ผู้เขียน | นวลศรี โชตินันทน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกมะพร้าว มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตมะพร้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว เช่น กะทิ มีราคาสูงขึ้น สาเหตุหลักมาจากการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทนมะพร้าว เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน นอกจากนั้นแหล่งปลูกมะพร้าวในประเทศไทยยังประสบกับปัญหาแมลงศัตรูมะพร้าวระบาด ประกอบกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่การระบาดของศัตรูมะพร้าว ขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว แมลงศัตรูมะพร้าวที่กำลังระบาดเป็นปัญหาหนักและเร่งด่วนอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ หนอนหัวดำมะพร้าว หากการเข้าทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าวระบาดรุนแรงและติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถทำให้มะพร้าวตายได้
หนอนหัวดำมะพร้าว เป็นศัตรูต่างถิ่น
หนอนหัวดำมะพร้าวมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียใต้ แถบประเทศอินเดียและศรีลังกา เคยทำความเสียหายต่อมะพร้าวให้แก่ประเทศทั้งสองมาแล้ว ระยะตัวอ่อนหรือระยะหนอนของแมลงหนอนหัวดำเท่านั้นที่จะลงทำลายโดยการแทะกินผิวใบบริเวณใต้ใบมะพร้าว จากนั้นจะถักใยแล้วนำมูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้นเป็นอุโมงค์ยาวเป็นทางครอบคลุมตัวตลอดทางใบมะพร้าว ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบตามทางยาวของอุโมงค์ โดยทั่วไปแล้วหนอนหัวดำมะพร้าวชอบทำลายใบแก่ หากการทำลายรุนแรงจะพบว่าหนอนหัวดำ จะทำลายก้านใบ จั่น และผลมะพร้าว โดยแทะกินผิวใบในส่วนที่เป็นสีเขียวก่อน
หนอนหัวดำมะพร้าวตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดลำตัวจากหัวถึงปลายท้องยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ปีกสีเทาอ่อน มีจุดสีเทาเข้มประปรายที่ปลายปีก ลำตัวแบน ชอบเกาะนิ่ง แนบตัวติดผิวพื้นที่เกาะ เวลากลางวันจะเกาะนิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าวหรือในที่ร่ม ผีเสื้อขนาดใหญ่ เพศเมียใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย การเจริญเติบโตของหนอนหัวดำมะพร้าว พบว่าระยะหนอน 32-48 วัน มีการลอกคราบ 6-10 ครั้ง ตัวเมียจะวางไข่ประมาณ 200 ฟอง
ยับยั้งการระบาดของหนอนหัวดำ ต้องใช้วิธีผสมผสาน
เนื่องจากหนอนหัวดำได้ชักใบสร้างอุโมงค์หุ้มลำตัวดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงเป็นการยากที่จะกำจัดโดยการพ่นสารเคมี เพราะถึงอย่างไร สารเคมีก็ไม่มีโอกาสจะไปถูกตัวหนอน ถ้าจะใช้สารเคมีจะต้องใช้สารเคมีชนิดดูดซึม โดยฉีดเข้าไปในต้นมะพร้าว
อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้แนะนำการใช้เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวขั้นพื้นฐาน ที่กรมวิชาการเกษตรและหลายหน่วยงานได้ทำการศึกษาวิธีป้องกันกำจัด ให้ดำเนินการในเบื้องต้น ได้แก่
1.ตัดทางใบมะพร้าวที่เป็นสีน้ำตาลเนื่องจากหนอนหัวดำทำลายลงมาจากต้นแล้วเผาทันที เพื่อตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำในระยะไข่ ระยะตัวหนอน และดักแด้ที่ยังหลงเหลืออยู่
2.ถ้าต้นมะพร้าวไม่สูงเกินไป ใช้เชื้อ BT (Bacillus thuringiensis) พ่นในอัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน เพื่อจัดการกับแมลงที่ยังหลงเหลืออยู่ จะสามารถลดความรุนแรงลงได้อีกระดับหนึ่ง วิธีการทั้งสองดังกล่าวสามารถลดความรุนแรงลงได้ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์
3.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าการใช้แตนเบียน โดยผลิตแตนเบียนหนอน Bracon hebetor ปล่อยอัตราไร่ละ 200 ตัว ปล่อย 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7-10 วัน
4.กรมส่งเสริมการเกษตร ผลิตแตนเบียนไข่ ไตรโคแกรมมา เอสพี. (Trichogramma sp.) ปล่อยไร่ละ 20,000 ตัว 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 วัน
การป้องกันกำจัดอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายๆ วิธี ผสมผสานกัน เพื่อให้ได้ผลสูงสุด แต่การป้องกันกำจัดจะได้ผลระดับใด ต้องพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ คือ
พิจารณาจากระดับความรุนแรงในการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวว่า มีการระบาดรุนแรงปานกลางหรือเพียงเล็กน้อย ถ้าระบาดเพียงเล็กน้อย อาจใช้วิธีการป้องกันกำจัดเดี่ยวๆ ได้ แต่ถ้าระบาดรุนแรงอาจต้องใช้วิธีผสมผสาน นอกจากนั้นต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของการผลิตมะพร้าว ถ้ามะพร้าวสูงมาก การพ่นสารต่างๆ ก็ไม่สะดวก และต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของการผลิตมะพร้าว ถ้าเป็นการผลิตมะพร้าวอ่อน เช่น มะพร้าวน้ำหอม หรือผลิตมะพร้าวแก่ หรือมะพร้าวแกง ถ้าผลิตมะพร้าวอ่อน ก็ไม่ควรใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด เพราะจะมีปัญหาเกี่ยวกับสารพิษตกค้าง เนื่องจากมีการเก็บผลผลิตบ่อย
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อหาเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน ได้แก่
1.นำเข้าแตนเบียนกอนิโอซัส เนฟานติดิส (Goniozus nephantidis) จากประเทศอินเดียและศรีลังกา นำมาเพาะเลี้ยงเพิ่มปริมาณแตนเบียนในห้องปฏิบัติการที่สามารถควบคุมได้ และทดสอบให้มั่นใจว่าแตนเบียนชนิดนี้จะไม่ทำลายแมลงชนิดอื่น ๆ โดนเฉพาะแมลงที่มีประโยชน์ในบ้านเรา และไม่กลายเป็นแมลงศัตรูพืชด้วย ซึ่งจะต้องมีการทดสอบหลายขั้นตอนจนถึงขั้นตอนที่สามารถปล่อยได้ เพื่อใช้ควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าวได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 6-8 เดือน
2.วิธีฉีดสารเคมีเข้าต้น (Trunk injection) เนื่องจากมะพร้าวมีลำต้นสูง การใช้สารเคมีพ่นเพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำทำได้ยากและไม่ปลอดภัย ทางสำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช จึงนำสารฆ่าแมลงชนิดดูกซึมมาทดสอบโดยฉีดเข้าลำต้น เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ สารที่ใช้ทดสอบได้แก่ คลอแรนทรานิลิโพร์ล 5.17 % เอสซี (Chlorantraniliprole 5.17 % SC) ฟลูเบนไดอะไมด์ 20 % ดับเบิ้ลยู จี (Fluben diamide 20 % WG) อิมาเม็กติน เบนโซเอท 1.92 % อีซี (Emamectin benzoate 1.92 % EC) และอะซีเฟต 75 % เอสพี (Acephate 75 % SC) ซึ่งต้องใช้เวลาในการทดลองอย่างน้อย 6 เดือน และจะต้องดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนหัวดำ และทดสอบพิษตกค้างในผลผลิตมะพร้าว ทั้งมะพร้าวอ่อนและแก่ในส่วนของน้ำและเนื้อหลังการฉีดสารเข้าต้น 1,2,3 เดือนตามลำดับ
3.ป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวโดยใช้สารฆ่าแมลงพ่นทางใบมะพร้าว (Foliar spray) วิธีนี้ใช้สำหรับมะพร้าวต้นสูงไม่เกิน 5 เมตร สารทดสอบได้แก่ คลอแรนทรานิลิโพร์ล 5.17 % เอสซี (Chlorantraniliprole 5.17 % SC) ฟลูเบนไดเอไมด์ 20 % ดับเบิ้ลยูจี (Flubendiamide 20 % WG) ลูเฟนยูรอน 5 % อีซี, สปินโนแซด 12 % เอสซี, สารสกัดสะเดา 0.1 % ,อะซาดิแรคติน และบีที. ซึ่งต้องมีการทดสอบสองขั้นตอนเช่นกัน ซึ่งได้แก่ทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนหัวดำ และทดสอบพิษตกค้างในผลผลิตมะพร้าวทั้งน้ำและเนื้อ
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้พยายามเร่งดำเนินการเพื่อหาเทคโนโลยีในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวที่เหมาะสม สามารถแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้อย่างปลอดภัยทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค แต่เนื่องจากหนอนหัวดำมะพร้าวเป็นแมลงศัตรูชนิดใหม่ในบ้านเราและเป็นแมลงศัตรูต่างถิ่น อีกทั้งมะพร้าวเป็นพืชที่มีลำต้นสูงยากที่จะใช้วิธีป้องกันกำจัดด้วยวิธีปกติ นอกจากนี้ มะพร้าวยังเป็นพืชที่ใช้บริโภคทั้งผลอ่อนผลแก่รวมทั้งน้ำมะพร้าว ดังนั้น การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดต้องคำนึงถึงสารตกค้างด้วย กรมวิชาการเกษตรต้องขอเวลาในการทดสอบพิสูจน์วิเคราะห์ผล คาดว่าจะลดความรุนแรงและผลกระทบต่อผลผลิตจากการทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าว และควบคุมไม่ให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่ที่ไม่มีการระบาด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2579-7542 ต่อ 158