รักษ์น้ำจากภูผา สู่มหานที จิตอาสาสร้างบ้านปลา เอสซีจี

ปัจจุบัน ทะเลหลายที่เต็มไปด้วยขยะ จากผู้คนที่ไปเที่ยวต่างคนต่างทิ้งโดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลหรือความสะอาดของริมชายหาด สัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลทุกวันนี้ก็มีจำนวนลดลงมาก เพราะถูกจับนำไปบริโภคและไม่มีการทิ้งช่วงให้ขยายพันธุ์เพิ่มแต่อย่างใด น้อยครั้งที่จะมีแกนนำพากันเก็บขยะเหล่านั้น แต่ก็ยังมีคนทิ้งเพิ่มขึ้นไปอีก ครั้งนี้จึงมีหน่วยงานใหญ่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องของการเพิ่มที่อยู่อาศัยของสัตว์ใต้น้ำ เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์ใต้ท้องทะเล เพิ่มจำนวนสัตว์น้ำและฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้ทรัพยากรชายฝั่งทะเล พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน

คุณชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

คุณชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี ได้ร่วมกับภาครัฐและชุมชนบริการจัดการน้ำในจังหวัดระยองตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยวิธีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เขายายดา จนถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นโครงการบ้านปลา หัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่การวางบ้านปลาหรือการสร้างฝายเท่านั้น แต่เป็นความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้านที่ช่วยกันสร้างบ้านปลาและดูแลพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พลังของจิตอาสาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบันมีจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมสร้างบ้านปลาแล้วกว่า 10,000 คน

ขณะนี้ เอสซีจี ได้พัฒนาการวางบ้านปลาแบบใหม่ คือวางครั้งเดียวเป็นกลุ่ม 10 หลัง โดยผูกเข้าด้วยกันตั้งแต่อยู่บนบกและใช้แพจากทุ่นพลาสติกเพื่อขนส่งบ้านปลาทั้งหมดไปในบริเวณที่ต้องการวางบ้านปลา ระบบนี้ช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ในการวางบ้านปลา รวมถึงหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการวางบ้านปลาแบบเดิม นอกจากนี้ เอสซีจี กำลังอยู่ในขั้นตอนทดลองนำขยะพลาสติกจากทะเลและชุมชนมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลา ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกด้วย

คุณธีรวัฒน์ สุดสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า วิถีประมงเรือเล็กพื้นบ้านเป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานและถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดระยองและภาคอุตสาหกรรม คือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด การได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของทั้งสองฝ่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างเช่นวันนี้ ทำให้ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งและเชื่อว่าโครงการบ้านปลา เอสซีจี จะเป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยผลักดันการพัฒนาจังหวัดระยองให้ประสบความสำเร็จ ตามวิสัยทัศน์ เมืองนวัตกรรมก้าวหน้า พัฒนาอย่างสมดุล บนพื้นฐานความพอเพียง สามารถสนับสนุนการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนควบคู่กับการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมได้เกื้อกูลกันอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ คุณไมตรี รอดพ้น ประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อำเภอเมือง และอำเภอบ้านฉาง สามัคคี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมโครงการบ้านปลานอกจากจะทำให้เรามีส่วนช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศของท้องทะเลแล้ว ยังทำให้เกิดความสามัคคีกันในกลุ่มชาวประมง เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง พวกเรามุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาและวิถีในการทำประมงเชิงอนุรักษ์นี้ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อรักษาอาชีพประมงพื้นบ้านให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป

บ้านปลารีไซเคิล

ปัจจุบัน โครงการบ้านปลา เอสซีจี ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 และได้จัดวางบ้านปลาสู่ใต้ท้องทะเลไปแล้วกว่า 1,400 หลัง ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และจันทบุรี เกิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 35 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้านช่วยกันรักษาและดูแลให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สำหรับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนและเจริญพันธุ์ ทั้งนี้ การสร้างบ้านปลาของ เอสซีจี นี้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมกลุ่มประมงพื้นบ้านในบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภายในปี 2563 โดยในปีหน้าจะจัดทำบ้านปลาเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 400 หลัง ขณะนี้ทาง เอสซีจี กำลังมีนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา นั้นก็คือ “บ้านปลารีไซเคิล” ตอนนี้ได้สูตรในการผสมมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การนำไปวางในทะเลทดลองจริง แล้วติดตามว่ามีผลดี ผลเสียอย่างไร

รูปร่างเหมือนบ้านปลาทั่วไป แต่ความคงทนของตัวบ้านปลารีไซเคิลนั้น อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ต้องตรวจสอบกันต่อไป ส่วนผสมของบ้านปลารีไซเคิลนั้นคงไม่คล้ายกับบ้านปลาตัวเดิม เพราะมันมาจากขยะ พอได้ขยะมาแล้วเราก็มีการนำมาคัดแยกพลาสติกที่ใกล้เคียงกับ PE100 ถ้าเป็นไปได้ สมมติว่ามีค่าใกล้เคียงกับ PE100 ก็สามารถผสมในปริมาณที่มากขึ้น สัดส่วนก็เยอะขึ้น หากไม่มีค่าที่ใกล้เคียงกันอัตราส่วนผสมก็อาจจะน้อยลง เช่น 10-30 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับการทดลองว่าเป็นอย่างไร

หากท่านใดสนใจ หรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องของบ้านปลา ติดต่อ คุณเอกภพ พันธุรัตน์ อีเมล : eakkapop.panthurat@ogilvy โทร. (089) 676-6234, (062) 614-5692, (080) 227-1717