ททท. หนุนท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมสวนทุเรียนปลอดสารพิษ 2 จังหวัด ชุมพร-ระนอง

คุณวริช วิชิต รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงาน ชุมพร-ระนอง ได้รับมอบหมายจาก คุณวิริยา แก่นแก้ว ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงาน ชุมพร-ระนอง ให้นำสื่อมวลชนสำรวจเส้นทางเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชมสวนทุเรียนปลอดสารพิษพันธุ์หมอนทอง พื้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลในวงเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง กับ ตำบลเขาทะลุ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร และพื้นที่บ้านควนสามัคคี หมู่ที่ 13 ตำบลครน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

ในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลในวงเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง คณะสื่อมวลชนได้พบ คุณจารึก ขนอม อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 1 ตำบลในวงเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง เจ้าของสวนทุเรียนปลอดสารพิษพันธุ์หมอนทอง

คุณจารึก เล่าให้ฟังว่า เดิมตนเป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช และย้ายมาอยู่ที่ตำบลในวงเหนือ เมื่ออายุ 22 ปี เริ่มแรกตนทำสวนกาแฟ ก่อนหันมาปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และปลูกมาได้ประมาณ 30 ปีแล้ว ในระยะแรกทุเรียนค่อนข้างมีราคาตกต่ำ แต่ต่อมาราคาก็ดีขึ้น ตนใช้ปุ๋ยเคมีกับสวนทุเรียนมา 20 กว่าปี มีผลกระทบมากมาย เช่น ราคาปุ๋ยค่อนข้างสูง ระยะแรกแม้จะให้ผลผลิตดี แต่ดินก็เริ่มเสีย ทำให้ต้นทุเรียนทยอยตายลง ส่วนตนเองก็รู้สึกเวียนศีรษะและมีผื่นคันขึ้นตามตัวทุกครั้งหลังใส่ปุ๋ยเคมีให้ต้นทุเรียน

“เมื่อได้ฟังพระราชดำรัสของ รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จึงเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่เป็นในลักษณะลองผิดลองถูก จนได้พบ คุณเนติ สัจจวิโส อดีตอาจารย์สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง ที่เข้ามาแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งใช้ขี้ไก่ผสมกับน้ำชีวภาพ หลังจากเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้ 1 ปีครึ่ง ก็พบความเปลี่ยนแปลงคือ ต้นทุเรียนที่มีท่าว่าจะตายก็กลับฟื้นขึ้นมา ส่วนผลทุเรียนก็สวยงาม ติดลูกดี และสภาพร่างกายของตนและคนที่มีหน้าที่ใส่ปุ๋ยให้ต้นทุเรียนก็ดีขึ้น” คุณจารึก กล่าว

ด้าน คุณประเสริฐ มูสิก อายุ 46 ปี ผู้ดูแลสวนทุเรียนของ คุณจารึก กล่าวว่า คุณจารึกมีสวนทุเรียน 40 ไร่ ประมาณ 200 ต้น ให้ผลผลิตปีละประมาณ 40 ตัน มีรายได้ปีละประมาณ 2 ล้านบาท แต่เมื่อหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต้นทุนในการใช้ปุ๋ยลดลงมาก เพราะปุ๋ยเคมีมีราคาแพงกว่าปุ๋ยอินทรีย์ ช่วงที่ใช้ปุ๋ยเคมีเมื่อมียอดทุเรียนโผล่ขึ้นมา ทุเรียนอ่อนกับทุเรียนแก่ก็จะร่วงทันที แต่เมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัตราการร่วงก็ลดลง แต่จะมีปัญหาเรื่องเพลี้ยและหนอน ซึ่งคุณเนติก็จะมีสารอินทรีย์มาช่วยป้องกันให้

ทุเรียนหมอนทองปลอดสารพิษ-ทุเรียนเชื่อม

คุณสาลีทิพย์ ชัยสมบัติ อายุ 55 ปี ผู้ดูแลสวนทุเรียนของคุณจารึกอีกคน กล่าวว่า ตอนแรกๆ ที่หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ยังไม่มีคนแนะนำ จนคุณเนติเข้ามาดูพื้นที่เกี่ยวกับสภาพดิน ก่อนใช้สารอินทรีย์ปรับสภาพดิน และใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี ซึ่งคิดว่าเดินมาถูกทางแล้ว จึงอยากให้ชาวสวนทุเรียนทุกคนให้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันให้หมด เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและความปลอดภัยของผู้บริโภค

ส่วนในพื้นที่ บ้านควนสามัคคี หมู่ที่ 13 ตำบลครน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร สื่อมวลชนได้พบกับ คุณชิวา เพชรกระจาย อายุ 59 ปี และ คุณปรีดา เพชรกระจาย อายุ 53 ปี สองสามีภรรยาเจ้าของสวนทุเรียนปลอดสารพิษพันธุ์หมอนทองเช่นกัน โดยทั้งสองคนให้ข้อมูลว่า ตนสองคนอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาประมาณ 30 ปี โดยทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ในส่วนสวนทุเรียนมีประมาณ 16 ไร่ ก่อนหน้านี้เคยรู้จักแต่การใช้ปุ๋ยเคมีกับต้นทุเรียน แต่เป็นลักษณะใช้ไปต้นทุเรียนตายไป เมื่อทุเรียนออกลูกแล้วต้นก็จะโทรม ใบร่วง และทยอยล้มตายไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่ฉีดสารเคมีใส่ต้นทุเรียน 1 ต้น เมื่อฉีดเสร็จก็ต้องล้มตัวนอนทันที เพราะรู้สึกเวียนศีรษะ และคันตามผิวหนัง จนได้พบคุณเนติ ที่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาประมาณ 6 เดือน ก็พบความเปลี่ยนแปลงคือ ต้นทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วมีทีท่าว่าจะตาย กลับพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ ส่วนที่เคยมึนศีรษะและคันตามผิวหนังหลังฉีดปุ๋ยให้ทุเรียนก็หายไป สามารถฉีดปุ๋ยให้ทุเรียนครั้งละ 10 ต้น เลยทีเดียว

“ปุ๋ยอินทรีย์ที่คุณเนติแนะนำทำจากขี้ไก่ผสมกับน้ำผักบุ้ง น้ำซอมบี้ และน้ำชีวภาพต่างๆ ซึ่งไม่ใช้สารเคมีเลย แรกๆ ผมก็ยังไม่เชื่อ และคิดว่าคงเป็นเซลส์ขายปุ๋ยธรรมดา จนกระทั่งไปเห็นสวนทุเรียนของเพื่อนๆ ที่อยู่ใกล้กัน ก็เห็นว่า อาจารย์เนติ ไม่ได้เข้ามาหลอกขายปุ๋ย และปุ๋ยอินทรีย์ใช้ได้ผลจริงๆ ก็เลยหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งคิดว่าเดินมาถูกทางแล้ว” คุณชิวา กล่าว

ด้าน คุณสมคิด สังปริเมน อายุ 60 ปี และ คุณเตือนใจ สังปริเมน อายุ 56 ปี ชาวหมู่ที่ 7 ตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งมีสวนติดกับสวนของคุณชิวา กล่าวว่า หลังจากหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับต้นทุเรียนที่มีอยู่ 10 ไร่เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว ก็พบความเปลี่ยนแปลงคือ ทุเรียนที่เพิ่งตัดเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว ตอนนี้เริ่มออกลูกอีกประมาณ 3,000-4,000 ผล ส่วนร่างกายที่เคยรู้สึกเวียนศีรษะและคันตามผิวหนังก็หายไป ช่วงที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะมีต้นทุนประมาณ 1.4-1.5 แสนบาท แต่เมื่อหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ต้นทุนก็ลดลงเหลือประมาณ 60,000 บาท เท่านั้น ตนพยายามชวนให้ชาวสวนคนอื่นๆ หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี แต่คงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะหนึ่ง

ทุเรียนหมอนทองปลอดสารพิษ

ทั้ง คุณชิวา และ คุณสมคิด ยืนยันว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์นอกจากจะปลอดภัยต่อตนเองและปลอดภัยต่อผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมด้วย จึงอยากให้ชาวสวนทุเรียนทุกคนหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันให้หมด และใครสนใจต้องการคำปรึกษาจากพวกตนก็ให้เข้ามาขอคำปรึกษาที่สวนได้เลย แม้แต่การทำทุเรียนนอกฤดู (ทุเรียนทะวาย) ที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีมาก ทราบว่าคุณเนติก็กำลังพยายามทำทุเรียนทะวายโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ด้วย

คุณปกาสิต พรประสิทธิ์ นายอำเภอสวี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับต้นทุเรียน ถือเป็นการให้ความสำคัญกับตนเองและผู้บริโภค เพื่อลดการใช้สารเคมีทุกประเภท หันมาใช้วิธีธรรมชาติในการปลูกทุเรียน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ทุเรียน และทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยในการซื้อทุเรียนจากอำเภอสวีไปบริโภคกัน ในฐานะที่เป็นภาคราชการพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งในพื้นที่อำเภอสวีมีเกษตรกรปลูกทุเรียนประมาณ 33,000 ไร่ ดังนั้น อยากให้เกษตรกรที่กำลังใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับสวนทุเรียน เป็นต้นแบบในการขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ให้ทุกๆ สวนใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันให้หมดทั้งอำเภอ

คุณทิวาพร จันทรอาภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ครน กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ยังมีเกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไม่กี่คน แต่ อบต. ครน กำลังขยายผลให้เกษตรกรทุกๆ คน หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันให้หมด ซึ่งต้องใช้เวลา และใช้ความพยายามให้สวนที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้เป็นต้นแบบในการดำเนินวิถีเศรษฐกิจแบบพอเพียง ผลที่จะตามมาก็คือ จากเดิมที่เราเคยฉีดสารเคมีในสวน แล้วสารเคมีซึมลงสู่แหล่งน้ำก็จะค่อยๆ หมดไป และคุณเนติยังให้คำแนะนำเรื่องการหาตลาดทุเรียนปลอดสารพิษให้เกษตรกรด้วย

“กรณีที่ ททท. จะส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วยการพานักท่องเที่ยวมาชมสวนทุเรียนปลอดสารพิษ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี หากสามารถผลักดันให้สวนทุเรียนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกหนึ่งทาง ซึ่งใน ตำบลครน กำลังมีการจัดที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ รวมทั้งยังมี “น้ำตกขานาง” และมีถ้ำที่สวยงามต่างๆ เช่น ถ้ำแก้ว ถ้ำเขาหลัก ถ้ำเสือแก้ว ฯลฯ ที่พร้อมจะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสด้วย” คุณทิวาพร กล่าว

ด้าน คุณเนติ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “อาจารย์เนติ” ก็กล่าวว่า สิ่งที่ตนต้องการก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้ธรรมชาติกลับมาสู่สวนเกษตร เพื่อให้สรรพสัตว์ทั้งหมดสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทำให้แปลงเกษตรกลายเป็น “ป่าเกษตร” (Agro-Forest) แบบยั่งยืน ให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่พึ่งพาแต่สารเคมีที่มีผลเสียทั้งต่อตนเองและผู้บริโภค การใช้วิธีทางธรรมชาติจะทำให้เกิดทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่าในแปลงเกษตร สิ่งที่ตามมาก็คือ เกษตรปลอดภัย ปุ๋ยอินทรีย์ที่ตนแนะนำให้ชาวบ้านหันมาใช้ก็มีวิธีทำง่ายๆ เป็นปุ๋ยที่มาจากมูลสัตว์ต่างๆ เป็นหลัก เช่น ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว และจากพืชต่างๆ ที่อยู่ในสวนนั้นๆ อาจจะมีสารเคมีบ้างก็เป็นสารที่เราจำเป็นต้องใช้จริงๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ต้นทุเรียนปลอดสาร

“เมื่อปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 ชุมพร เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ต้นทุเรียนเสียหายมาก น้ำได้ชะเอาสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ ผมจึงเข้ามาแนะนำให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จากนั้นจึงมีการขยายวงออกไปเรื่อยๆ รู้สึกดีใจที่ชาวบ้านยอมรับเรื่องนี้ แล้วหันมาดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของ รัชกาลที่ 9 สิ่งที่ชาวบ้านจะได้รับกลับคืนมาก็คือ ความยั่งยืนในการทำสวนเกษตร ใช้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ในส่วนต้นน้ำ ได้ใช้สารอินทรีย์ที่มีผลกระทบต่อร่างกายน้อยลง ภาครัฐไม่ต้องเสียดุลการค้าด้วยการสั่งซื้อยาเข้ามารักษา ส่วนกลางน้ำก็คือ ผู้บริโภคที่จะได้ผลผลิตที่ปลอดภัย และส่วนปลายน้ำ คือได้รับการยอมรับจากตลาด สามารถส่งไปขายได้ทั่วโลก นอกจากทุเรียนกำลังรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นๆ ด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ด้วย” คุณเนติ กล่าว

คุณวริช วิชิต รอง ผอ.ททท. ชุมพร-ระนอง กล่าวว่า ททท. ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องท่องเที่ยวเชิงเกษตร และทราบว่ามีเกษตรกรตื่นตัวในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับต้นทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของทั้ง 2 จังหวัด จึงต้องการนำเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุนด้วยการพานักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมสวนทุเรียนปลอดสารพิษ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมได้เห็นวิธีการปลูกทุเรียนคุณภาพ และมีโอกาสได้รับประทานทุเรียนจากมือของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งถือเป็นการต่อยอดในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง และอำเภอสวี จังหวัดชุมพร

ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ปัจจุบันการปลูกพืชด้วยวิธีธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี กำลังกลายเป็นกระแสในวงการพืชผลทางการเกษตรของไทย สิ่งที่จะตามมาก็คือ ความปลอดภัยจากสารเคมี ทั้งในผู้ผลิตและในผู้บริโภค และเมื่อมีการนำการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุนในรูปแบบของ “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ก็คงเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการจำหน่ายแต่ผลผลิตเพียงอย่างเดียว