ที่ดินแพงติดคอแผนลงทุนอีอีซี เอกชนห่วงโอนโฉนด/วัตถุดิบตึง ค่ายรถเมินนโยบายรัฐเร่งใช้บี 20

เอกชนชี้โครงการอีอีซียังขาดแรงดึงดูด ห่วงราคาที่ดินพุ่งเร็ว หวั่นปัญหาโฉนดและวัตถุดิบไม่เพียงพอ ด้านค่ายรถไม่สนนโยบายรัฐดันใช้ดีเซล บี 20 ‘บีบีจีไอ’ ลุยลงทุนเพิ่ม 1.5 พันล้าน ขยายกำลังผลิต

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยแผนธุรกิจว่า บริษัทบีบีจีไอซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบางจากและกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น อยู่ในขั้นตอนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และปี 2562 บริษัทเตรียมเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพิ่มอีก 3 แสนลิตร ต่อวัน จากปัจจุบันผลิตเอทานอล        5 แสนลิตร ต่อวัน เป็น 8 แสนลิตร ต่อวัน โดยมีแผนใช้เงินสดเพื่อเพิ่มการผลิตตัว 1 แสนลิตร อีก 2 แสนลิตร ใช้วิธีระดมทุนใน ตลท. และในอนาคตตั้งเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเอทานอลเป็น 1 ล้านลิตร ต่อวัน เช่นเดียวกับไบโอดีเซลที่ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านลิตร ต่อวัน จากปัจจุบัน 9.3 แสนลิตร ต่อวัน

นายพงษ์ชัย กล่าวว่า ความต้องการใช้เอทานอลทั้งประเทศอยู่ที่ 4.4 ล้านลิตร ต่อวัน กำลังการผลิตอยู่ที่ 6 ล้านลิตร ต่อวัน เติบโต 6-7% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ อี 20 และ   อี 85 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโต 4-5% ขณะที่ไบโอดีเซล หรือบี100 คาดสิ้นปีนี้กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 7 ล้านลิตร ต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 4.5 ล้านลิตร ต่อวัน

“ทิศทางการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องรอความชัดเจนของบริษัทแม่ บางจาก คอร์ปอเรชั่น ว่าจะมีนโยบายเข้าลงทุนอย่างไรรูปแบบใด แม้บริษัทแม่จะตัดสินใจลงทุนแล้ว แต่บีบีจีไอต้องดูความเป็นไปได้ของธุรกิจด้วย โดยเฉพาะด้านวัตถุดิบว่าจะเพียงพอหรือไม่ ดูต้นทุนเท่าใด เพื่อ     ยกระดับมูลค่าสินค้า ทั้งหมดคือปัจจัยที่บริษัทต้องพิจารณา” นายพงษ์ชัย กล่าว

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีจีไอ กล่าวว่า การขยายการลงทุนในอีอีซี บริษัทแม่ บางจาก คอร์ปอเรชั่น ยังอยู่ระหว่างตัดสินใจ แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมหลายด้าน แต่ยืนยันว่ายังอยู่ในแผนของบริษัท ขณะเดียวกันยังมีความกังวลเรื่องของราคาที่ดินในพื้นที่อีอีซี ที่ปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องใช้พื้นที่เยอะ อาทิ โรงผลิตเอทานอล พร้อมกับความกังวลเรื่องเอกสารสิทธิในพื้นที่อีอีซีว่าติดปัญหาเรื่องการออกโฉนดหรือไม่ อย่างไร และอยากให้ภาครัฐลดขั้นตอนการขออนุญาตสำหรับกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ขั้นตอนขออนุมัติหรืออีไอเอ ควรใช้เวลาลดลงจากปัจจุบัน เพื่อให้การลงทุนในอีอีซีน่าสนใจมากขึ้น ที่ปัจจุบันรัฐเน้นให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

นายชลัช กล่าวว่า ส่วนขยายกำลังการผลิตเอทานอล เน้น จังหวัดขอนแก่น และ จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากในพื้นที่มีวัตถุดิบเพียงพอ ต้นทุนราคาเอทานอลอยู่ระดับแข่งขันได้ หากภาครัฐส่งเสริมให้มีการนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นวัตถุดิบได้ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายระยะห่างของโรงงานไม่มีการกำหนดระยะห่าง   50 กม. ถือเป็นความน่าสนใจในการขยายการลงทุนต่อไป ส่วนความต้องการใช้ไบโอดีเซล บี 20 ยอมรับว่ายังไม่จูงใจ ค่ายรถส่วนใหญ่ยังไม่รองรับ ขณะนี้รถยนต์ในประเทศรองรับไบโอดีเซลถึงแค่ บี 7 เท่านั้น หากรัฐบาลต้องการให้เกิดการใช้ปาล์มน้ำมันมากขึ้น ควรหารือกับค่ายรถยนต์อย่างจริงจัง ให้พัฒนาเครื่องยนต์เพื่อรองรับ บี10 และ บี 20 ให้มากขึ้น

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน