อภ. ทำสัญญาซื้อขาย ‘ขมิ้นชัน’ วัตถุดิบผลิตยา 3 จว. สร้างรายได้เกษตรกรกว่า 5.4 ล้าน

ที่โรงแรมลพบุรีอินน์ รีสอร์ท จ.ลพบุรี นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) พร้อมด้วย นายวีระชัย นาคมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานการลงนามสัญญาจะซื้อขายขมิ้นชันคุณภาพกับกลุ่มเกษตรกร 3 จังหวัด 3 ภาค คือ ลพบุรี ตาก และยะลา รวม 5 กลุ่มเกษตรกร ตามโครงการส่งเสริมการปลูกและการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพเพื่อผลิตสารสกัดขมิ้นชัน

นพ. โสภณ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยทางคลินิก พบว่า “สารสกัดขมิ้นชันแคปซูล” สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ โดยใช้บรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อม เพิ่มความสามารถในการใช้งานข้อของผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อ ข้อฝืดได้ไม่ต่างจากยาต้านการอักเสบไอบูโพรเฟน ไม่มีผลข้างเคียงกับระบบทางเดินอาหาร ทั้งยังช่วยให้คนเป็นเบาหวานลดการเกิดอาการเส้นเลือดแข็งตัว โดยผลิตภัณฑ์สารสกัดขมิ้นชันแคปซูล ของ อภ. ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบันรายแรกของประเทศ และรับรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2561 เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์สารสกัดขมิ้นชันแคปซูลและขยายตลาดสู่ต่างประเทศ อภ. จึงลงนามสัญญาจะซื้อขายขมิ้นชันคุณภาพที่มีสารสำคัญ “เคอร์คูมินอยด์” สูงกว่าร้อยละ 9 สำหรับนำไปผลิตเป็นสารสกัดขมิ้นชันและผลิตภัณฑ์ต่างๆ

นพ. โสภณ กล่าวว่า เบื้องต้น อภ. ต้องการใช้ขมิ้นชันตากแห้งปีละ 90 ตัน ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ เกษตรกร 5 กลุ่ม จะขายขมิ้นชันตากแห้งให้แก่ อภ.ปีละประมาณ 45 ตัน ราคาตันละ 1.2 แสนบาท หรือกิโลกรัมละ 120 บาท จะทำให้เกษตรกรทั้ง 5 กลุ่ม มีรายได้ต่อปีรวมราว 5.4 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 45 ตัน อภ. จะจัดซื้อตามปกติจากแหล่งปลูกขมิ้นชันคุณภาพทั่วประเทศ แต่หากคุณภาพดี ราคาก็สูงขึ้น นอกจากนี้ อภ. จะให้ความรู้เกษตรกรทั้ง 3 จังหวัด เรื่องมาตรฐานการปลูกและการแปรรูปสมุนไพรและมอบพันธุ์ขมิ้นชัน ซึ่งพัฒนาโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีสารสำคัญสูง ซึ่งคาดว่าจะได้ในช่วงปี 2562 และจะเฝ้าการติดตามพื้นที่การปลูกและจัดซื้อวัตถุดิบขมิ้นชันที่มีคุณภาพ และจะขยายพื้นที่ส่งเสริมการปลูกขมิ้นชันและแปรรูปสมุนไพร เพื่อมาผลิตเป็นสารสกัดในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป รวมทั้งหากเกษตรกรมีการรวมกลุ่มปลูกขมิ้นชันที่มีคุณภาพตามที่ อภ. กำหนด ก็ยินดีจะรับซื้อตามนโยบายของรัฐบาลในราคาที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกรพื้นที่อื่นๆ อีก 5.4 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรให้เกิดความมั่นคงทางยา

“ต่างประเทศมีความสนใจในตัวขมิ้นชันอย่างมาก บางแห่งเอาขมิ้นชันมาทำเป็นชาดื่ม เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรืออย่างเยอรมนีก็สนใจที่จะนำไปจำหน่าย แต่เราต้องผลิตให้ได้ตามเกณฑ์ ซึ่งอนาคตของขมิ้นชันยังไปได้ไกล แต่ต้องวิจัยให้มั่นใจว่าดีจริงๆ ซึ่งเยอรมนีนั้น ยาสมุนไพรจะแพงกว่ายาเคมี เพราะมั่นใจว่าปลอดภัยกว่า แต่คนไทยเชื่อยาเคมีมากกว่าสมุนไพร มองว่าเป็นของเก่า ไม่ค่อยได้ใช้ กลัวอันตรายตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวปนเปื้อนเชื้อราหรือไม่ ซึ่งการทำสัญญาในครั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดการปลูกที่มีคุณภาพ คนใช้ยามั่นใจ เริ่มตั้งแต่ต้นทางคือ การปลูก กลางทางคือการสกัด และปลายทางคือโรงพยาบาล และอนาคตจะมียาตัวอื่นๆ อีก เช่น กัญชา ที่ตอนนี้คนไทยอยากใช้มาก แต่ยังติดเรื่องกฎหมายอยู่ ซึ่ง อภ. ก็ได้รับมอบหมายให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ให้ได้” นพ. โสภณ กล่าว

นายวีระชัย กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรที่จะทำสัญญาในวันนี้เป็นเกษตรกรที่ทางหน่วยงานทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี และ อภ. ได้คัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพและมีขมิ้นชันที่มีคุณภาพ คือ มีสารสำคัญทางยาสูง คือ เคอร์คูมินอยด์ สูงกว่าร้อยละ 9 ซึ่งหายากในประเทศไทยและโลก ทั้งยังมีการปลูกในรูปแบบเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิค ทั้งนี้ ในส่วนของลพบุรีมีผู้ที่ทำสัญญาจาก 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.พัฒนานิคม และ อ.ลำสนธิ โดยพื้นที่ อ.เมือง คือ ต.นิคมสร้างตนเอง หรือไร่ทหารสานประชา ซึ่งได้รับการรับรองแล้วว่า เป็นหมู่บ้านออร์แกนิควิลเลจ 1 ใน 8 แห่ง ของประเทศไทย และที่ อ.ลำสนธิ มีภูมิประเทศล้อมรอบด้วยขุนเขา มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง จึงเหมาะที่จะพัฒนาเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิคซิตี้ต่อไป ส่วนที่ อ.พัฒนานิคม อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนให้เป็นพื้นที่ต้นแบบสมุนไพรเพื่อชุมชน หรือเฮอร์เบิลคอมมูนิตี้ เชื่อว่าทั้ง 3 อำเภอ รวมถึงพื้นที่ยะลา และตาก มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ยาของประเทศไทยมีคุณภาพมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้นต่อไป