สมาคมประมงเร่งรัฐแก้ปัญหา IUU หยุดทำบัตรใหม่แรงงานต่างด้าว/ค้ามนุษย์คืนชีพ

สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเรียกประชุมใหญ่สมาชิกทั่วประเทศ รับฟังปัญหาและข้อเสนอใน 6 เรื่องเพื่อให้รัฐเร่งแก้ไข ทั้งการขอคืนสิทธิจดทะเบียนเรือ หลังรายงานตัวไม่ทัน เร่งตั้งกองทุนซื้อเรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง การใช้ดุลพินิจมาประกอบการปิดโรงงานได้ อีกทั้งแรงงานต่างด้าวทำบัตรใหม่ไม่ได้ ชี้อาจเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ขึ้นมาอีก

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในสัปดาห์นี้ สมาคมจะประชุมสมาชิกชาวประมงทั่วประเทศเพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน และเสนอขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา ณ ห้องประชุมตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับผลกระทบและความเดือดร้อนของชาวประมงในเรื่องต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ได้แก่ เรื่องเรือประมงที่ตกสำรวจที่ไม่สามารถทำการประมงได้ ภายหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ใบเหลืองแก่ไทยที่ยังไม่สามารถแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 โดยภาครัฐประกาศให้เรือประมงทั่วประเทศมารายงานตัวภายใน 1 เดือน แต่มารายงานตัวไม่ทันจำนวน 8,024 ลำ จึงถูกยกเลิกการจดทะเบียนเรือ ต่อมามีการอุทธรณ์จำนวน 2,200 กว่าลำ ก็ยังไม่ได้รับการคืนสิทธิ ทั้งที่ทำถูกกฎหมายมาโดยตลอด ทำให้ไม่มีอาชีพ ครอบครัวเดือดร้อนกันหนัก รัฐจะช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

“รัฐคืนสิทธิ์ให้เฉพาะเรือประมงพื้นบ้านจำนวน 1,154 ลำ เรืออีก 500 กว่าลำที่มีระวางขนาด 10-30 ตันกรอส ยังไม่ได้รับการคืนสิทธิ์ จึงอยากทราบว่ารัฐใช้กฎหมายอะไร ทั้งที่กฎหมายต้องใช้อย่างเท่าเทียมกัน”

เรื่องที่สองคือ รัฐจะดำเนินการอย่างไรกับเรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง เป็นเรือที่ถูกกฎหมาย แต่รัฐไม่ออกใบอนุญาตทำการประมงให้ แต่ชาวประมงมีภาระหนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ จากการซื้อเรือมาที่มีอยู่ 2,000-3,000 ลำ ซึ่งรัฐควรจะกู้จากธนาคาร 5,000-10,000 ล้านบาท มาตั้งกองทุนซื้อเรือประมงเหล่านี้ แล้วนำไปสร้างปะการังฟื้นฟูทะเล หรือจะสร้างพิพิธภัณฑ์ใต้ทะเล

เรื่องที่สามคือ เรือประมงที่ถูกล็อกพังงา บางจังหวัดที่จอดมีแต่ทะเลเปิด เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่มีคลองให้เรือเข้าไปจอด ทำให้เรือถูกคลื่นลมและน้ำทะเลซัด ทำให้เรือเสียหาย

เรื่องที่สี่ เรื่องกฎหมาย พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีระเบียบ ประกาศที่เป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพ อาทิ มาตรา 11 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มีแรงงานต่างด้าวทำผิดต่ออายุทำงานไม่ทัน 1 คน ทำให้โรงงานแปรรูปถูกปิด 10 วัน ทำให้แรงงานที่เหลือ รวมทั้งโรงงานแปรรูปเดือดร้อน ควรมีการใช้ดุลพินิจเข้ามาพิจารณาประกอบการตัดสินปิดโรงงานด้วย หรือประเด็นห้ามฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จ่ายค่าสวัสดิการ ค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ไม่ครบถ้วน ควรใช้ดุลพินิจประกอบการตัดสิน เพราะเรื่องเหล่านี้อาจผิดพลาดกันได้

เรื่องที่ห้า เรื่องแรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถทำบัตรใหม่ได้ เพราะมี “ไอ้โม่ง” ต้องการตัดปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว ไทยจะได้ไม่ถูกอียูให้ใบแดง ที่ห้ามส่งออกสินค้าประมงไทยเข้าอียู ไปให้ข้อมูลเท็จรัฐมนตรี ทำให้เกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนขึ้นมามาก และอาจเกิดปัญหาค้ามนุษย์ฟื้นขึ้นมาอีกได้ ซึ่งจะไม่พ้นใบแดงตามมาอีก ดังนั้นจึงจะเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ

เรื่องสุดท้ายคือ เรื่อง (ร่าง) ข้อบังคับว่าด้วยการกำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถสำหรับเรือประมงพ.ศ. 2558 (ใบนายท้าย อินเนียร์) ซึ่งเรื่องนี้ กรมเจ้าท่าเร่งให้ไปรายงานตัวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ข้อบังคับดังกล่าวก็ยังไม่ออกมา ทั้งนี้ คนไทยควรเป็นได้ทั้ง 2 ตำแหน่ง ทั้งนายท้ายเรือและช่างเครื่อง และมีผู้ช่วยช่างเครื่องต่างด้าวได้ 2 คน หากมีประกาศนียบัตรรับรอง

“ทางสมาคมจะรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง พร้อมทั้งขอรับคำแนะนำเพื่อหาแนวทางขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาต่อไป” ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกล่าวในตอนท้าย