เผยแพร่ |
---|
กรมวิชาการเกษตรสรุป 4 มาตรการจำกัดการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เตรียมเสนอ คกก.วัตถุอันตรายภายใน 60 วัน พร้อมกำหนดให้เกษตรกรผู้ใช้สารต้องผ่านการอบรมการใช้ที่ถูกต้องและมีหลักฐานทะเบียนเกษตรกรก่อนซื้อ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพิจารณามาตรการ “จำกัด” การใช้ 3 วัตถุอันตราย ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายใน 60 วัน
ล่าสุดนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรสรุปข้อคิดเห็นที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาทบทวนปรับปรุงร่างแผนการกำหนดมาตรการดังกล่าวให้เหมาะสม และครอบคลุมข้อคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการประชุม แล้วเสนอในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรมครั้งต่อไป
นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมวิชาการเกษตรสรุปมาตรการจำกัดการใช้ 3 สาร 4 ข้อ คือ 1.กำหนดสถานที่จำหน่าย ให้จำหน่ายสารทั้ง 3 ชนิด ผู้ประกอบการต้องได้รับใบอนุญาตจำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องป้องกัน และเครื่องพ่นสารเคมีเฉพาะสำหรับสารทั้ง 3 ชนิดด้วย พร้อมทั้งจัดวางสารทั้ง 3 ชนิดแยกจากวัตถุอันตรายชนิดอื่น
2.ใช้สารพาราควอตและไกลโฟเซตในการปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลเท่านั้น 3.ให้ใช้สารคลอร์ไพริฟอสในการปลูกไม้ผล (เพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้น) ไม้ดอกและพืชไร่เท่านั้น และ 4.ไม่ให้ใช้สารทั้ง 3 ชนิดในพื้นที่ปลูกพืชผัก สมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกอล์ฟ บ้านเรือน
สำหรับผู้ประกอบการต้องแจ้งการนำเข้า ส่งออก ผลิต และจำหน่ายอย่างละเอียด เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาต และกำหนดปริมาณวัตถุอันตรายที่พนักงาน เจ้าหน้าที่จะอนุญาต ตลอดเส้นทางของวัตถุอันตรายเป็นข้อมูลให้สารวัตรเกษตรในการตรวจสอบสต๊อกของผู้ผลิต
ส่วนเกษตรกรกำหนดให้ผู้ใช้ปฏิบัติโดยเกษตรกรต้องได้รับการอบรม และทดสอบว่ามีความรู้และความสามารถในการใช้สารที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ ขออนุญาตครอบครองสารทั้ง 3 ชนิดเพื่อใช้ พร้อมทั้งซื้อสารจากร้านจำหน่าย ปัจจัยการผลิตที่ได้มาตรฐาน และได้รับใบอนุญาตโดยต้องแสดงหลักฐานทะเบียนเกษตรกร ผู้รับจ้างพ่นสารต้องได้รับการอบรม ขออนุญาตมีไว้ในครอบครองเพื่อรับจ้างพ่นสาร และได้รับการขึ้นทะเบียนผู้รับจ้างพ่นสารทั้ง 3 ชนิด
ทั้งหมดนี้จะมีการรวบรวมแบบสอบถามและความคิดเห็นตามประเด็นมาตรการต่าง ๆ และประชุมคณะทำงานทบทวนเนื้อหาสาระ รวมถึงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยมีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 19 ก.ค. 2561
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์