กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือ กระทรวงศึกษาฯ ร่วมขับเคลื่อนนำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ผลงานนักเรียนอาชีวศึกษาสู่การใช้งานจริง สร้างความเข็มแข็งเศรษฐกิจพื้นที่

พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช. กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในงานขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมภาคเหนือ ที่วิทยาลัยเทคนิคลำพูน จ.ลำพูน ว่า ตามนโยบายเดินหน้า “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ ‘เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม’ (Value–Based Economy) ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า แต่ละปีจะมีผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาในสถานศึกษา สังกัด สอศ. กว่า 910 แห่ง สร้างสรรค์ขึ้นกว่า 7,000 ผลงาน

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช. กระทรวงศึกษาธิการ

และหลายผลงานสามารถต่อยอดสู่การใช้งานได้จริงในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ที่ผ่านมาได้จัดโครงการไปแล้วในพื้นที่ภาคตะวันออก และ EEC ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน

และครั้งนี้จัดขึ้นที่ภาคเหนือ มีผลงานมาแสดงทั้งสิ้น 170 ผลงาน มีการเจรจาจับคู่ผลงานสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษากับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาครัฐ และภาคการเกษตร โดยเจรจาเพื่อซื้อ จำนวน 24 ผลงาน ให้คำแนะนำเพิ่มเติมแล้วจะซื้อ 17 ผลงาน ให้โจทย์ใหม่นักเรียนอาชีวศึกษาในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อที่จะซื้อ 7 ผลงาน และให้คำแนะนำและช่วยเป็นที่ปรึกษาเพื่อการต่อยอด จำนวน 122 ผลงาน และครั้งหน้าจัดขึ้น ระหว่าง วันที่ 18 – 20 สิงหาคม ในพื้นที่ภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ด้าน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีความยินดี และพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากของประเทศ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมฯ ดูแลสหกรณ์ทุกประเภท มีสหกรณ์ทั่วประเทศ กว่า 8,000 สหกรณ์ มีสมาชิกราว 12 ล้านคน มีปริมาณธุรกิจรวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท

ซึ่งสหกรณ์เป็นกลไกที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะต่อประชาชนฐานรากในการประกอบอาชีพ หากแต่ละภาคส่วนมีการร่วมมือร่วมใจตามแนวทางประชารัฐ ก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมสนับสนุนสหกรณ์และสมาชิกในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ทั้งนี้สหกรณ์ถือเป็นสถาบันหนึ่งที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ที่สามารถเปิดให้นักเรียน ครู และบุคลากรอาชีวศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้จากการใช้งานในพื้นที่จริง ศึกษาความต้องการของสมาชิก ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการคิด สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างแท้จริง การสนับสนุนสิ่งประดิษฐ์ผลงานนักเรียน นักศึกษา ยังเป็นการร่วมสร้างสรรค์การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย