115 เขื่อน-อ่างวิกฤตหนัก น้ำทะลักเกินเกณฑ์ จับตาเดือนนี้เจอพายุซ้ำ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประชุม “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต” โดยเปิดเผยว่า สทนช.ตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต” ขึ้นตามคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีคำสั่งให้เปิดศูนย์เฉพาะกิจติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้เชิญผู้แทนจาก 9 หน่วยงาน อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น วางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน เนื่องจากขณะนี้มีฝนตกจำนวนมาก ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์ควบคุมที่กำหนดไว้ 80-100 % แบ่งเป็น เขื่อน ขนาดใหญ่ 12 แห่ง และขนาดกลาง 103 แห่ง

ช่วงปลายเดือนส.ค.นี้คาดการณ์ว่าจะมีพายุพัดผ่านเข้ามาในไทยผ่านภาคอีสานตอนบน และภาคเหนือตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดลำน้ำโขง และฝั่งภาคตะวันตก อาทิ จังหวัด ตาก เพชรบุรี อีกระลอก ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมชลประทาน เร่งระบายน้ำหรือพร่องน้ำออกจากเขื่อนให้มากที่สุดภายใน 10 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนมีปริมาณน้อย เพื่อรองรับปริมาณฝนตกหนักในช่วงกลางเดือนส.ค.เป็นต้นไป โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์สุ่มเสี่ยง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และ 3.เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี

“กรมชลฯ จะเร่งปรับแผนการระบายน้ำในเขื่อน วิเคราะห์พื้นที่ได้รับผลกระทบ ความสูงของมวลน้ำ ก่อนแจ้งไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย (ปภ.) ให้ประชาชนในพื้นที่รับน้ำให้เตรียมตัว โดยขณะนี้กรมชลฯ กำลังเร่งตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากต้องกำหนดจุดระบายน้ำฉุกเฉินในแต่ละเขื่อนให้ได้ โดยจะให้กระทบพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด คาดว่าทุกหน่วยงานจะสรุปแผนดำเนินการเสร็จภายในวันที่ 6 ส.ค. เพื่อเสนอพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป”

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับเขื่อนน้ำอูน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 525 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน ประมาณ 6 เซนติเมตร หรือคิดเป็นปริมาณน้ำล้น 1.22 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน กรมชลฯ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยในการระบายน้ำเพิ่มอีก 15 ชุด จากเดิมมีอยู่ 10 ชุด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำจาก 3.60 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เป็น 4.15 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 656 ล้านลบ.ม. มีน้ำมากกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำสูงสุด 219.81 ล้านลบ.ม. และมีการระบายน้ำ 9 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ส่วนการเพิ่มการระบายน้ำยังทำได้ยาก เนื่องจากลุ่มน้ำสงครามซึ่งเป็นทางผ่านน้ำก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง มีปริมาณน้ำฝนและน้ำจากเทือกเขาภูพานที่ไหลมาบรรจบกันจำนวนมาก ทำให้ระบายสู่แม่น้ำโขงได้ช้า นอกจากนี้คาดว่าปริมาณฝนที่จะตกลงมาเพิ่มจะทำให้พื้นที่ในอำเภอวานรนิวาส อากาศอำนวย พังโคน ศรีสงคราม เกิดภาวะน้ำท่วมด้วย

ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 7,298 ล้านลบ.ม. มีน้ำมากกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำสูงสุด 1,038 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันมีการระบายน้ำอยู่ที่ 36 ล้านลบ.ม. และทางกรมชลฯ เห็นว่าพื้นที่ท้ายน้ำยังมีช่องว่างรับน้ำได้อีก 140 ล้านลบ.ม. จึงอยากจะปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 43 ล้านลบ.ม. เพื่อให้เขื่อนสามารถรองรับน้ำในช่วงเดือนส.ค.เพิ่มอีก ซึ่งการปรับแผนครั้งนี้จะรีบหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าน้ำจำนวนนี้ถ้าระบายไปแล้ว พื้นท้ายน้ำจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด