กรมส่งเสริมการเกษตร แนะชาวสวนภาคใต้ผลิตผลไม้คุณภาพ

นายสำราญ สาราบรรณ์

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะชาวสวนภาคใต้ผลิตผลไม้คุณภาพเน้นคัดเกรดผลไม้ และบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตผลไม้ภาคใต้ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในปี 2561 พบว่า มีปริมาณผลผลิตรวมทั้งสิ้น 545,165 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่ผลผลิต 278,522 ตัน คิดเป็นร้อยละ 95.73 ซึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคม ยกเว้นลองกองออกมากในช่วงเดือนกันยายน

แหล่งผลิตสำคัญของผลไม้ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส ซึ่งขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคใต้แล้ว โดยได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว 57,341 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10.52 ของผลผลิตทั้งหมดของผลไม้ภาคใต้ (ที่มา : ข้อมูล war room ณ วันที่ 20 ก.ค. 61)

โดย กรมส่งเสริมการเกษตร วางแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2561 หลักการทำงาน คือ “จังหวัดบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง” โดยมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ โดยปีนี้การวางแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ใช้มาตรการดำเนินการเน้นการบริหารจัดการใน 2 ลักษณะ คือ การบริหารจัดการเชิงคุณภาพและการบริหารจัดการเชิงปริมาณ

เพื่อให้มองเห็นการทำงานอย่างชัดเจนทั้งด้านการผลิตและด้านการตลาด ครบถ้วนตลอดระยะพัฒนาการเจริญเติบโตของผลไม้จนสิ้นสุดฤดูกาล แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะก่อนเก็บเกี่ยว ส่งเสริมให้มีการผลิตนอกฤดูเพื่อป้องกันปัญหาผลไม้กระจุกตัวในฤดูกาล ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลผลิต เน้นหนักในเรื่องการตัดแต่งช่อดอก ตัดแต่งผล การห่อผล การคัดเกรด การเก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสม และผลิตผลไม้ให้ได้มาตรฐานตามระบบ GAP เป็นต้น ส่งเสริมการรวมกลุ่มผลิตไม้ผลคุณภาพตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่

2. ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งเสริมการบริโภคและประชาสัมพันธ์ ป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด (เน้นหนักคือ ทุเรียน) สนับสนุนให้เกิดการกระจายผลผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูปผลผลิต 3. ระยะหลังเก็บเกี่ยว นำข้อมูลรอบด้านมาบริหารจัดการเพื่อวางแผนในปีต่อไปให้เกิดประสิทธิภาพส่งผลดีต่อเกษตรกรมากที่สุด

สำหรับแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2561 ได้มีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 โดยมอบหมายให้ 1. คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่

2. กรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นช่วยกำกับดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมที่ผลผลิตภาคใต้ออกสู่ตลาดมากที่สุด 3. สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายในช่วยกำกับดูแลและติดตามความเคลื่อนไหวด้านตลาดและราคา เพื่อรักษาเสถียรภาพของผลไม้ภาคใต้ตลอดฤดูกาลและ

4. กรณีเกิดปัญหาอื่นๆ เช่น การขาดแคลนแรงงาน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ช่วยกำกับดูแลโดยแจ้งให้กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ จากสภาวะการผลิตผลไม้ของภาคใต้ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ราคาขายทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีราคาเฉลี่ย 60 บาท/กิโลกรัม

มังคุดถึงแม้ในช่วงต้นฤดูกาลผลิตราคาขายจะไม่สู้ดีนักโดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราชแต่ด้วยความร่วมมือในการบูรณการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ทำให้ราคามังคุดขยับตัวสูงขึ้น โดยมีราคาเฉลี่ย 24 บาท/กิโลกรัม

เงาะขณะนี้อยู่ในช่วงต้นฤดูกาลผลิตโดยมีราคาเฉลี่ย 30 บาท/กิโลกรัม และลองกองซึ่งฤดูกาลผลผลิตในปีนี้กระจายตัวอย่างมากอาจจะมีผลผลิตรุ่นสุดท้ายไปถึงเดือนธันวาคม ซึ่งอาจส่งผลทำให้ลองกองมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับชาวสวนลองกองปรับปรุงคุณภาพด้วยการตัดแต่งช่อดอก ช่อผล ห่อผล และคัดเกรดคุณภาพในการขายผลผลิตโดยใช้กลไกศูนย์คัดแยกผลไม้ในพื้นที่ดำเนินการในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองในภาคใต้ให้มากขึ้น ขณะนี้ลองกองมีราคาเฉลี่ย 30 บาท/กิโลกรัม

ผลไม้ไทยไม่ว่าจะอยู่ในภาคใต้ ภาคเหนือ หรือภาคตะวันออก ที่เป็นภูมิภาคสำคัญในการผลิตผลไม้ของไทยยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพราะมีคุณประโยชน์และรสชาติดี ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการผลิต

ประกอบกับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ถ่ายทอดความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้ให้มีคุณภาพดี ตามระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อยกระดับราคาของผลผลิตในแปลงพร้อมทั้งให้มีการเชื่อมโยงการตลาดล่วงหน้า

และลงพื้นที่ประเมินผลผลิตที่ออกสู่ตลาด พร้อมแนะนำให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่เหมาะสมโดยเฉพาะทุเรียนและมังคุด ส่งผลให้เกษตรกรจำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้นตามคุณภาพผลผลิต เพื่อให้การประกอบอาชีพของชาวสวนผลไม้มีรายได้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป