาจังก็ไม่กี่สิบปีมานี่เอง คนคั่วกาแฟมือเก่งๆ ของไทยไปเรียนจากสิงคโปร์มามากก็มาก
ตอนหลังเขาว่าแหล่งเรียนรู้เรื่องกาแฟต้องออสเตรเลีย แต่นั่นมันเป็นเรื่องการชงการคิดค้นสูตรเครื่องดื่มจากกาแฟแบบใหม่ๆ แต่เรื่องคั่วนี่ยังคงเป็นสิงคโปร์ ตัวเลขการนำเข้าเพื่อบริโภคหรือเพื่อเพิ่มมูลค่าแล้วส่งออกใหม่ของออสเตรเลียก็ยังน้อยมาก
ทั้งอิทธิพลจากการอยู่ใต้อิทธิพลของอังกฤษมานาน และทั้งการเข้าสู่วิถีชีวิตแบบโลกที่หนึ่ง คือคนกินดีอยู่ดี คนสิงคโปร์ปัจจุบันจึงบริโภคกาแฟกันมาก และรู้เรื่องกาแฟดีกว่าคนในประเทศเล็กจ้อยรู้
และเมื่อสิงคโปร์ทำอะไร เขาเล็งไปที่ความเป็นเลิศสถานเดียว
สิงคโปร์ สถาปนาเทศกาลกาแฟประจำชาติของตนเองขึ้นมาหลายปีแล้ว จัดกันใหญ่โตเอิกเกริก เชิญชวนประเทศผู้ผลิต ผู้ซื้อ กาแฟจากทั่วโลกเข้าร่วม โดยสิงคโปร์แสดงบทตัวกลางที่ถนัดมานมนาน
เขาจะรวมคนนำเข้ากาแฟ ผู้ผลิตกาแฟ อันหมายถึง คนที่นำเข้าเมล็ดกาแฟดิบมาคั่วแล้วปรุงกลิ่นรสต่างๆ นานาที่เป็นคนสิงคโปร์โดยแท้ และยังมีบรรดาข้าวของกาแฟยี่ห้อต่างๆ มากมายเกินกว่าจะเชื่อว่านี่เฉพาะในสิงคโปร์เท่านั้นมาไว้ในงาน
ทั้งหมดเป็นยี่ห้อของสิงคโปร์ แม้ว่าเขาจะไม่มีกาแฟสักต้นก็ตาม
เห็นมีกาแฟจากต่างประเทศมาเทียมหน้าเทียมไหล่รายเดียว คือ กาแฟขี้ชะมด จากอินโดนีเซีย ซึ่งเขาขนคนมาเจรจาการค้า เพราะมุ่งหวังเจาะตลาดสิงคโปร์ เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง เหมาะกับสินค้าแพงระยับของเขา
มีร้านกาแฟกว่าหนึ่งร้อยร้านมาเปิดเจรจาการค้า แค่ชิมร้านละอึกก็เมา
ผู้นำเข้าและร้านกาแฟสิงคโปร์ส่วนใหญ่นำเข้ากาแฟจากแอฟริกาและอเมริกาใต้ ทั้งเอธิโอเปีย เอลซัลวาดอร์ บราซิล เรียกว่าเกือบ 70% ล้วนมาจากประเทศเหล่านี้
ถามเขาว่า ทำไม ไม่สั่งซื้อจากไทย เวียดนาม ลาว ซึ่งอยู่ใกล้ๆ เขาบอกว่า เรื่องคุณภาพยังต้องพัฒนา แถมประเทศแถบนี้ยังมีปัญหาที่คั่วกาแฟเข้ม หรือค่อนข้างเข้ม ขณะที่ตลาดโลกเขากินกาแฟอ่อน และเขาเรียกกาแฟเข้มแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า กาแฟไหม้
ฉันเข้าใจว่า คนแถวนี้กินกาแฟเย็นเป็นหลัก เพราะเราเมืองร้อน เราเลยชงกาแฟให้เข้ม เพื่อให้มันไม่จืดเกินไปเวลาใส่น้ำแข็งลงไป
เทศกาลกาแฟสิงคโปร์ จะมีตัวละครหลักหน้าเดิมทุกปีคือ หนังสือพิมพ์ The Straits Times หนังสือพิมพ์ใหญ่และเก่าแก่และทรงอิทธิพลที่สุดของเขา กับ DBS ซึ่งเป็นธนาคารหลักของเขา และมีสปอนเซอร์หลักยาวเหยียด หนึ่งในนั้นคือ กลุ่ม Singtel กลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุดของเขา
อันนี้คือ ย้ำที่เล่ามาแต่ต้นว่า ถ้าสิงคโปร์ทำอะไร ทำจริง
และการไต่อันดับขึ้นมาจากการนำเข้ากาแฟแค่ปีละไม่กี่ล้านเหรียญ มาเป็นใกล้ร้อยล้านเหรียญในทุกวันนี้ ทำให้เป้าหมายที่จะไปถึงขั้นศูนย์การค้าและการผลิตกาแฟของโลก เป็นเรื่องไม่ไกลเกินเอื้อม