สวทช. ร่วมพัฒนาผักปลอดภัย ที่อุบลราชธานี พื้นที่เพิ่ม ตลาดไปได้ดี

ปัจจุบัน มีผู้สนใจเรื่องของผักมีคุณภาพมากขึ้น พร้อมทั้งเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ ในอาหารสุขภาพนั้นก็จะประกอบไปด้วยผักที่หลากหลายชนิด ที่ให้สารอาหารแตกต่างกันไป เทคโนโลยีชาวบ้านจึงอยากแนะนำ “ผักในโรงเรือน” ผักที่มีคุณภาพที่หลายคนต้องอยากลอง เป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับวิถีชาวบ้านอย่างลงตัว เกิดเป็นผักที่ปลอดสารพิษ มีการผลิตน้ำหมักจากผักและผลไม้ที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้เกิดประโยชน์ดีกว่าการทิ้งให้สลายไป

คุณวิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์

คุณวิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าว่า  สวทช. เริ่มทำงานร่วมกับชุมชนบ้านหนองมัง ตั้งแต่ ปี 2549 พัฒนาเป็นชุมชนหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการทำเกษตร นำความรู้และเทคโนโลยีการปลูกพืชที่เหมาะสมส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปลูกพืชแบบดั้งเดิมและงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตรชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ แก้ไขปัญหา พัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานและสามารถเป็นต้นแบบสู่ชุมชนอื่นๆ ได้

คุณปิยะทัศน์ ทัศนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านหนองมัง ตำบลโนนกลาง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า แต่เดิมเกษตรกรในพื้นที่ทำเกษตรแบบเคมี ซึ่งมีต้นทุนการทำเกษตรที่สูงและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ จึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยได้รับการสนับสนุนความรู้และเทคโนโลยีจาก สวทช. ในช่วง ปี 2540 ตนเองได้เริ่มจัดตั้งกลุ่มเกษตรพอเพียง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตร โดยได้ร่วมกันทำกองทุนปุ๋ย ทำปุ๋ยหมักและน้ำหมัก น้ำจุลินทรีย์ เพื่อใช้ในการเกษตรด้วยตนเอง และยังได้จัดประชุมให้ความรู้แก่สมาชิกอยู่เป็นประจำ จนมาถึงวันนี้กว่า 20 ปี ที่ได้ขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนบ้านหนองมัง บวกกับการเข้ามาของ สวทช. ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนบ้านหนองมังแห่งนี้เกิดการขยายผลเป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ ผลผลิตของกลุ่มมีคุณภาพและได้มาตรฐาน เกษตรกรมีสุขภาพแข็งแรง มีรายได้จากการปลูกผักที่มากขึ้น จากเดิมเกษตรกรที่ปลูกผักแบบไม่มีโรงเรือน มีรายได้เฉลี่ย 290,000 บาท/ปี หลังจากการปลูกผักในโรงเรือนแล้ว พบว่า มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 397,000 บาท/ปี หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 36 ซึ่งโดยปกติรายได้จากการปลูกพืชผักในโรงเรือนอยู่ที่ 65,000-110,000 บาท/หลัง/ปี

ผักในโรงเรือน

คุณธนันธร ทัศนิยม ลูกชายคุณปิยะทัศน์ จบปริญญาตรี คณะบริหารศาสตร์ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบัน ทำสวนอยู่ที่บ้านกับพ่อ (คุณปิยะทัศน์ ทัศนิยม) และ คุณกัลยาณี เหมือนมาต (หลานสาว) จบปริญญาตรี สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบัน ทำงานฝ่ายผลิตให้ “เป็นตาฮักฟาร์ม” รับผิดชอบวางแผนการผลิต ทั้งปุ๋ยหมัก น้ำหมัก และสารชีวภัณฑ์ ในการดูแลรักษาผัก ตั้งแต่การเพาะเมล็ด จนถึงการเก็บเกี่ยว มาช่วยกันปลูกผักในโรงเรือน โดยการแบ่งโซนในการดูแลผักที่แตกต่างกันไป

คุณปิยะทัศน์ ทัศนิยม รับรางวัล

มั่นใจได้อย่างไร ว่าเกษตรอินทรีย์จะขายได้

คุณปิยะทัศน์ เล่าว่า สมัยตนเด็กๆ ทางบ้านมีฐานะที่ยากจน พ่อแม่มีลูกหลายคน เวลาไปทำสวนไม่มีเงินที่จะซื้อปุ๋ยเคมี เวลาจะปลูกแตง พริก หรือมะเขือ พ่อของตนจะนำเอาเถ้ามาใส่ในต้นพืชนั้นๆ เคยถามพ่อว่า ทำไมต้องใส่ พ่อก็ตอบว่าใส่ไปแล้วรสชาติมันจะดี จากตรงนั้นมันทำให้ตนเองประทับใจ จดจำภาพที่พ่อของตนนั้นได้สั่งสอนมา อีกอย่างหนึ่งคือ อยากที่จะพิสูจน์ให้คนได้เห็นว่าแผ่นดินอีสานมีค่ากว่าคำดูถูกของคน และมีการให้ความรู้แก่สมาชิกคนอื่นเพื่อได้นำไปใช้ สิ่งที่ตนได้ทำขึ้นไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมักหรือน้ำหมักจากพืชที่ไม่ใช้แล้ว ได้มีการทดลองและเรียนรู้มาจากสิ่งที่ตนเองได้ลองทำทุกอย่าง อาจจะมีที่อื่นมาบอกว่า อย่างนั้นไม่ดี อย่างนี้ไม่ดี ตนจะไม่ปักใจเชื่อทันทีที่ยังไม่ได้ลองทำดูก่อน หากทำแล้วมันเป็น หรือไม่เป็น อย่างที่เขาบอก ตนจะได้รู้ว่าควรแก้ไขหรือหาทางแก้กับปัญหานั้นอย่างไร

คุณปิยะทัศน์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์บ้านหนองมัง ได้รับรางวัล “สาขาพัฒนาสังคม” ผู้เป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเป็นนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการที่ไม่หยุดเรียนรู้บนเส้นทางอาชีพเกษตรกรรม ยกระดับการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้านเติมเต็มด้วยเทคโนโลยี ผลักดันแนวคิดส่งต่อความรู้สู่สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองมัง และร่วมกันกระจายความรู้สู่สังคมเกษตรกรผ่าน “ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ตำบลโนนกลาง” เกิดเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ในหลายพื้นที่ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โรงเรือนศูนย์การเรียนรู้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลาง

ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเป็นแบบอย่างการผลิต สอบถามได้ที่ คุณปิยะทัศน์ ทัศนิยม ศูนย์การเรียนรู้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลาง โทรศัพท์ (083) 128-5465