มังคุดผิวมัน มังคุดคุณภาพ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

มังคุดผลไม้ยอดนิยมของคนไทยและคนต่างชาติ แต่กับชาวสวนแล้ว มักจะมีปัญหาด้านราคาอยู่เสมอ เป็นอย่างนี้มาตลอด จนเรียกว่า “เป็นตำนาน” โดยเฉพาะชาวสวนภาคตะวันออกที่ต้องวุ่นวายกับราคามังคุดที่ตกต่ำเกือบทุกปี ตัวอย่างเมื่อปี 2553 ราคามังคุดตกต่ำมาก ชาวสวนหลายรายถึงกันโค่นต้นมังคุดทิ้งไป แล้วปลูกพืชใหม่ทดแทน จะด้วยความคับแค้นหรือน้อยใจคงจะปะปนกันไป ข้ออ้างที่พวกเขาได้รับฟังจากผู้รับซื้อก็คือ มังคุดคุณภาพต่ำ ผิวลาย เนื้อแก้ว ยางไหล หู (กลีบเลี้ยง) ไม่สวย สรุปว่ามังคุดของชาวสวนด้อยคุณภาพ ส่งออกก็ไม่ได้ ขายภายในประเทศราคาก็ไม่ดี

มังคุดผิวมัน : มาตรฐานคุณภาพและราคา

สำหรับลักษณะของมังคุดผิวมันได้กำหนดไว้ ดังนี้ เป็นผลมังคุดที่มีผิวเปลือกสะอาด เป็นมัน อาจมีร่องรอยหรือตำหนิได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ผิวเปลือก เนื้อในคุณภาพดี-สีขาวสะอาด ไม่มียางไหล ไม่เป็นเนื้อแก้ว และเนื้อไม่ติดเปลือก

ส่วนมังคุดผิวลาย หมายถึง ผลมังคุดที่เปลือกนอกอาจมีร่องรอยการทำลายของโรค/แมลงศัตรูหรือจากเหตุอื่นๆ ทำให้มีตำหนิได้ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวเปลือก เนื้อในมีคุณภาพเหมือนกับมังคุดผิวมัน

ผลมังคุดที่สมบูรณ์

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นแล้วว่า ผู้บริโภคที่มีกะตัง และลูกค้าต่างประเทศ เขาต้องการมังคุดคุณภาพ ผู้ซื้อจะดูจากลักษณะภายนอก ที่ดูดีไว้ก่อน มันเป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพภายใน หากย้อนไปที่ภาษิตไทยบทหนึ่งที่ว่า “ไก่งามเพราะคน คนงามเพราะแต่ง” ก็คงจะถึงบางอ้อว่า การทำมังคุดผิวมัน เป็นกลยุทธ์หนึ่งทางการค้า ที่ต้องเริ่มต้นจากชาวสวน ต้องประณีตในการปฏิบัติในแปลง ให้ได้ผลมังคุดคุณภาพดี และต้องทำความสะอาดผล/ คัดเกรด แยกผลผลิตมังคุดตามคุณภาพ ตามการสั่งซื้อของผู้ค้า ซึ่งเป็นวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ชัดเจน ราคารับซื้อจากผู้ค้าจะสูงขึ้นอย่างมาก ตรงนี้ครับ เป็นที่มาของการผลิตมังคุดผิวมัน ช่องทางแก้ปัญหาด้านราคาที่ยั่งยืน

มังคุดผิวมัน: ขั้นตอนและวิธีการผลิต

คุณสมชาย บุญก่อเกื้อ ได้อธิบายถึงวิธีการผลิตมังคุดผิวมันไว้ว่ามีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

1.การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ต้องฟื้นฟูต้นมังคุดให้สมบูรณ์ ปกติฤดูการเก็บเกี่ยวมังคุดจะเริ่มราวๆกลางเดือนเมษายน ไปหมดที่กลางเดือนมิถุนายน ภายหลังการเก็บเกี่ยวผลมังคุดแล้ว จะต้องทำการตัดแต่งกิ่งมังคุด กำจัดวัชพืช ให้น้ำและใส่ปุ๋ย ให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม โดยเริ่มจากการปฏิบัติ ดังนี้

1.1 ตัดแต่งกิ่งมังคุด ตัดตรงส่วนปลายกิ่ง และขอบทรงพุ่ม ที่ปลายกิ่งทับซ้อนและสะกัน กิ่งแห้ง กิ่งหัก กิ่งที่เสียหายจากการทำลายของโรค-แมลงศัตรู และกิ่งที่แตกเกะกะภายในทรงพุ่มทำให้แน่นทึบ ทั้งนี้เพื่อให้โปร่ง แสงแดดส่องผ่านเข้าในทรงพุ่มได้ทั่วถึง ส่วนต้นที่สูงเกินไปจะตัดส่วนยอดทิ้งบางส่วน

กล่องบรรจุมังคุด น้ำหนัก 5 กิโลกรัม

1.2 กำจัดวัชพืช จะการใช้เครื่องมือตัดแทนการใช้สารกำจัด วัชพืช แล้วนำเศษวัชพืชทั้งหมดไปคลุมบริเวณโคนต้นมังคุด เพื่อช่วยป้องกันและเก็บความชื้นในดิน และเมื่อสลายตัวแล้วจะเป็นปุ๋ยให้ต้นมังคุด  การปฏิบัติตรงนี้เป็นการเร่งให้มังคุดแตกใบอ่อนได้เร็วยิ่งขึ้น

1.3 ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น หลังจากการตัดแต่งกิ่ง และกำจัดวัชพืชแล้ว ทำการใส่ปุ๋ยบำรุงต้นมังคุดทันที เพื่อฟื้นฟูสภาพต้นให้สมบูรณ์  โดยใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ในอัตรา 1 – 2กก./ต้น หรือ 2 – 3 กก./ต้น พิจารณาจากขนาดของต้นมังคุดว่าเล็กหรือใหญ่ หว่านปุ๋ยบริเวณใต้ทรงพุ่มให้ทั่ว เสริมด้วยการให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ทุกๆ 10 – 15 วันประมาณ 4 – 5 ครั้ง โดยการผสมและปล่อยไปพร้อมๆ กับการให้น้ำตามระบบพ่นฝอย (มินิสปริงเกอร์)

1.4 บังคับให้แตกใบอ่อน พอถึงต้นเดือนสิงหาคม ทำการเร่งหรือบังคับให้ต้นมังคุดแตกใบอ่อนพร้อมกัน  โดยการฉีดพ่นสารไทโอยูเรีย อัตรา 30 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม เพื่อต้นมังคุดจะแตกใบอ่อนพร้อมกัน ประมาณปลายเดือนสิงหาคม – ต้นเดือนกันยายน  เมื่อมังคุดแตกใบอ่อนแล้ว จะต้องดูแลใบอ่อนให้ดี โดยการฉีดปุ๋ยชีวภาพเพื่อเสริมธาตุอาหารทางใบ ให้น้ำสม่ำเสมอ พร้อมฉีดพ่นสารสกัดจากพืชสมุนไพรสูตรไล่แมลง ทุก 10 – 15 วัน

การแตกใบอ่อนของมังคุด

ระยะนี้ใบอ่อนจะมีการพัฒนาเป็นใบแก่ที่สมบูรณ์ จึงต้องทำการสำรวจแมลงศัตรูทุก  7 วัน เพื่อตรวจดูเพลี้ยไฟและหนอนกินใบอ่อน หากพบหนอนกินใบอ่อนระบาดมาก ประมาณ 20 % ของจำนวนยอดทั้งหมดในต้น จะพ่นสารเคมีพวกไซเปอร์เมทริน 35 % อัตรา 50 ซีซี ผสมน้ำ 200 ลิตร และหากพบเพลี้ยไฟ มากกว่า 1 ตัวต่อยอด จะฉีดพ่นสารเคมีอิมิดาโคลพริด 10 %  อัตรา 20 กรัมผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่น1 – 2 ครั้งเพื่อกำจัดให้ทันกาล ช่วงนี้เป็นระยะการพัฒนาของใบอ่อน และตายอดมังคุด ไปเป็นใบแก่ที่พร้อมจะออกดอก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 9 – 12 สัปดาห์ คือ ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม- กันยายน -ตุลาคม ถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูหนาวนั่นเอง

ต้นมังคุดที่สมบูรณ์พร้อมออกดอก
  1. การเตรียมต้นมังคุดก่อนการออกดอก หลังการตัดแต่งกิ่ง มังคุดจะแตกใบอ่อนภายใน 10 – 15 วันและเริ่มพัฒนาเป็นใบแก่ ดั้งนั้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม ช่วงนี้ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นให้สมบูรณ์ เน้น ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ใส่สูตร 8 – 24 – 24  อัตรา 1 – 2 กก.ต่อต้น หว่านใต้ทรงพุ่ม และให้น้ำทุก 10 – 15 วัน พอถึงเดือนตุลาคมหยุดให้น้ำ ปล่อยให้มังคุดเครียด หยุดให้น้ำติดต่อกันนานสัก 3 สัปดาห์ สังเกตดูที่ปล้องสุดท้ายของปลายกิ่งมังคุด ที่แสดงอาการเหี่ยวอย่างชัดเจน ใบคู่สุดท้ายมีอาการใบตก(เหี่ยว) จึงเริ่มให้น้ำต่อไป โดยครั้งแรกให้น้ำตามปริมาณปกติที่เคยให้ ส่วนครั้งที่สองจะให้น้ำในปริมาณเพียงครึ่งหนึ่งของครั้งแรก แล้วก็ให้แบบโชยๆ อย่างต่อเนื่อง จนประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนมังคุดจะเริ่มออกดอกจึงให้น้ำในปริมาณที่ให้แบปกติ ร่วมกับการให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ เทคนิคการปฏิบัติแบบนี้ ทำให้มังคุดออกดอกในระดับ 50 – 60 % ของยอดทั้งหมดจนถึงระยะผลอ่อน ซึ่งเป็นปริมาณผลมังคุดที่พอดี ผลมังคุดจะโตสม่ำเสมอ เนื้อมาก รสชาติหวาน และผลได้ขนาดมาตรฐานของผู้ซื้อ
  2. การปฏิบัติระยะมังคุดออกดอกถึงและติดผลอ่อน ต้นมังคุดที่สมบูรณ์ดี จะเริ่มออกดอกประมาณ กลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจากระยะออกดอกถึงผลอ่อน เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด ของการผลิตมังคุดผิวมัน เพราะช่วงนี้มักจะมีเพลี้ยไฟเข้าทำลายผลอ่อน ทำให้ผลมังคุดมีผิวลาย ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงต้องเข้าแปลงสำรวจและควบคุมให้ได้

3.1ทำการสำรวจและควบคุมเพลี้ยไฟ โดยเคาะดอกมังคุดลงบนแผ่นกระดาษสีขาว หากพบว่ามีเพลี้ยไฟมากกว่า 1 ตัวต่อดอกหรือผลอ่อน ทำการฉีดพ่นสารอิมิดาโคลพริด 10  % อัตรา 20 กรัมผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นสัก 4 – 5 ครั้ง จนถึงระยะดอกบานประมาณ 4 สัปดาห์  ช่วงนี้ยังต้องให้น้ำตามปกติ เพื่อผลมังคุดจะไม่ขาดน้ำ เนื้อจะแน่นและน้ำหนักจะดีมาก

มังคุดผิวลาย

3.2ใส่ปุ๋ยบำรุงผลมังคุด  ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กก.ต่อต้น และฉีดเพาเวอร์แพ้ลน อัตรา 200 ซีซี.ผสมน้ำ 200 ลิตร เพื่อเป็นอาหารเสริมที่ช่วยบำรุงผลมังคุดให้มีการสะสมความหวาน ช่วยให้ผลโต และกลีบเลี้ยงมีสีเขียว และให้น้ำอย่างต่อเนื่อง

3.3 การปฏิบัติด้านการใช้สารเคมี  หยุดการใช้สารเคมีทุกอย่างก่อนการเก็บเกี่ยวผลมังคุดอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ผลมังคุดปลอดสารตกค้าง และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

  1. การเก็บเกี่ยวและคัดคุณภาพผลผลิตมังคุด การเก็บเกี่ยวผลผลิตมังคุด จะเริ่มเก็บในระยะที่ผิวเปลือกเป็นระยะสายเลือด คือมีจุดประสีชมพู สีแดง หรือผิวเป็นสีชมพู โดยสอยด้วยตะกร้อผ้า เพื่อป้องกันผลมังคุดตกลงพื้นดิน ผลมังคุดที่เก็บลงมา จะถูกคัดคุณภพตั้งแต่ที่สวนโดยแยกมังคุด ผลแตก ผลร้าว มังคุดตกดินออกต่างหาก ส่วนผลที่ดีนำใส่ตะกร้าพลาสติค แล้วขนย้ายไปที่โรงคัดคุณภาพ เพื่อคัดเกรด และทำความสะอาดผิวเปลือก โดยทำการขูดยางตามผิวเปลือกออกให้สะอาด มีการแบ่งเกรดมังคุดเป็น 4 เกรด คือ

1) ผิวมันใหญ่ น้ำหนัก 90 กรัมขึ้นไป

2 ) ผิวมันเล็ก ขนาดน้ำหนัก 70 – 89 กรัม

3) ผิวมันจิ๋ว ขนาดน้ำหนัก 60 – 69 กรัม

และ 4 ) มังคุดตกเกรด มีผิวลาย ผลดำ และผลเล็กสุด จากการปฏิบัติด้วยหลักวิชาการภายใต้ระบบ จี เอ พี และปรับใช้กับประสบการณ์ ทำให้ได้มังคุดผิวมัน ถึง 80 % ของผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ ส่งผลต่อราคารับซื้อของผู้ค้าที่ให้ราคาสูง ไม่มีปัญหาด้านตลาดในประเทศและการส่งออก

มังคุดคุณภาพดี : มีตลาดรองรับ

จากความสำเร็จในการผลิตมังคุดผิวมัน ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด มีผู้ส่งออกติดต่อขอซื้อผลผลิตคุณภาพทั้งหมด ส่งขายประเทศจีน และบางส่วนได้มีผู้ค้าจากกรุงเทพฯมารับไป ขณะที่คุณสมชาย บุญก่อเกื้อ ได้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มผู้ผลผลิตมังคุด ไปออกร้านจำหน่ายตามงานต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง และกรมส่งเสริมการเกษตร  เป็นการประชาสัมพันธ์ผลผลิตมังคุดคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูล และมีโอกาสได้ซื้อผลผลิตคุณภาพไปรับประทาน  นอกจากนี้ยังจัดผลผลิตส่วนหนึ่ง ส่งห้างสรรพสินค้าใหญ่หลายแห่ง สำหรับการขายส่งมังคุดผิวมันทุกเกรด ราคาเฉลี่ยที่สวนปี 2555  อยู่ที่ 25 บาท/กก. ขณะที่ราคาขายของชาวสวนทั่วไป ราคาระหว่าง 8 – 12 บาท/กก. เมื่อหักต้นทุนแล้ว คุณสมชายมีกำไรจากการผลิตมังคุดผิวมันเป็นเงิน14,267บาท/ไร่ นับว่าเป็นชาวสวนมังคุดที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งที่เป็นแบบอย่างที่ดี

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสายตรงที่คุณสมชาย โทร. 081 – 3779536 หรือ 038 – 657178