ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่าการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนดังกล่าว เราใช้ 3 ช่องทาง คือ ประตูปิด-เปิดธรรมดา ช่องทางน้ำล้น (สปิลเวย์) และใช้เครื่องสูบน้ำออก โดยน้ำทั้งหมดจะลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมวลน้ำใหญ่กำลังเคลื่อนตัวลงมา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แยกมวลน้ำดังกล่าวให้ออกไปทางซ้ายและขวาของแม่น้ำเพชรบุรี ส่วนหนึ่งใช้เครื่องสูบน้ำเป็นทางลัดสู่อ่าวไทย อีกส่วนกำลังดูพื้นที่ว่างที่ยังไม่ทำเกษตรให้น้ำลงพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่ทำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องสูบน้ำและการผันน้ำออกทางซ้ายขวา ทำให้น้ำที่จะลงไปสู่ตัวเมืองเพชรบุรีลงไปช้าและมีปริมาณน้อยลง จึงมีเวลาให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมความพร้อม
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ในส่วนราชการทั้งระดับพื้นที่และส่วนกลางนั้น จะพยายามเร่งระบายน้ำตามวิธีดังกล่าวให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในเมืองเพชรบุรีให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ ตนได้รับรายงานล่าสุด เมื่อเวลา 07.00 น. ระดับน้ำยังอยู่ในระดับล่าง ไม่ขึ้นมาริมตลิ่ง ซึ่งแผนการบริหารจัดการน้ำก็ยังเป็นไปตามที่ตนกล่าวเอาไว้อยู่ แต่ปัจจัยที่เรายังไม่กล่าวถึงคือ ฝนที่จะตกลงมาใหม่หรือไม่ แต่ตลอด 24 ชม. ที่ผ่านมายังไม่มีฝนในปริมาณมากตกลงมา
เมื่อถามว่า มีแผนรองรับในกรณีที่มีฝนตกหนักหรือไม่ นายกฤษฎา กล่าวว่า ต้องดูปริมาณน้ำก่อน เราคาดการณ์ว่ามีปริมาณน้ำไหลอยู่ที่ประมาณ 70-80 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ถ้าขึ้นมา 200-300 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำในเมือง จ.เพชรบุรี น้ำท่วม แต่จะไม่ท่วมกระจายเหมือนเมื่อก่อน เพราะเรามีผนังกั้น และเครื่องสูบน้ำคอยรองรับไว้จากกรมชลประทาน 35 เครื่อง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มสูบน้ำออกไปแล้ว
เมื่อถามถึงกำหนดการเดินทางไปตรวจการระบายน้ำที่ จ.เพชรบุรี ของนายกรัฐมนตรี นายกฤษฎา ยืนยันว่า นายกฯ ยังมีกำหนดการเดิมเพื่อไปเยี่ยมประชาชน แม้ว่าน้ำจะยังไม่ท่วม โดยจะไปดูการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและหัวหน้าส่วนราชการได้เตรียมการไว้อย่างดีแล้ว
เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี เสี่ยงเขื่อนแตก นายกฤษฎา กล่าวว่า เขื่อนดังกล่าวใช้หลักการระบายน้ำแบบเดียวกัน ส่วนพื้นที่อื่นตามลุ่มแม่น้ำโขง ที่ตอนนี้ก็ประสบปัญหาเช่นกันนั้น ขณะนี้ยังบริหารจัดการได้ แต่ด้วยน้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณที่มาก ทำให้ระบายได้ช้า ส่วนเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ยังคงรับน้ำได้อยู่ และยืนยันน้ำจะไม่ท่วมแบบปี 2554 แน่นอน