กายภาพบำบัด ปรับโครงสร้าง รักษา “ออฟฟิศซินโดรม”

“ออฟฟิศซินโดรม” โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิศ (ตามชื่อโรค) สาเหตุคร่าวๆ กว้างๆ เกิดจากการที่ร่างกายเสียสมดุล อยู่ในโครงสร้างที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน อาการกลุ่มโรคที่เรียกว่า “ออฟฟิศซินโดรม” นั้น เกิดได้ทั้งกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน ตาและการมองเห็น
 
อาการ “ออฟฟิศซินโดรม” ที่เรารู้จักและพบมากทั่วไปเป็นอาการเจ็บปวดที่ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด (physical therapy)
 
มนัสวี สามสี นักกายภาพบำบัดประจำคลินิกกายภาพบำบัด K&K Balance ให้ข้อมูลว่า คนที่มีปัญหาสุขภาพ ที่เรียกว่า “ออฟฟิศซินโดรม” ส่วนมากเกิดอาการที่คอและบ่า เพราะนั่งทำงานนาน ไม่มีการลุกขึ้นเหยียดตัว ร่างกาย คอ บ่า จึงตกลงตามแรงโน้มถ่วง อีกทั้งเวลานั่งคนเราจะไม่ใช้กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อหลังจึงสบายที่ไม่ต้องทำงาน แต่เมื่อกล้ามเนื้อส่วนนั้นสบายเป็นเวลานานๆ กล้ามเนื้อจะเริ่มเปลี่ยนช่วงความยาว เป็นความยาวที่ไม่เหมาะสม และการหดตัว-คลายตัว ไม่ปกติ
 
กล้ามเนื้อที่สำคัญมากและมีส่วนอย่างมากกับอาการออฟฟิศซินโดรมคือ “สะบัก” สาเหตุที่คนส่วนใหญ่เจ็บแขน คอ และบ่าไหล่ เพราะสะบักเป็นเหมือนสมองของแขน เมื่อแขนเคลื่อนไหว สะบักจำเป็นต้องอยู่นิ่งและเคลื่อนไหวล้อตามกันไป แต่ถ้าสะบักสูญเสียการทำงาน หรือสะบักเคลื่อนที่ กล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ก็จะต้องยืดออก ทำให้รู้สึกตึงและมีอาการเจ็บปวด
 
“สะบัก เปรียบเหมือนแผ่นเหล็ก 1 แผ่น ที่มีเชือกโยงอยู่ ซึ่งเชือกที่โยงอยู่ ก็คือ กล้ามเนื้อรอบๆ ที่เกาะจากสะบักไปกระดูกสันหลัง คอ และแขน เมื่อไรที่สะบักมีความบิดเพี้ยน แสดงว่ากล้ามเนื้อที่เกาะอยู่โดยรอบมีการเกร็งตัว หรือกล้ามเนื้ออีกมัดยืดออกมากเกิน หรืออีกมัดอาจจะมีแรงไม่พอที่จะดึงสะบักไว้ เมื่อกล้ามเนื้อมีการเปลี่ยนแปลง และต้องทำงานซ้ำๆ กล้ามเนื้อจะเกิดการบาดเจ็บ เพราะช่วงการทำงานไม่เหมาะสม”
 
นอกจากนั้น นักกายภาพบำบัด บอกว่า ยังมีความเจ็บปวดกล้ามเนื้อที่เป็นผลมาจากกระดูกสันหลังคดด้วย ซึ่งปัญหากระดูกสันหลังมีทั้งแบบที่คดมาตั้งแต่กำเนิด และปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรม การนั่ง การออกกำลังกาย รวมถึงเป็นผลมาจากอุบัติเหตุ
 
เมื่อกระดูกสันหลังคดบิดเป็นรูปตัวเอส กล้ามเนื้อซึ่งเกาะอยู่กับกระดูกจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วงความยาวของกล้ามเนื้อบางมัดจะเพิ่มขึ้น (ยืดยาวออก) กล้ามเนื้อบางมัดจะหดตัวสั้นลง เมื่อกล้ามเนื้อเสียสมดุล ไม่อยู่ในช่วงความยาวและตำแหน่งปกติ จึงทำให้เกิดอาการเจ็บปวด
 
นักกายภาพบำบัด ประจำ K&K Balance บอกว่า อาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ รักษาได้ด้วยศาสตร์กายภาพบำบัด (physical therapy) เป็นการรักษาโดยการปรับสรีระโครงสร้างร่างกายให้กลับเข้าสู่สมดุล ซึ่งเป็นการปรับเข้าสู่ตำแหน่งและหน้าที่ที่เหมาะสม เป็นกระบวนการรักษาที่ตรงจุดและไม่ใช้ยา โดยใช้หลักการและกระบวนการทางฟิสิกส์ร่วมกับความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ (anatomy)
 
มีวิธีการรักษา 3 วิธี ได้แก่
 
1.การทำหัตถการ หรือการใช้มือนวดและกดตรงจุดกล้ามเนื้อ เพื่อคลายการเกร็ง ตึง ที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด
 
2.อัลตราซาวนด์ คือการใช้คลื่นเข้าไปกดกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดในกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อที่มีการเกร็งอักเสบคลายตัวและกระบวนการอักเสบหายเร็วขึ้น เป็นสิ่งที่ใช้มือทำได้ยาก ทั้งการคอนโทรลให้น้ำหนักเสถียร และการกดเข้าไปกล้ามเนื้อลึกๆ ซึ่งคลื่นจะเข้าไปได้ลึกกว่าการกดด้วยมือ
 
3.ชอร์ตเวฟ (คลื่นสั้น) เป็นการแอ็บซอร์บคลื่นอุ่นๆ เข้าไปยังจุดที่มีปัญหา เน้นการไหลเวียนเลือดและการคลายกล้ามเนื้อ ไม่ใช่แรงกดเหมือนการอัลตราซาวนด์ ซึ่งการทำชอร์ตเวฟจะให้ความรีแลกซ์ ให้ความรู้สึกอุ่นๆ ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น
 
“การเลือกใช้วิธีการรักษา ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนักกายภาพบำบัด ถ้าต้องการลดการอักเสบ ใช้อัลตราซาวนด์ดีกว่า แต่ถ้าต้องการให้กล้ามเนื้อรีแลกซ์ ให้คลายตัว ใช้ชอร์ตเวฟดีกว่า แต่ก็สามารถใช้ร่วมกันได้ โดยหวังผลสูงสุดให้อาการปวดลดลง ให้โครงสร้างคลายตัว กลับมาเป็นปกติ บางครั้งการใช้มืออย่างเดียวก็ไม่ตอบโจทย์ ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้รักษาว่าจะใช้อันไหน”
 
ส่วนปัญหากล้ามเนื้อที่เป็นผลมาจากกระดูกสันหลังคด สามารถรักษาได้โดยการปรับโครงสร้างให้กล้ามเนื้อกลับเข้าสู่แนวปกติมากที่สุด โดยต้องคลายจุดที่ตึงเกร็งและเจ็บก่อน จากนั้นรักษาด้วยการทำหัตถการ และใช้เครื่องมือช่วย (ดังที่กล่าวไปแล้ว)
 
หลังจากรักษาแล้ว นักกายภาพบำบัดจะมีท่าเอ็กเซอร์ไซส์ที่ออกแบบสำหรับแต่ละคนกลับไปทำ ให้เหมาะกับปัญหากล้ามเนื้อแต่ละมัดโดยเฉพาะ กล้ามเนื้อมัดที่ยืดตัวจะต้องออกกำลังกายให้กระชับหดเข้า ส่วนกล้ามเนื้อที่หดตัว จะต้องคลายออก
 
เมื่อกล้ามเนื้ออยู่ในช่วงความยาวและตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว กระดูกสันหลังจะถูกกล้ามเนื้อดึงให้ไปอยู่ในแนวที่ปกติ ส่วนกรณีคนที่กระดูกสันหลังคดมาตั้งแต่กำเนิดนั้น ไม่สามารถทำให้กลับเข้าสู่แนวปกติได้ แต่สามารถทำให้คดน้อยลง หรือมีวิธีทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้