“ปลากุเลาเค็ม” สินค้าดีของชุมชนบางตาวา หนองจิก ปัตตานี

“ตำบลบางตาวา” เป็นชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งของอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ชาวตำบลบางตาวามีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำ เพราะมีทำเลที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวปัตตานี มีแพลงตอนเป็นอาหารปลาจำนวนมากมาย ส่งผลให้ปลาชุกชุมตามไปด้วย กลายเป็นแหล่งเพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจต่างๆ มากมาย จนได้รับการขนานนามว่า “มดลูกทะเล”  

ชาวตำบลบางตาวาจำนวนมากยึดอาชีพประมงชายฝั่งเป็นรายได้หลักเลี้ยงดูครอบครัว พวกเขารีบตื่นก่อนตะวันขึ้น เพื่อล่องเรือประมงออกไปจับปลา ตั้งแต่ ตี 4 ตี 5 ช่วงสายๆ ก็นำปลาทะเลสดๆ เช่น ปลาอินทรี ปลากุเลา ปลาหลังเขียว ปลากระเบน ปลาหมึกกล้วย ฯลฯ ไปส่งขายที่ตลาดท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง

“กุเลา” ราชาแห่งปลาเค็ม…สุดยอดความอร่อย

คุณยุพา อ่อนรักษ์ (คนกลาง) นางแวเมาะ ปูเตะ (ขวามือ)

ปลากุเลา เป็นปลาน้ำกร่อย รูปร่างคล้ายปลายี่สก มักหากินแพลงตอนอยู่ตามหน้าดินโคลนพบได้ทั่วไปแถบฝั่งทะเลอ่าวไทย ปลากุเลามีรูปร่างเรียวยาว ลักษณะลำตัวแบนค่อนข้างหนา หัวค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้น สันหลังสีเทาปนเขียว ครีบหลังและครีบหางมีรอยแต้มสีเทาที่ปลาย ครีบอื่นๆ มีสีเหลือง

ปลากุเลา มีลักษณะเนื้อนุ่ม นิยมแปรรูปเป็นปลาเค็ม เพราะมีรสชาติอร่อยมาก จึงถูกยกย่องว่าเป็น “ราชาแห่งปลาเค็ม” ที่ผ่านมา “ปลากุเลาตากใบ” สินค้าโอท็อป ระดับ 5 ดาว ของอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดความอร่อยของปลากุเลาเค็มที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย

แปรวิกฤตเป็นโอกาส   

เดิมทีชาวประมงบางตาวา ส่งปลากุเลาสดขายให้อำเภอตากใบ เพื่อเป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็น “ปลากุเลาเค็ม” แต่ปี 2560 ผู้ซื้อปลาในพื้นที่ตากใบชะลอการสั่งซื้อปลากุเลาสดจากบางตาวา ทำให้ชาวบ้านขายปลาไม่ได้ พวกเขาจึงปรับตัวสู้วิกฤตโดยหันมาแปรรูป “ปลากุเลาเค็มตากแห้ง” ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยวิธีกางมุ้ง ไม่ใช้สารเคมีเพื่อการรักษาสภาพปลา ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่เจือสี ไม่แต่งกลิ่นสังเคราะห์ และใช้เกลือหวานปัตตานีเป็นส่วนผสมหลักในการทำเค็ม สินค้าปลากุเลาเค็ม มีคุณภาพดี รสชาติอร่อย ถูกใจผู้บริโภค จึงขายดิบขายดี จนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด

ปลากุเลาสด

เมื่อตลาดมีความต้องการใช้ปลากุเลาสดสำหรับแปรรูปมากขึ้น ส่งผลให้ราคาปลากุเลาสด จากเดิมที่เคยซื้อขายในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ก็ปรับราคาขายสูงขึ้นเป็น 250-320 บาท ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันชาวบ้านจำหน่ายปลากุเลาเค็มในราคาขายที่กิโลกรัมละ 1,100 บาท แม่ค้านิยมซื้อปลากุเลาเค็มจากชุมชนแห่งนี้ไปขายทำกำไร ในราคากิโลกรัมละ 1,600-1,700 บาท ปัจจุบันสินค้าปลากุเลาเค็มของชุมชนแห่งนี้มีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วประเทศ และส่งออกไปขายที่ประเทศมาเลเซีย ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนประมงบ้านบางตาวาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

นางแวเมาะ ปูเตะ ซึ่งหลายคนเรียกกันติดปากว่า “เจ๊เมาะห์” แกนนำกลุ่มแม่บ้านศรีบารูบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เบอร์โทรศัพท์ (093) 604-9786 เล่าให้ฟังว่า ปลากุเลา เป็นปลาทะเลพื้นบ้านของอำเภอหนองจิก เดิมส่งปลากุเลาสดขายให้กับผู้แปรรูปปลาในพื้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท แต่ปีที่แล้วลูกค้าปฏิเสธการรับซื้อปลากุเลาสด อ้างว่าสต๊อกเต็ม ทำให้ชาวบ้านขายปลาสดไม่ได้

ปลากุเลาเค็ม สินค้าตัวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม

เมื่อช่วงต้นปี 2561 ครอบครัวชาวประมงในตำบลบางตาวา ประมาณ 10 ครอบครัว ได้หันมารวมกลุ่ม ในชื่อ “กลุ่มแม่บ้านศรีบารูบางตาวา” เพื่อร่วมกันแปรรูปปลากุเลาเค็ม ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม โดย “กศน. อำเภอหนองจิก” เข้ามาช่วยสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปปลาเค็มให้กับกลุ่มแม่บ้านศรีบารูบางตาวา อย่างไรก็ตาม กลุ่มแม่บ้านฯ ต้องเสียเวลาและงบประมาณจำนวนมาก ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือน ในการลองผิดลองถูกกว่าจะได้สูตรการผลิตปลากุเลาเค็มที่มีรสชาติอร่อยลงตัวในวันนี้

ขั้นตอนการแปรรูป        

ปลากุเลาสดตัวเล็กที่จับจากท้องทะเล จะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณตัวละ 6 ขีด เมื่อนำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ก็จะได้ปลากุเลาเค็มแสนอร่อย ที่มีน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 3 ขีดเท่านั้น ส่วนปลากุเลาตัวใหญ่ เมื่อนำมาแปรรูปจะมีน้ำหนักตัวกว่า 1 กิโลกรัม ปลาทุกขนาดจะขายในราคาเดียวกันคือ กิโลกรัมละ 1,100 บาท

ไม้เนื้อแข็งที่ใช้นวดปลากุเลาเค็มทุกวัน

เจ๊เมาะห์ เล่าถึงขั้นตอนการแปรรูปปลาเค็มว่า ทางกลุ่มจะรับซื้อปลากุเลาสดจากชาวประมงในราคาตลาด ก่อนนำมาผ่านกระบวนการแปรรูป โดยเริ่มจากนำปลากุเลาสดมาขอดเกล็ดออก ผ่าท้องปลา ควักไส้และเครื่องในออกให้หมด หลังจากนั้น ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำทะเล เพื่อรักษาคุณภาพเนื้อปลา หมักโดยใช้เกลือหวานปัตตานี ที่มีรสชาติไม่เค็มจัด ประมาณ 2 คืน ก่อนนำปลากุเลาเค็มไปตากในตู้กางมุ้ง กันแมลงต่างๆ นาน 2 สัปดาห์ เพื่อผึ่งแดดผึ่งลม

เวลาตากปลาในตู้กางมุ้ง ตัวปลากุเลาเค็มมักจะมีลักษณะตัวบวมจากลมและน้ำในตัวปลานั้น กลุ่มแม่บ้านฯ จึงนำปลากุเลามานวดด้วยไม้เนื้อแข็งทุกวัน เพื่อรีดน้ำและลมออกจากเนื้อปลา จนเนื้อปลาแห้งสนิท เนื้อแน่น และมีรสชาติอร่อยได้ที่ จึงค่อยนำมาจำหน่ายให้กับลูกค้า ปลากุเลาเค็มหากเก็บไว้ในอุณหภูมิตู้เย็น สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานข้ามปี ก็ยังมีรสชาติ…หร่อยอย่างแรง

ปลากุเลาเค็มกางมุ้ง

“ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมนำปลากุเลาเค็มไปทำอาหารหลากหลายเมนู เช่น ยำปลากุเลาเค็ม บีบน้ำมะนาว ใส่หัวหอมซอย เติมรสเผ็ดด้วยพริกขี้หนูสวน กินกับข้าวต้มร้อน จะได้รสชาติอร่อยเด็ดที่หลายคนติดใจ กินได้ไม่รู้เบื่อ หากนำปลากุเลาเค็มไปทอดแล้วนำมากินกับข้าวเหนียว ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้บริโภค เพราะได้อร่อยกับรสชาตินุ่ม ฟู ของเนื้อปลากุเลาที่ละลายในปาก เป็นอีกหนึ่งเมนูที่อยากท้าให้ลองพิสูจน์ความอร่อยของปลากุเลาเค็มบ้านบางตาวา” เจ๊เมาะหกล่าว

นอกจากปลากุเลาเค็ม ซึ่งเป็นสินค้าเด่นขายดีของกลุ่มแม่บ้านฯ แห่งนี้แล้ว พวกเขายังรวมกลุ่มกันแปรรูปปลาในรูปแบบต่างๆ เช่น ปลาอินทรีแช่น้ำมันบรรจุขวด นำปลาหลังเขียวมาแปรรูปเป็นปลาหวาน ฯลฯ เมื่อถามถึงกลุ่มลูกค้าหลักในขณะนี้ ก็ได้รับคำตอบว่า กระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น ตลาดดอนเมือง กรุงเทพฯ ส่งสินค้ามาขายเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ ยังเปิดขายสินค้าออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก และนำสินค้าออกขายในงานแสดงสินค้าต่างๆ ตามคำแนะนำของ กศน. อำเภอหนองจิก และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ

กศน. อำเภอหนองจิก

อบรมอาชีพเสริมรายได้ชุมชน

คุณยุพา อ่อนรักษ์ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอหนองจิก กล่าวเพิ่มเติมว่า นางสาวราฮาน่า แวฮามะ ครู กศน. ประจำตำบลบางตาวา เห็นว่ากลุ่มแม่บ้านศรีบารูบางตาวา ประสบปัญหาขาดแคลนรายได้ระหว่างรอการแปรรูปปลาเค็ม ทาง กศน. อำเภอหนองจิก จึงจัดอบรมความรู้เรื่องการแปรรูปปลาหวาน เพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่กลุ่มแม่บ้านฯ อีกทางหนึ่ง และแนะนำให้ชาวบ้านนำสินค้าปลาแปรรูปไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อขยายช่องทางการตลาด  ขณะเดียวกันก็ประสานกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจัดหาเงินทุนหมุนเวียนเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มแม่บ้านฯ แห่งนี้ในอนาคต

อาชีพประมงชายฝั่ง รายได้หลักของชาวอำเภอหนองจิก

ปัจจุบัน ปลากุเลาเค็ม อำเภอหนองจิก กลายเป็นสินค้าเด่นของจังหวัด เข้าทำนอง “คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ” เพราะเป็นสินค้าที่มีราคาแพง รสชาติอร่อยและหาซื้อได้ยาก จึงกลายเป็นสินค้าเด่นที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อติดมือกลับบ้านไปเพื่อเป็นของขวัญของฝากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ กศน. อำเภอหนองจิก เชิญชวนคนไทยและนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนจังหวัดปัตตานี พร้อมชิมรสชาติความอร่อยของ ปลากุเลาเค็ม ได้ที่ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี ซึ่งนำปลากุเลาเค็มมาปรุงเป็นอาหารหลากหลายเมนู เช่น ข้าวผัดปลากุเลาเค็ม ไก่สับทอดมันปลากุเลาเค็ม สปาเกตตีปลากุเลาเค็ม หลนปลากุเลาเค็มผักสด คะน้าปลากุเลาเค็ม ผัดผักบุ้งปลากุเลาเค็ม กุ้งสับผัดปลากุเลาเค็ม และยำปลากุเลาเค็มทอด ฯลฯ ได้ทุกวัน เชื่อว่าทุกท่านจะต้องหลงเสน่ห์เมนูเลิศรสของปลากุเลาเค็มเมืองปัตตานีอย่างแน่นอน

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 23 ก.พ. 2019