เลี้ยงปลาในอ่าง

สมัยเด็กๆ ผมมีอ่างอยู่ใบหนึ่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 ซ.ม. เดิมทีเป็นกระถางต้นไม้ ตรงก้นจึงมีรูกลมๆ  ผมหาอะไรมาอุดกันน้ำรั่วออก เอาอิฐมาหนุนซ้อนกันสองสามก้อนแล้วค่อยวางกระถางบนอิฐเพิ่มความสูง จะได้ง่ายเวลานั่งดูปลา ในอ่างผมเลี้ยงปลาไว้สารพัด เช้าๆ รีบตื่นก็ลงมาดูปลาในอ่างก่อนจะทำอย่างอื่น ได้ให้อาหารปลา ดูปลากิน ปลาว่ายน้ำเล่นไปมา นั่งอย่างนั้นได้เป็นชั่วโมงๆ  จนมีภาระเรื่องเรียนหนังสือทำให้ร้างราอ่างใบโปรดนี้ไปนาน กลับบ้านอีกทีพบว่าอ่างนั้นร้าว น้ำรั่วออกจนหมด ปลาตายไปบ้างที่บ้านแจกคนอื่นเขาไปบ้าง ผมได้แต่เซ็ง จากนั้นมาก็ไม่ได้เลี้ยงปลาในอ่างอีกเลย ทว่าถึงกระนั้นผมก็ยังชอบการเลี้ยงปลาแบบนี้ เห็นบ้านใครเขามีก็มักไปนั่งมองใกล้ ๆ คงประทับใจมาจากอ่างของตัวเองเมื่อครั้งยังเยาว์ก็เป็นได้

การเลี้ยงปลาในอ่างมีมานานนับพันๆ ปีแล้วในประเทศจีน และด้วยการค้าขายทางเรือ สินค้าจากจีนซึ่งรวมไปถึงอ่างกระเบื้องเคลือบและปลาทองสวยงามก็ได้ถูกส่งไปขายในดินแดนไกลโพ้น รวมถึงเมืองไทยเมื่อหลายร้อยปีก่อนด้วย มีหลักฐานว่าเศรษฐีชาวสยามนิยมเลี้ยงปลาทองเป็นงานอดิเรก โดยเฉพาะจากส่วนหนึ่งของวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ว่าดังนี้

“ถัดถึงกระถางอ่างน้ำ  ปลาทองว่ายคล่ำเคล้าคลึงสม

พ่นน้ำดำลอยถอยจม  น่าชมชักคู่อยู่เคียงกัน

บ้างแหวกจอกออกช่องภูเขาเคียง  วัดเหวี่ยงแว้งหางระเหิดหัน

บ้างกินไคลไล่เคล้าพัลวัน  ถัดนั้นแอกไถละไมงอน..”

จากวรรณคดีบทนี้ ทำให้ผมมองเห็นอ่างกระเบื้องเคลือบจากจีนราคาแพง (เพราะอยู่ในบ้านขุนช้างซึ่งเป็นเศรษฐี) อ่างนี้ต้องใบใหญ่และน้ำต้องใสสะอาดเพราะปลาว่ายน้ำเล่นกันร่าเริงอิสระ มีการเลี้ยงพืชน้ำอย่างดอกจอก และประดับตกแต่งด้วยเขามอ ซึ่งในสมัยโบราณนิยมเล่นกัน ปลาทองจึง “แหวกจอกออกช่องภูเขาเคียง” และ “วัดเหวี่ยงแว้งหางระเหิดหัน” กันอย่างสำราญอุรา อ่างใบนี้ตั้งอยู่ในตำแหน่งใต้ร่มไม้ชายคาที่ได้รับแดดอยู่พอสมควร จึงมีตะไคร่น้ำจับกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้ปลาได้ “กินไคล” ซึ่งเป็นอาหารมีประโยชน์สำหรับปลาทอง ทำให้สุขภาพดีและสมบูรณ์จนถึงขั้น “ไล่เคล้าพัลวัน” ซึ่งก็คือปลาเข้าเกี้ยวพาผสมพันธุ์นั่นเอง

อ่างคือภาชนะปากกว้าง บรรจุน้ำได้มากแต่ไม่ลึกนัก (ถ้าลึกต้องเรียกโอ่ง) ทำจากวัสดุหลากหลาย เช่นดินเผา กระเบื้องเคลือบ ปูนซีเมนต์ พลาสติก ไฟเบอร์กลาส หรือแม้กระทั่งไม้ อ่างดินเผามีคุณสมบัติทำให้น้ำเย็น และอาจจะสะอาดกว่าวัสดุอื่นเพราะรูพรุนของดินเผาจะเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในการย่อยสลายของเสีย

อ่างดินแม้โดนแสงแดดน้ำก็จะไม่ร้อนเร็วเหมือนอ่างอย่างอื่น เช่นอ่างไฟเบอร์กลาสหรืออ่างไม้ บางคนทุนทรัพย์น้อยแต่ชอบเลี้ยงปลามากๆ ก็อาจใช้วงบ่อ (ที่ใช้ทำบ่อส้วมนั่นเอง) ทำจากซีเมนต์ มาใส่น้ำเลี้ยงปลาได้เหมือนกัน แต่ควรต้องแช่น้ำเปล่าๆ ไว้นานสักระยะหนึ่งเพื่อให้ปูนคลายความเป็นด่างออกมาจนหมดเสียก่อน

อ่างพลาสติกไม่ค่อยเหมาะกับการเลี้ยงปลาระยะยาว เพราะพลาสติกนั้นเวลาโดนแดดนานเข้ามักกรอบ เสื่อมสภาพเร็ว ส่วนอ่างไม้ที่เห็นเขาเอาแผ่นไม้มาเรียงต่อกัน ชันไม่ให้น้ำรั่วซึมแล้วเอาปลอกเหล็กรัดให้แน่นก็สามารถเอามาเลี้ยงปลาได้ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะราคาค่อนข้างสูง ไม่มีขายทั่วไป

อ่างปลาไม่ใหญ่เหมือนบ่อปลา แต่ได้เปรียบกว่าตรงที่ความกะทัดรัด ง่ายต่อการโยกย้าย ง่ายต่อการจัดแต่งให้ดูดี และมีราคาประหยัด บ้านที่มีพื้นที่ไม่มากนัก แค่จัดวางอ่างสักใบแวดล้อมด้วยหมู่ไม้ในกระถางก็สามารถทำให้บ้านดูสวยน่ารักน่าอยู่ได้ไม่น้อยไปกว่าบ่อเลยทีเดียว

ตำแหน่งที่ตั้งอ่างปลาไม่ควรอยู่กลางแจ้งเกินไป เพราะความร้อนของแดดจะทำให้เกิดตะไคร่ปริมาณมากเกินควบคุม และปลาเองก็ไม่อาจอยู่ได้ในความร้อนที่แผดเผาของบ้านเมืองเรา แล้วไหนจะยังเรื่องของฝนที่ปัจจุบันมีสภาพเป็นพิษสูงเนื่องจากสัมผัสกับมลพิษในอากาศทำให้ปลาป่วยได้ง่ายๆ ควรตั้งอ่างใต้ร่มไม้ชายคาบ้าน โดนแดดบ้างในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น อย่าตั้งอ่างใต้ต้นไม้ที่ใบร่วงเยอะเพราะใบที่ร่วงหล่นแช่จมในน้ำจะทำให้สภาพน้ำไม่ดีนัก จุดที่ตั้งอ่างควรใกล้กับก๊อกน้ำหรือสามารถลากสายยางมาถึงได้ไม่ลำบากเพื่อการดูแลทำความสะอาด และสามารถระบายน้ำทิ้งลงพื้นหรือใส่ตามโคนต้นไม้ได้ง่ายในกรณีเปลี่ยนถ่ายน้ำ

เมื่อได้อ่างมาใหม่ๆ ไม่ควรเลี้ยงปลาทันที แม้ว่าเป็นวัสดุสะอาดอย่างดินเผาหรือกระเบื้องเคลือบ แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าระหว่างเก็บรอขายนั้นมันจะไม่ถูกสารเคมี น้ำยาทำความสะอาด หรือแม้แต่มลพิษจากฝุ่นซึ่งอาจทำให้สิ่งมีชีวิตมีปัญหาได้ ควรล้างอ่างให้สะอาดเอี่ยมด้วยแปรงขัด ไม่ต้องใช้น้ำยาอะไรทั้งสิ้น หลังจากนั้นค่อยเติมน้ำแล้วปล่อยแช่ทิ้งไว้หลายๆ วัน

อ่างปลาที่มีน้ำใสสะอาดมักไม่ได้เลี้ยงแต่ปลา หากแต่ต้องมีพรรณไม้น้ำมาปลูกเลี้ยงร่วมไปด้วยเพื่อให้เกิดระบบนิเวศ ก่อนจะเอาปลามาเลี้ยงควรเลี้ยงต้นไม้เสียก่อน ต้นไม้ที่นิยมเลี้ยงในอ่างมีมากมายครับ เช่นบัว กก คล้า พลูด่าง ดอกจอก บัวอเมซอน ไม่แนะนำให้ปลูกโดยตรงลงอ่าง แต่ให้ปลูกในกระถางแล้วเอากระถางนั้นมาแช่ลงในอ่างน้ำอีกทีหนึ่ง ก่อนจะแช่ควรเอากรวดเล็กๆ มาโรยปิดหน้าดินไว้หน่อยกันดินฟุ้งหรือปลาลงมาแทะคุ้ยดินจนน้ำขุ่น เลี้ยงแต่ต้นไม้ไปสักระยะค่อยหาปลามาลง การลงปลาไม่ควรลงทีละมากๆ แรกสุดลงเพียงเล็กน้อยก่อน แล้วค่อยเพิ่มจนถึงจำนวนที่อ่างพอจะรองรับไหว

อ่างที่เลี้ยงแบบธรรมชาติไม่มีอุปกรณ์ช่วยกรองน้ำจำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยระบบนิเวศเพื่อให้น้ำเกิดความสมดุล นั่นคือของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมาจะถูกย่อยสลายหรือเปลี่ยนสภาพโดยจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ทั่วไปตามพื้นผิวต่าง ๆ แม้กระทั่งในดิน กรวด ทราย หรือต้นไม้ ของเสียที่มีความเป็นพิษต่ำอย่างไนเตรทก็จะถูกกำจัดด้วยพืชน้ำและตะไคร่น้ำ การเลี้ยงปลาในปริมาณมากเกินไปทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล ของเสียมากเกินกว่าจะบำบัดได้ทันน้ำจึงขุ่นและเสียเร็วมาก ดังนั้นอ่างแบบนี้จึงต้องเลี้ยงปลาแต่น้อย ให้อาหารแค่วันละมื้อเดียว และควรเป็นอาหารที่มีคุณภาพดี ย่อยง่าย ให้คุณค่าทางโภชนาการอย่างเหมาะสมกับปลาที่เลี้ยงไว้

แต่หากติดตั้งระบบกรองน้ำไว้ในอ่าง เราก็สามารถเลี้ยงปลาให้มากขึ้นได้ หรือสามารถยืดอายุการเปลี่ยนถ่ายน้ำทำความสะอาดอ่างได้นานขึ้น ระบบกรองน้ำที่ว่านี้มีให้เลือกหลายแบบ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอ่างและทุนทรัพย์ของเจ้าของ เท่าที่ผมเห็นมาน่าจะมีแบบเหล่านี้ครับ

1 ระบบกรองพื้นฐาน เช่นกรองใต้กรวด กรองกระป๋อง กรองโฟม ใช้ร่วมกับปั๊มลม

2 ระบบกรองแบบถังกรอง ใช้ร่วมกับปั๊มน้ำ

3 ระบบกรองแบบกั้นเป็นห้องกรอง ใช้ร่วมกับปั๊มน้ำ