คาดกุ้งไทย ผลิตได้ 2.5 แสนตัน เร่งลงเลี้ยงล็อตใหญ่หนีมรสุม

ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมไทยปีนี้ส่อเค้าวูบจาก 3 แสนตัน เหลือเพียง 2.5 แสนตัน หลังกุ้งราคาตกวูบช่วงปลายเมษายน ทำให้เกษตรกรลดการเลี้ยงลงมาก เผยครึ่งปีแรกมีการแจ้งผลผลิตกุ้งที่จำหน่ายได้แก่กรมประมงเพียง 1.2 แสนตัน “สมชาย ฤกษ์โภคี” ระบุครึ่งปีหลังผลผลิตจะน้อยกว่าครึ่งปีแรกจากฝนหนักและพายุมรสุม

นายสมชาย ฤกษ์โภคี อุปนายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์กุ้งขาวแวนนาไมของไทยในช่วงนี้ว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเกษตรกรได้ลงเลี้ยงลูกกุ้งกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีแหล่งเลี้ยงกุ้งใหญ่ที่สุดของประเทศลงเลี้ยงเกือบ 100% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา เนื่องจากกุ้งราคาดีขึ้น ในขณะที่ลูกกุ้งขาดแคลน เพราะ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มีนโยบายในการผลิตลูกกุ้งให้พอดีกับการเลี้ยง

คาดว่าปีนี้การผลิตกุ้งของไทยจะได้ประมาณ 2.5 แสนตัน เท่านั้น เทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อต้นปีที่ระดับ 3 แสนตันบวกลบ โดยครึ่งปีแรกนี้มีการแจ้งใบกำกับการจำหน่ายกุ้งที่จับได้ (MD) เพียง 1.2 แสนตันเศษ ครึ่งปีหลังนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะเลี้ยงน้อยกว่าครึ่งปีแรกอยู่แล้ว เนื่องจากฝนตกมากทั่วประเทศกับพายุมรสุมช่วงท้ายปีในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม ที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้งในจังหวัดใหญ่ฝั่งอ่าวไทย เช่น สุราษฎร์ธานี ฝั่งอันดามันที่จังหวัดตรัง หรือแม้แต่ภาคตะวันออก ที่จังหวัดตราด อีกทั้งปัญหาโรคระบาดกุ้งยังไม่หมดไป โรคไวรัสตัวแดงดวงขาวยังพอป้องกันได้ แต่โรคขี้ขาวที่กระจายทั่วไปในแหล่งเลี้ยงทั่วประเทศยังป้องกันลำบาก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกันยายนนี้ที่กุ้งจะออกสู่ตลาดล็อตใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อราคากุ้งบ้าง แต่ความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้นและจีนเข้ามาแย่งซื้อจะช่วยดึงราคากุ้งได้ระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ จากการที่กุ้งราคาตกในปลายเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรเลี้ยงน้อยลง ราคากุ้งจึงฟื้นตัวกลับมาในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา

“ทางห้องเย็นและโรงงานแปรรูปกุ้งส่งออกคงกลัวเสียค่าโง่ซื้อกุ้งแพง จึงทุบราคากุ้งลงมารุนแรงในปลายเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะผลผลิตทั่วโลกล้นตลาดและราคาตกต่ำหนัก แทนที่จะทยอยลดราคารับซื้อ เกษตรกรจะได้ไม่ตกใจลดการเลี้ยงลง และขณะนี้อินเดียมีปัญหาเรื่องโรคกุ้งตามมา เนื่องจากเกษตรกรอินเดียก็ขาดทุนจากราคากุ้งตกต่ำจึงบำรุงดูแลการเลี้ยงไม่ทั่วถึง เวียดนามที่เลี้ยงแล้วขาดทุนเหมือนไทยช่วงที่ผ่านมาก็เลี้ยงน้อยลงเหมือนไทย ช่วงนี้ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปของไทยต้องแย่งซื้อผลผลิตกุ้งภายในประเทศมากขึ้น เห็นได้จากโครงการประชารัฐรับซื้อกุ้ง 1 หมื่นตัน ในราคาประกัน รับซื้อได้เพียง 1,000 ตัน เท่านั้น สถานการณ์ในขณะนี้จึงแตกต่างไปจาก 15 ปีที่แล้ว ที่เกษตรกรต้องพึ่งห้องเย็นเท่านั้น ดังนั้น ห้องเย็นต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่หันมาจับคู่เป็นพันธมิตรการค้ากับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงให้มากขึ้น”

อนึ่ง กุ้งขาวราคาขายส่งของกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา กุ้งขาว ขนาด 40 ตัว/กก. ซื้อขายที่ กก.ละ 175 บาท ขนาด 50 ตัว/กก. ซื้อขายที่ กก.ละ 170 บาท ขนาด 60 ตัว/กก. ซื้อขายที่ กก.ละ 165 บาท ขนาด 70 ตัว/กก. ซื้อขายที่ กก.ละ 155 บาท และขนาด 80 ตัว/กก. ซื้อขายที่ กก.ละ 145 บาท เทียบกับราคาประกันที่ห้องเย็น จะซื้อรวม 1 หมื่นตัน ในเดือนถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่จะซื้อกุ้งขาวขนาด 40 ตัว/กก. ที่ 170 บาท/กก. ขนาด 50 ตัว/กก. ที่ 160 บาท ขนาด 70 ตัว/กก. ที่ 145 บาท ขนาด 80 ตัว/กก. ที่ 135 บาท/กก. และขนาด 100 ตัว/กก. ที่ 125 บาท ซึ่งราคานี้เป็นราคาซื้อหน้าฟาร์ม ยังไม่หักค่าขนส่งอีก กก.ละ 8-10 บาท