ก.เกษตรฯ เร่งปรับยุทธศาสตร์น้ำให้เสร็จ ม.ค.ปี60

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังประชุมการบริหารจัดการน้ำของพื้นที่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ทั้งนักวิชาการ อาจารย์ ผู้มีประสบการณ์ด้านน้ำ เข้าหารือเพื่อนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ 12 ปี ให้มีความสมบูรณ์ และเร่งรัดโครงการระยะยาวให้มีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้กรมชลฯ เป็นผู้รับผิดชอบ และจะเรียกประชุมเพื่อชี้แจงความคืบหน้าอีกครั้งภายในต้นเดือนม.ค.ปี 60

ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้น เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า สถานการณ์น้ำในวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงไป  พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมประจำยังเกิดซ้ำซาก โดยเฉพาะปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา ซึ่งส่งผลรุนแรงขึ้นทุกที จึงอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาคุยกัน เพื่อหาวิธีเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างระยะสั้น กลาง และระยะยาวภายใต้แผนยุทธศาสตร์น้ำ 12 ปี โดยเฉพาะจัดการน้ำของพื้นที่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับแผนงานระยะยาวที่กรมชลฯ ต้องเร่งผลักดัน มี 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของคันกั้นน้ำริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกและตะวันตก จากเดิมที่รับน้ำได้ 2,300 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที เพิ่มเป็น 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ภายใต้วงเงิน 316.409 ล้านบาท 2.แผนปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำสู่แก้มลิงของมหาชัย-คลองสนามชัยออกสู่ทะเล โครงการเดิมระบายสู่แก้มลิงได้ 18 ลบ.ม.ต่อวินาทีเป็น 36 ลบ.ม.ต่อวินาที และจากอ่าวไทยจากเดิม 20 ลบ.ม.ต่อวินาทีเป็น 36 ลบ.ม.ต่อวินาที วงเงิน 637 ล้านบาท

และ 3.แผนปรับปรุงคลองรพีพัฒน์ และโครงข่ายโดยปรับปรุงปากคลองรพีพัฒน์จากเดิมรับน้ำได้ 210 ลบ.ม.ต่อวินาทีเป็น 300 ลบ.ม.ต่อวินาที นอกจากนี้ยังขุดลอกคลองพร้อมทำอาคารชั่วคราวเพื่อระบายน้ำในข้างแม่น้ำเจ้าพระยา 100 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนนครนายกและบางปะกง 140 ลบ.ม.ต่อวินาที อ่าวไทย 60 ลบ.ม.เมตรต่อวินาที วงเงิน 2,360.85 ล้านบาท

ด้านนายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์แมเนจเม้นต์ จำกัด กล่าวว่า  เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบคลองชลประทานและระบบระบายน้ำตั้งแต่คลองรพีพัฒน์ ก่อนจะระบายลงสู่ทะเลในอัตรา 400 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยควรดำเนินการขยายขนาดคลองรพีพัฒน์ให้มีความจุเพิ่มเป็น 800 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็นอันดับแรก

ขณะที่การจะก่อสร้างนั้นต้องประสานงานกับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เพื่อศึกษารายละเอียดของโครงการและออกแบบร่วมกัน เนื่องจากกรมทางหลวงมีความจำเป็นเร่งรัดก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 ให้แล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่หนาแน่น ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกับที่ทางกรมชลฯ จะขยายโครงการพอดี ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 8 เดือน อย่างไรก็ตามต้องมีการชี้แจงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อชดเชยค่ารื้อย้ายให้แก่ประชาชนด้วย

“ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าให้มีการศึกษารายละเอียดให้ชัดและรัดกุม ทั้งหมดเพื่อปรับปรุงระบบการระบายน้ำและพื้นที่รับน้ำนองให้สามารถตัดยอดน้ำในข่วงน้ำหลากสูง และเนื่องจากการก่อสร้างพื้นที่รับน้ำนองแก้มลิงนี้จะส่งผลกระทบประชาชนในพื้นที่ จึงต้องมีการออกแบบรายละเอียดและทยอยก่อสร้างเป็นรายพื้นที่”