เผยรายชื่อ “58 พันธุ์ไม้ยืนต้น” ที่รัฐบาลเปิดทางให้ใช้ค้ำประกันธุรกิจได้ในอนาคต

เกษตรกรเฮ!!! รัฐบาลเปิดทางให้นำไม้ยืนต้น เช่น ไผ่ มะม่วง ทุเรียน มะขาม ไม้ยาง มะขามป้อม ไม้สักฯลฯ มาใช้ค้ำประกันธุรกิจได้ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์

สืบเนื่องจาก มติการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ครั้งที่ 5/2561 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. … ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ (พณ.)

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เป็นผู้จุดประกายแนวคิดให้ กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มทรัพย์สินอื่นมาเป็นหลักประกัน สำหรับไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทย อีกทั้งประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ระหว่างการปลูก โดยนำไปเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินได้

ก่อนหน้านี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดเวทีประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน SME Bank ซึ่งทุกหน่วยงานต่างสนับสนุนให้กระทรวงพาณิชย์เร่งออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว

ต้นมะม่วง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้พิจารณาให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูงมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจดังกล่าว สามารถกระทำได้โดยการออกเป็นกฎกระทรวง ตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ที่บัญญัติให้หลักประกัน ได้แก่ ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่าสามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความสะดวกและมีโอกาสในการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้นนั้น

สำหรับไม้ยืนต้นที่กำหนดตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า จำนวน 58 ชนิด ประกอบด้วย

1.ไม้สัก 2.พะยูง 3.ชิงชัน 4.กระซิก 5.กระพี้เขาควาย 6.สาธร 7.แดง 8.ประดู่ป่า 9.ประดู่บ้าน 10.มะค่าโมง 11.มะค่าแต้ 12.เคี่ยม 13.เคี่ยมคะนอง 14.เต็ง 15.รัง 16.พะยอม 17.ตะเคียนทอง 18.ตะเคียนหิน 19.ตะเคียนชันตาแมว 20. ไม้สกุลยาง 21.สะเดา 22.สะเดาเทียม 23.ตะกู 24.ยมหิน 25.ยมหอม 26. นางพญาเสือโคร่ง 27.นนทรี 28.สัตบรรณ 29.ตีนเป็ดทะเล 30.พฤกษ์

ต้นยมหิน
ต้นหว้า
ไผ่

31.ปีบ 32.ตะแบกนา 33.เสลา 34.อินทนิลน้ำ 35.ตะแบกเลือด 36.นากบุด 37.ไม้สกุลจำปี 38.แคนา 39.กัลปพฤกษ์ 40.ราชพฤกษ์ 41.สุพรรณิการ์ 42.เหลืองปรีดียาธร 43.มะหาด 44.มะขามป้อม 45.หว้า 46.จามจุรี 47.พลับพลา 48.กันเกรา 49.กระทังใบใหญ่ 50.หลุมพอ 51.กฤษณา 52.ไม้หอม 53.เทพทาโร 54.ฝาง 55.ไผ่ทุกชนิด 56.ไม้สกุลมะม่วง 57.ไม้สกุลทุเรียน 58.มะขาม

ยางพารา
มะขามป้อม
ทุเรียน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ กำลังเร่งส่งร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในเร็วๆ นี้ หากใครอยากนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ขอให้อดใจรออีกสักหน่อย