‘พ่อแม่’ ช่างสังเกต ช่วย ‘ลูก’ พ้นภัยออนไลน์

เดี๋ยวนี้ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็รู้ไม่เท่าทันภัยออนไลน์ เกิดเป็นปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรมตามมา เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ รัฐบาลโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จึงจัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือศูนย์โคแพท (COPAT-Child Online Protection Action Thailand) ทำหน้าที่พัฒนากลไกการทำงาน ข้อกฎหมาย สร้างองค์ความรู้ ความตระหนัก และรณรงค์ให้เกิดการแก้ไขและป้องกันปัญหาภัยออนไลน์คุกคามเด็กและเยาวชนไทย โดยขณะนี้เปิดดำเนินการสู่เดือนที่ 5 แล้ว

นางปิยวดี พงศ์ไทย ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เล่าว่า จากการสำรวจพบว่า เด็กและเยาวชนมีการใช้อินเตอร์เน็ตสูงขึ้น ผลกระทบที่ตามมาก็สูงตามไปด้วย ภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ที่น่าห่วงสุดคือ การถูกล่อลวงไปละเมิดทางเพศ เนื่องจากเด็กยังขาดวุฒิภาวะ อีกทั้งมีความคึกคะนอง กลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีจึงมักมาล่อลวง ข่มขู่ แบล๊กเมล์เด็ก เพื่อหาประโยชน์ให้ตัวเอง รองลงมาเป็นปัญหาเด็กติดเกม เล่นพนันออนไลน์ การกลั่นแกล้งทางออนไลน์

ปัญหานี้ไม่เพียงหน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานเชิงรุก เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที หน่วยที่ใกล้ชิดกับตัวเด็กที่สุดคือ “สถาบันครอบครัว” ก็จะต้องมาร่วมด้วยช่วยกัน นางปิยวดี ระบุว่า เราอาจมองว่าปัญหานี้คงไม่มาเกิดกับลูกของเรา แต่จริงๆ ปัญหานี้เกิดได้ในทุกครอบครัว

เมื่อเกิดไปแล้ว มีแต่แย่…กับแย่

“ถ้าไม่อยากให้ลูกประสบกับภัยออนไลน์ ผู้ปกครองจะต้องมีความรู้ อย่างแรกคือ ต้องรู้ว่าช่วงนี้มีประเด็นอะไรที่น่ากลัวบ้างบนโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันเมื่อเห็นลูกเป็นเด็กติดสมาร์ทโฟนแท็บเล็ตตลอดเวลา ต้องคอยหมั่นซักถาม อย่างมีเทคนิคพูดคุย เพื่อให้รู้ว่าลูกคุยอยู่กับใคร ดูอะไร แต่ก็ต้องเป็นการพูดคุยที่พร้อมเข้าใจเขาด้วย ไม่ใช่ไปปิดกั้นเลย และอาจเสริมด้วยคำแนะนำ” นางปิยวดี กล่าวทิ้งท้าย

อย่าปล่อยให้เด็กตัวเล็กท่องโลกใบใหญ่ตามลำพัง…

ปิยวดี พงศ์ไทย