น้ำแก่งกระจานมาแล้ว! เพชรบุรีเร่งกั้น 5 อำเภอ กันไหลเข้าเมือง อีก 7 วัน ทะเลหนุนซ้ำ

มวลน้ำเขื่อน แก่งกระจาน ไหลท่วมเมืองเพชร ระดมเสริมคันกั้นน้ำ เพิ่มเครื่องสูบน้ำ ผลักดันน้ำ สกัดกั้นไม่ให้เข้าเขตเมือง ระวังอีก 2-3 วัน น้ำจากเทือกเขาตะนาวศรีสมทบ ขณะที่ “จิสด้า” ชี้อีก 7 วัน น้ำทะเลหนุนซ้ำ กระหน่ำเพชรฯ อีกระลอก

แก่งกระจาน / “บิ๊กตู่”ไปตรวจน้ำเพชรบุรี
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะที่ จ.เพชรบุรี น้ำจากเขื่อนแก่งกระจานล้นและต้องเร่งระบายออกจนท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อนว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ ลงไปดูในพื้นที่ จากนั้นตนจะลงไปดู คาดว่ายังรับมือได้ แต่ไม่อยากบอกว่าต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือ 150 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติ จากการตรวจสอบเขื่อนพบยังแข็งแรงอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี วันที่ 8 ส.ค. เพื่อติดตามสถานการณ์ และรับสรุปการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเยี่ยมเยียนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หลังจากติดตามสถานการณ์น้ำ จ.เพชรบุรีแล้ว นายกฯ วางแผนจะลงพื้นที่ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร และ จ.บึงกาฬ เพราะน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบ

เสริมคันกั้น-ระดมเครื่องสูบ
ส่วน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ช่วงดึก วันที่ 5 ส.ค. นายกฯ ได้รับรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าน้ำไหลเข้าเขื่อนแก่งกระจานเฉลี่ย 245 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที แต่อัตราการระบายน้ำสูงสุดของสปิลเวย์ หรือทางระบายน้ำล้น อยู่ที่ 1,380 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที มากกว่า 5 เท่า ของปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน ดังนั้น จึงไม่ล้นสันเขื่อนแน่นอน

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ส่วนสถานการณ์บริเวณใต้เขื่อนแก่งกระจานนั้น ปริมาณน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมีน้อยมาก ยังรองรับน้ำได้อีก 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวัน กรมชลประทาน นำบทเรียนจากปี 2559 และ ปี 2560 มาใช้เตรียมการป้องกันน้ำท่วม อ.เมืองเพชรบุรี โดยเสริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรี และย้ายเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไปยังจุดเสี่ยง โดยเฉพาะจุดที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมทั้งได้พร่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าจะลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงไปได้มาก

ระวัง 2-3 วัน-น้ำเขาตะนาวศรี
ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า คาดการณ์ว่าช่วงบ่ายวันที่ 6 ส.ค. ปริมาณน้ำจะใกล้เคียงกับสปิลเวย์ จึงสั่งให้กรมชลประทานติดเครื่องระบายน้ำเพิ่มเติม เพราะต้องควบคุมระดับน้ำที่ออกจากเขื่อนแก่งกระจานก่อนลงไปที่เขื่อนเพชร เพื่อไม่ให้น้ำผ่านมากเกินไป โดยจะผลักดันน้ำผ่านคลองชลประทาน 2 ด้าน ออกทะเลให้มากที่สุด และได้รับรายงานว่าหากระบายน้ำได้ตามเป้า ปริมาณน้ำที่จะเข้าถึงตัวเมือง 50 เซนติเมตร แต่พื้นที่ลุ่มต่ำอาจสูงขึ้น แต่ไม่สูงขึ้นเป็นเมตร

รองนายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือ หากมีน้ำเข้ามาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ภายใน 2-3 วันนี้ จะส่งผลกระทบด้านตะวันตกของประเทศ เพราะน้ำมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำโขงที่เอ่อท่วม จ.สกล นคร และ จ.หนองคาย ดีขึ้น น้ำลดลง แต่พื้นที่ลุ่มต่ำใกล้แม่น้ำยังมีปัญหาหากแม่น้ำโขงสูง

3 ทัพ ระดมช่วยเมืองเพชร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการช่วยเหลือใน จ.เพชรบุรี นั้น ทุกเหล่าทัพระดมกำลัง พร้อมยุทโธปกรณ์เข้าช่วยเหลือ โดยกองทัพบกมอบหมายให้มณฑลทหารบกที่ 15 กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 จัดกำลังพล 300 นาย เข้าร่วมสนับสนุน รวมถึงแบ่งกำลังพลไปร่วมสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจชุมชน จัดส่งรถบรรทุกทหาร 15 คัน เรือท้องแบน 6 ลำ ชุดครัวสนาม ชุดแพทย์เคลื่อนที่ และกระสอบทราย 8,000 ใบ เข้าพื้นที่

ขณะที่กองทัพเรือลำเลียงเรือผลักดันน้ำ 20 ลำ กำลังพล 70 นาย ติดตั้งบริเวณปลายแม่น้ำเพชรบุรีเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ส่วนกองทัพอากาศสั่งการกองบิน 5 จ.ประจวบคีรีขันธ์ จัดชุดเคลื่อนที่เร็วร่วมประเมินสถานการณ์ ประสานการปฏิบัติกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยเกี่ยวข้อง พร้อมเตรียมกำลังพล 30 นาย และยุทโธปกรณ์ อาทิ รถบรรทุก เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำพร้อมปฏิบัติทันทีเมื่อได้รับการร้องขอ

เตือนกิจกรรมเที่ยวทางน้ำ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้กิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำที่มีอยู่จำนวนมากใกล้บริเวณเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ส่วนใหญ่งดให้บริการแล้ว ขณะเดียวกันเรื่องที่พักก็ตรวจสอบเส้นทางน้ำว่าจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ใดบ้าง กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวใดบ้าง เพื่อเตือนล่วงหน้าไม่ให้มีนักท่องเที่ยวต้องไปติดอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้น

รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าวต่อว่า ส่วนผลกระทบจากการยกเลิกการจองที่พักเพื่อการท่องเที่ยวนั้น ยังไม่ได้มาก ส่วนใหญ่โทรศัพท์เข้ามาสอบถามว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่เสี่ยงมีผลกระทบ และเข้าใจว่าเวลามีน้ำท่วมจะเป็นพื้นที่เฉพาะที่ท่วม ไม่ได้ท่วมทั่วไป และแหล่งท่องเที่ยวกลุ่มที่ไม่โดนท่วมนั้น ก็น่าจะมีมากกว่าพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม

เขื่อนแก่งกระจาน-น้ำล้นแล้ว
ที่กรมชลประทาน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ฟังสรุปสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ จากศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต โดยระบุว่า ขณะนี้ไทยไม่มีฝนตกหนัก แต่เมียนมาและลาวมีฝนตกหนัก และกินวงกว้าง โดยฝนที่ตกหนักในพม่าจะไหลลงมายังไทยลงเขื่อนแก่งกระจาน และกระทบน้ำในเขื่อนให้มีมาก และไหลลงท่วม จ.เพชรบุรี ส่วนฝนที่ประเทศลาวไหลลงแม่น้ำโขง ส่งผลให้ปริมาณน้ำโขงยกตัวสูงขึ้น กระทบจังหวัดริมฝั่งโขงที่อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมได้

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน ขณะนี้น้ำล้นระดับสปิลเวย์ หรือทางระบายน้ำล้นแล้ว น้ำจะไหลไปสู่เขื่อนเพชรบุรี ระยะทาง 60 ก.ม. ในเวลา 10-12 ชั่วโมง หลังจากนั้น น้ำจะเคลื่อนตัวไปสู่ตัวเมืองเพชรบุรี อาจใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง หรือช่วงเย็นวันที่ 7 ส.ค. นี้ ปริมาณน้ำในรอบนี้จะกระทบ 5 อำเภอ จ.เพชรบุรี คือ แก่งกระจาน ท่ายาง บ้านลาด เมืองเพชรบุรี และบ้านแหลม โดยกรมชลฯ มีแผนระบายน้ำและอพยพแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งเตือนประชาชนเรียบร้อยแล้ว

“จิสด้า”ชี้อีก 7 วัน-ทะเลหนุนซ้ำ
ส่วน นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กล่าวว่า ต้องจับตาสถานการณ์น้ำใน จ.เพชรบุรี อีก 7 วันข้างหน้า คือวันที่ 9-11 ส.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูง อาจเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในช่วงกลางคืน ประมาณ 3-4 ทุ่ม ดังนั้นหน่วยงานที่ต้องบริหารจัดการน้ำต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย สิ่งที่ต้องสังเกตคือ น้ำท่วม จ.เพชรบุรี รอบนี้ถือเป็นระลอกแรก เพราะปกติช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. จะเป็นฝนรอบแรก แต่ จ.เพชรบุรี น้ำก็เต็มเขื่อนแล้ว

“ช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. ปกติคือฝนระลอก 2 ซึ่งปกติประเทศไทยมีฝน 2 ระลอก ระลอก 2 จะหนักกว่าระลอกแรก ระลอก 2 อาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ จ.เพชรบุรี อีก การท่วมปีนี้ถือว่า 3 ปีติดแล้ว หากบริหารจัดการน้ำยังไม่หมด อาจท่วมยาวกว่าที่คิด เพราะปกติฝนรอบ 2 จะตกหนัก และนานกว่ารอบแรก เพราะเมื่อน้ำท่วม จ.เพชรบุรี เมื่อเดือนพ.ย.2560 นั่นคือระลอก 2 ที่ทำให้ จ.เพชรบุรี จมอยู่ในน้ำถึง 8 อำเภอ” ผอ. จิสด้า กล่าว

ปิดท่องเที่ยว”น้ำตกป่าละอู”
ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี นั้น ที่บริเวณสปิลเวย์ หรือทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี น้ำล้นสปิลเวย์แล้ว น้ำมีความสูงเหนือสันสปิลเวย์ 0.5 ซ.ม. เจ้าหน้าที่ชลประทานรื้อถอนท่อสูบน้ำขนาดเล็ก คงเหลือท่อสูบน้ำขนาดใหญ่ สำหรับระบายน้ำแบบกาลักน้ำ และเร่งติดตั้งเพิ่มอีก 1 ท่อ เพื่อเร่งระบายน้ำอีกช่องทาง ขณะที่ รีสอร์ตหลายแห่งที่ติดริมแม่น้ำเพชรบุรีได้รับผลกระทบ เนื่องจากนักท่องเที่ยวยกเลิกเกินครึ่ง และคาดว่าน้ำจะถึงเขื่อนเพชรในเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 6 ส.ค.นี้

นายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า ประกาศปิดบริการกางเต็นท์ทุกจุด และปิดท่องเที่ยวน้ำตกป่าละอู เป็นการชั่วคราว พร้อมกำชับให้หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ทุกหน่วย และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมอพยพ และเข้าช่วยเหลือชาวบ้าน

ร.พ.รับมือ-พร้อมอพยพคนไข้
ที่มณฑลทหารบกที่ 15 จ.เพชรบุรี พล.ต. สุรินทร์ นิลเหลือง ผบ.มทบ.15 ตรวจความพร้อมของกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย เตรียมรับมืออุทกภัย โดยจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มทบ.15 กำลังพล 150 นาย รถยนต์ทหารยกสูง รถผลิตน้ำดื่มสะอาด รถครัวผลิตอาหารเคลื่อนที่ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือในการช่วยเหลือต่างๆ มีความพร้อมเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

นพ.ชุมพล เดชะอำไพ ผอ.ร.พ. พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี กล่าวว่า เคยประสบปัญหาน้ำท่วมบริเวณโดยรอบ ร.พ. มาก่อน พบว่า จุดบริการคนไข้ที่น้ำท่วมถึงได้ คือแผนกเอกซเรย์ และหอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม จึงทำคันปูนยกสูงไว้โดยรอบป้องกันน้ำเข้า ส่วนน้ำที่ซึมผ่านเข้ามา ร.พ.มีสระหมือนแก้มลิงไว้รองรับน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ วางกระสอบทรายด้านหน้า ร.พ และเตรียมความพร้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

น้ำโขง ยังท่วม 10 จว. อีสาน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานนั้น นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จ.นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 12 อำเภอ ปัจจุบัน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น จ.มุกดาหาร น้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 7 อำเภอ จ.อำนาจเจริญ น้ำในลำน้ำโขงล้นตลิ่ง 5 อำเภอ ปัจจุบัน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ จ.อุบลราชธานี น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง 6 อำเภอ ปัจจุบัน ระดับน้ำลดลง จ.บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง 5 อำเภอ ปัจจุบัน ระดับน้ำลดลง

อธิบดี ปภ. กล่าวต่อว่า จ.สกลนคร น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ประชาชนได้รับผล กระทบ 146 ครัวเรือน 473 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว จ.ร้อยเอ็ด น้ำไหลเข้าท่วม 2 อำเภอ คือ เสลภูมิ และโพนทอง จ.กาฬสินธุ์ น้ำท่วม 5 อำเภอ ปัจจุบัน ระดับน้ำลดลง จ.ยโสธร น้ำท่วม 5 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำในลุ่มน้ำเซบาย และลุ่มน้ำชีมีแนวโน้มลดลง และจ.หนองคาย ท่วม อ.ท่าบ่อ รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน

น้ำอูนล้น-เขาแหลมเพิ่มระบาย
ส่วนสถานการณ์เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร นั้น นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 532 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 102 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่มีน้ำล้นตลิ่ง จึงยังไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนกรณีน้ำโขงหนุนสูง ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ และมีฝนตกเพิ่มเติม อาจส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในบริเวณริมตลิ่งใน อ.พังโคน อ.พรรณานิคม อ.เมืองสกลนคร และ อ.กุสุมาลย์ แม้สถานการณ์จะปลอดภัย แต่กรมชลฯ ต้องเร่งระบายน้ำ เพื่อรองรับฝนรอบใหม่

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณ หรือเขื่อนเขาแหลม จ.กาญจนบุรี เพิ่มระบายน้ำ แต่ยังไม่เพิ่มการระบายน้ำผ่านทางประตูระบายน้ำฉุกเฉิน เนื่องจากยังมีความจุ หรือช่องว่างรองรับน้ำได้อีก ปริมาณน้ำที่ปล่อย ออกมาส่งผลกระทบกับรีสอร์ต พื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง หรือพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำแควน้อย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งไปยัง ผวจ.กาญจนบุรี และประชาชนก่อนเพิ่มการระบาย 2 วัน ล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมและขนย้ายสิ่งของให้พ้นน้ำแล้ว

“กาญจน์” เตือน 5 อำเภอ ริมน้ำ
ขณะที่ นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผวจ.กาญจนบุรี มีหนังสือด่วนที่สุดถึงนายอำเภอทุกแห่งว่า ในช่วงวันที่ 5-9 ส.ค. จะมีฝนตก หนักเพิ่มขึ้นทุกภาค ปริมาณฝนสะสมที่เพิ่มมากขึ้นอาจเกิดภาวะอุทกภัย และน้ำท่วมฉับพลันบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ ประกอบด้วย อ.ศรีสวัสดิ์ ทองผาภูมิ ไทรโยค เมืองกาญจนบุรี ท่าม่วง และท่ามะกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สภาพแหล่งท่องเที่ยวเกาะกลางแม่น้ำแม่กลอง หรือสะดือแม่กลอง บริเวณริมเขื่อนเขตเทศบาลเมืองโพธาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้รับความเสียหายทั้งหมด หลังถูกมวลน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนต้นน้ำใน จ.กาญจนบุรี เข้าท่วมสูง เจ้าหน้าที่ต้องนำเรือดัดแปลงทำเป็นแพข้ามแม่น้ำมาผูกไว้อยู่บนเกาะ เพื่อไม่ให้ลอยหายไปกับกระแส น้ำที่ไหลแรง โดยปริมาณน้ำขณะนี้มีความสูงเท่ากับระดับถนนชั้นล่างของเขื่อน และเอ่อล้นเข้ามาท่วมถนนไปแล้วครึ่งหนึ่ง

พร่องน้ำ ไม่ให้เข้าเมืองเพชร
ต่อมาช่วงบ่าย วันเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัย รองนายกฯ รัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสมเกียรติ เลขาฯ สทนช. และ นายทองเปลว อธิบดีกรมชล ประทาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ติดตามสถานการณ์การระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน พร้อมเพิ่มเติมมาตรการต่างๆ ให้เกิดความสมบูรณ์ ลดผลกระทบ ที่เกิดกับประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด

นายสมเกียรติ เลขาฯ สทนช. กล่าวว่า รองนายกฯ สั่งการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ โดยเร่งพร่องน้ำในลำน้ำต่างๆ เพื่อรองรับน้ำใหม่ ระดมเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำผันน้ำออกระบบชลประทาน หน่วงน้ำไม่ให้ลงแม่น้ำเพชรบุรี โดยเฉพาะไม่ให้ผ่านตัวเมืองเพชรบุรี เสริมคันกั้นน้ำลุ่มต่ำ และจำกัดพื้นที่น้ำท่วมให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด แจ้งเตือนทำความเข้าใจ ไม่ให้ตระหนก และพร้อมให้การช่วยเหลือในทันที