ลุงจารุ จารุชัยสิริ ชาวขามสะแกแสง โคราช เลี้ยงแพะขาย สร้างรายได้

การเลี้ยงแพะนับเป็นอาชีพที่ชาวบ้านทุกพื้นที่ให้ความสนใจกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากวิธี และการดูแลที่ไม่ยุ่งยาก รวมถึงต้นทุนไม่สูง ประกอบกับยังสามารถเลือกเลี้ยงเพื่อเป็นรายได้หลักหรือรองก็ได้ เพราะมีตลาดรองรับอย่างชัดเจน

ลุงจารุกับภรรยา

หากอนาคตจำนวนแพะในตลาดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อไม่เพิ่มตามหรือเพิ่มอย่างช้าๆ ก็อาจทำให้ราคาซื้อ-ขายไม่สูงอย่างในอดีต ฉะนั้น ผู้เลี้ยงแพะรายใหม่จึงอาจต้องทบทวนวิธีการเลี้ยงแพะให้รัดกุม หาตลาดหรือผู้รับซื้อที่ชัดเจนเสียก่อนการตัดสินใจ

แต่สำหรับชาวบ้านอำเภอขามสะแกแสง อย่าง คุณจารุ จารุชัยสิริ หรือ ลุงจารุ วัย 72 ปี พักอยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 1 บ้านโนนเมือง ตำบลโนนเมือง อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา ที่เพิ่งหันมาเลี้ยงแพะรายนี้ดูจะไม่ธรรมดา เพราะไม่ตั้งใจเลี้ยงแพะขายเพียงอย่างเดียว เนื่องจากอาจประสบปัญหาราคาในอนาคต แต่ยังนำมูลแพะมาใส่ถุงขาย แถมยังนำไม้กระถินที่แพะกินมาเผาเป็นถ่านขาย มีรายได้เพิ่มขึ้นแบบคู่ขนานอีกด้วย

มูลแพะที่กวาดมากองรวมกันด้านนอกในแต่ละวัน

เดิมลุงจารุมีอาชีพเกษตรด้วยการทำนากับพืชอื่นๆ แต่ประสบปัญหาฟ้าฝนไม่ตกตามฤดูสร้างความเสียหายแล้วยังมีผลกระทบต่อรายได้ตามมา ด้วยเหตุนี้จึงเข้าร่วมตามโครงการที่ราชการจัดขึ้นด้วยการส่งเสริมรายได้จากการเลี้ยงแพะ

ลุงจารุเลี้ยงแพะแบบขายลูกแพะกับขายแม่พันธุ์ โดยใช้พันธุ์แองโกลนูเบียนกับบอร์ รูปแบบการเลี้ยงแบบยืนคอก เป็นโรงเรือนขนาด 12 คูณ 15 เมตร หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 180 ตารางเมตร มีชั้นนอนสำหรับแพะใช้พื้นที่ 54 ตารางเมตร อาหารหลักที่ใช้เลี้ยงเป็นกระถินกับหญ้าเนเปียร์ แต่ในบางคราวอาจเสริมด้วยข้าวโพดกับรำอ่อนบ้าง ขึ้นอยู่กับทุนรอนที่มีในแต่ละช่วงเวลา

จากช่วงที่เริ่มเลี้ยงมีแม่พันธุ์จำนวน 30 ตัว และพ่อพันธุ์จำนวน 2 ตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบปีได้แพะมาเพิ่มอีกจำนวน 20 ตัว โดยแพะที่คุณลุงจารุเลี้ยงจะแยกคอกระหว่างตัวผู้-เมีย มิเช่นนั้นตัวผู้จะไล่ตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ขณะที่ตัวเมียยังไม่พร้อม

เรียงไม้กระถินแห้งลงในจุดที่เตรียมเผา

หากเมื่อตัวเมียพร้อมผสมพันธุ์จะแสดงอาการคลอเคลียตัวผู้อยู่ด้านหน้าคอก จากนั้นปล่อยตัวเมียเข้าคอกตัวผู้เพื่อผสมพันธุ์ แล้วแยกตัวเมียออกมาเลี้ยงตามปกติจนตั้งท้องแล้วคลอดโดยใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 4 เดือน ทั้งนี้ แพะแต่ละตัวสามารถให้ลูกได้ครั้งละ 1-2 ตัว โดยท้องแรกจะคลอดเพียงตัวเดียว หลังจากท้องที่ 2 จะให้ลูกครั้งละ 2 ตัว ดังนั้น แต่ละปีแพะจะตั้งท้องออกลูกได้ 2 ครั้ง หรือสามารถให้ลูกได้ปีละ 4 ตัว

อย่างไรก็ตาม การจำกัดอายุของแม่พันธุ์เพื่อสำหรับใช้ผสมพันธุ์จะต้องดูจากการให้ลูกของแม่แพะ ซึ่งความเหมาะสมควรให้ลูกแพะสัก 3-4 รุ่น ขณะเดียวกัน พ่อพันธุ์อาจจะใช้ผสมเพียง 1-3 ครอกในแต่ละแม่พันธุ์เท่านั้น แต่หลังจากนั้น อาจจะไปหาพ่อพันธุ์ใหม่มาใช้ผสม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันเลือดชิด

แพะกินกระถินวันละ 2 ครั้ง

ภายหลังจากคลอดลูกแล้วจะปล่อยให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนม แต่หากลูกตัวใดไม่ค่อยแข็งแรงก็จะชงนมผงสำหรับลูกแพะให้กินไปพรางจนแข็งแรงดีแล้วจึงค่อยปล่อยให้กินนมแม่โดยลูกแพะจะกินนมแม่ประมาณ 2 เดือน จากนั้นจะเริ่มหัดกินพืชอย่างใบกระถินเลียนแบบแม่ จนประมาณ 4 เดือน ลูกแพะมีความแข็งแรงมากขึ้นสามารถกินพืชแทนนมได้ กระทั่งเมื่อลูกแพะที่มีน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม จะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย โดยจะต้องฉีดก่อนถึงหน้าฝนปีละครั้ง

เด็กน้อยอุ้มลูกแพะอายุ 2 เดือนกว่า ยังดูดนมอยู่

 

การขายลูกแพะจะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน ขายตัวผู้ ราคาซื้อ-ขายกำหนดเป็นกิโลกรัม อย่างแพะหนุ่มประมาณ 115-120 บาท ต่อกิโลกรัม โดยเฉลี่ยแล้วน้ำหนักแพะที่เหมาะสมกับการขายควรอยู่ระหว่าง 20-25 กิโลกรัม จึงมีรายได้เฉลี่ยต่อตัวประมาณ 3,000 บาท แต่ถ้าแพะที่มีน้ำหนักมากไปถึงตัวละ 30 กิโลกรัมแล้วราคาจะลดลงเพราะพ่อค้าไม่ต้องการ

สำหรับแม่พันธุ์ที่ปลดระวางแล้วก็จะขายออกไปด้วยการตีราคาขายเป็นตัว ไม่มีสูตรหรือกฎเกณฑ์การกำหนดราคาที่ตายตัวหรือชัดเจน แต่จะใช้วิธีพิจารณาจากรูปร่างและความสมบูรณ์ของแม่พันธุ์แต่ละตัว ดังนั้น จึงทำให้มีราคาไม่เท่ากัน อีกทั้งความเหมาะสมของราคายังขึ้นอยู่ที่ความพอใจของผู้ขายกับผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดเองด้วย

มีมูลแพะขาย

ลูกค้าออเดอร์เพียบ

ปกติใต้ถุนโรงเรือนเลี้ยงแพะหลายแห่งมักจะเป็นดินเพื่อให้แพะได้เหยียบย่ำ แต่สำหรับคุณลุงจารุจะใช้วิธีเทปูนแทน ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการให้เกิดความชื้นเฉอะแฉะอันนำมาสู่การเกิดโรคระบาด ขณะเดียวกัน ข้อดีของการทำพื้นซีเมนต์ช่วยให้สะดวกต่อการทำความสะอาด เก็บมูล ซึ่งก็ยังช่วยให้มูลแพะมีความสะอาดปราศจากเศษผงปนเปื้อน

ลุงจารุเก็บกวาดมูลแพะไปใช้ประโยชน์กับพืชชนิดต่างๆ อย่างนำไปใส่ในนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ หรือนำไปใส่ไม้ป่ายืนต้น อย่างพะยูง สัก ประดู่ ทำให้เจริญเติบโตรวดเร็ว แข็งแรง นอกจากนั้นแล้ว ยังแบ่งใส่กระสอบขนาด 30 กิโลกรัม ขายราคากระสอบละ 30 บาท ทั้งนี้ จะเก็บมูลแพะขายเดือนละ 39 กระสอบ จะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 1,200 บาท โดยมีชาวบ้านจำนวนหลายรายในพื้นที่มาสั่งจองล่วงหน้าเพื่อนำไปใช้ใส่พืชผักที่ปลูก ถือเป็นการสร้างรายได้อีกทาง

ลูกชายและลูกสะใภ้ ช่วยกันกรอกมูลแพะใส่กระสอบ

“แพะมักจะถ่ายมูลในช่วงกลางคืน พอตอนเช้าจึงไปเก็บกวาดมูลแพะมากองไว้เป็นจุดๆ ก่อน เพื่อให้แพะเดินไป-มาได้อย่างสะดวก ขณะเดียวกัน กองมูลแพะจะได้รับลมและอากาศที่พัดถ่ายเทใต้ถุนจนแห้ง พอถึงช่วงเย็นจึงมากวาดมูลแพะรวมเป็นกองใหญ่เพื่อเตรียมบรรจุใส่กระสอบ”

 ไม้กระถินที่แพะกินแล้วไปเผาถ่านขาย

มีรายได้อีกทาง

ลุงจารุ บอกว่า ตัวเองตื่นแต่เช้าออกไปตัดกิ่งกระถินเพื่อมาเป็นอาหารแพะวันละ 2 รอบเช้า-เย็น เมื่อแพะกัดกินใบและเปลือกออกแล้ว จะนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการเผาเป็นถ่านตามวิถีชาวบ้านท้องถิ่นขายได้อีก โดยจะนำมาตัดเป็นท่อนไม่ยาวนักแล้วนำไปเข้าเตาดินเผา ในแต่ละครั้งจะใช้ไม้กระถินแห้งวางลงบนเตาแล้วใช้ฟางกลบด้านบนให้หนา จากนั้นตักดินกลบฟางอีกชั้น แล้วจึงเริ่มเผาโดยใช้เวลาเผานานถึง วัน

การเผาแต่ละครั้งต่อเตาเมื่อบรรจุใส่ถุงพลาสติกขนาด 15 คูณ 26 นิ้ว จะได้จำนวน 25 ถุง ขายในราคาถุงละ 30 บาท จึงมีรายได้ครั้งละ 750 บาท ซึ่งจะเผาเดือนละประมาณ ครั้ง ก็จะมีรายได้ต่อเตาเผาประมาณ 2,250 บาท ซึ่งคราวใดที่มีไม้กระถินจำนวนมากก็ต้องเผาหลายเตาก็จะมีรายได้เพิ่มอีก

สำหรับถ่านต้นกระถินมีคุณสมบัติในการให้พลังงานความร้อนสูง แทบจะไม่มีควันเลย ติดไฟนาน จึงมีคนมารับซื้อไปขายให้แก่ร้านอาหารประเภทปิ้งย่างหลายแห่งในโคราชเพราะราคาไม่แพง แล้วยังมีคุณภาพด้วย

เก็บถ่านบรรจุใส่ถุง

“ตลอดเวลาการทำอาชีพเกษตรต้องกังวลกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละปี ฟ้าฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล น้ำมาก-น้อย สร้างปัญหาต่อผลผลิตทางการเกษตรมาตลอด แต่ภายหลังที่มาเลี้ยงแพะพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะการเลี้ยงแพะมีความเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาสภาพอากาศเพียงแต่ต้องเอาใจใส่ดูแลซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว” ลุงจารุ กล่าว

การทำเกษตรกรรมของคุณลุงจารุถือว่าเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่มองเห็นช่องทางสร้างรายได้อื่นๆ ซึ่งอาศัยสิ่งรอบตัวมาสร้างมูลค่า นับเป็นเกษตรกรที่มีความคิดก้าวหน้าอีกท่าน  

สอบถามรายละเอียดสนใจสั่งซื้อลูกแพะหรือแม่พันธุ์ มูลแพะ และถ่านไม้กระถิน ติดต่อได้ที่ ลุงจารุ โทรศัพท์ (064274-2245

….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่