พฤกษาแทนรักและบูชา ดอกมะลิ…กราบมารดา ชื่นชีวาวันแม่

มะลิหอม น้อมใจให้รำลึก

จิตสำนึก พระคุณแม่ แน่แท้ยิ่ง

รักเมตตา กรุณา ด้วยใจจริง

มาลัยมิ่ง มะลิร้อย กราบ…คอยพร

     มะลิขาว บริสุทธิ์ ดุจรักแม่

พรแน่แท้ แม่ให้ ได้สั่งสอน

ลูกบูชา พรแม่ซึ้ง พึงสังวรณ์

เปรียบสิงขร นภาสมุทร สุดพรรณนา

 

บทกลอนจากใจรำลึกพระคุณแม่ จะเสกสรรร้อยเรียงไพเราะเพราะพริ้งสละสลวยเพียงใด จะวรรณกรรมด้วยอักษรพิสุทธิ์ หรือจะพรรณนาด้วยบทกวีร้อยวจีเป็นสายธารอักขระให้ปริ่ม ลอยด้วยดอกมะลิหอมมากมายเพียงใดก็ไม่เท่าพระคุณแม่ที่เหนือคณานับ แม้ที่เราพึงน้อมคารวะบูชาให้เทียบเทียมได้เลย

“วันแม่แห่งชาติ” วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ที่กำหนดให้มีการจัดเป็นพิธีการแสดงออกเชิงพฤติกรรม บ่งบอกส่งมุทิตาจิต อันเป็นมงคลบูชาบุพการี หนึ่งนารีที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า “แม่” หากจะย้อนรำลึกถึงการเริ่มจัดงานมงคลวันนี้ วันแม่ครั้งแรกนั้น ในประเทศไทยประกาศไว้ตั้งแต่ วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงกำหนดงานวันแม่หลายครั้ง กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นว่าควรกำหนดวันแม่ให้แน่นอน โดยถือว่าวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ “ดอกมะลิ” เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ในงานวันแม่ตั้งแต่นั้นมา

ดอกมะลิ ไม้ดอกก้านและใบสีเขียวเข้ม ดอกสีขาวบริสุทธิ์ กลิ่นหอมกรุ่น ตั้งแต่ดอกตูมถึงดอกบาน ทั้งดอกสดและแห้ง ส่งกลิ่นหอมได้ไกล นาน หอมจรุงใจ สดชื่น ทั้งรุ่งอรุณและรัตติกาล ออกดอกได้ตลอดปี เปรียบดั่งความรักแท้บริสุทธิ์ที่ “แม่” มีต่อลูกๆ อย่างผูกพัน บริสุทธิ์ ไม่เสื่อมคลายตลอดชีวิตแม่และลูก วิถีชีวิตคนไทยสัมพันธ์กับดอกมะลิทุกโอกาสสถานการณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นสิ่งแทนจิตสำนึก “ พฤกษาบูชา” แสดงออกจากใจ ตั้งแต่ร้อยมาลัยบูชาพระ นำไปคารวะเคารพผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณ ลอยน้ำดื่มชื่นใจ อบร่ำขนมหวาน อบเสื้อผ้า มีคุณค่าในตัวดอกทั้งสดและแห้ง เป็นดอกไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ มีความต้องการซื้อขายทุกวัน ทุกฤดูกาล ตลอดปี

ในเชิงสังคม กล่าวได้ว่า ทุกคนรู้จักทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีโอกาสสัมผัสในรูปแบบต่างๆ บ้านใดปลูกไว้ในรั้วรอบขอบชิดบ้าน ไม่มีใครรังเกียจสัมผัสกลิ่น กลับเกิดเป็นความสัมพันธ์ไมตรีต่อกัน เพราะรั้วบ้านมิอาจกั้นความหอมจากดอกมะลิได้ กลายเป็นโอสถทางจิตโดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้วิธีสกัดทำน้ำมันหอมระเหย (absolute) ซึ่งมีซื้อขายด้วยราคาแพงในตลาดโลก

ในวิชาการทางพฤกษศาสตร์ จัดมะลิเป็นไม้ขนาดเล็ก มีทั้งประเภทไม้พุ่ม ไม้เลื้อย ไม้กึ่งเลื้อย หรือรอเลื้อย หากจะจัดเป็นไม้ยืนต้นก็พิจารณาจากการที่มีระบบรากแก้ว มีทั้งชนิดใบเดียวและใบรวม ดอกมีทั้งประเภทดอกเดียวและดอกรวม ช่อ ส่วนใหญ่จะออกดอกจากยอด หรือข้างกิ่ง กลีบดอกมีทั้งชั้นเดียวและกลีบซ้อนหลายชั้น โดยปกติดอกจะบานตอนบ่าย ให้ดอกมากในฤดูร้อนและฤดูฝน ขยายพันธุ์ได้ง่ายตั้งแต่ปักชำ ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง แยกกอ เหมาะสำหรับสภาพอากาศในเมืองไทยทุกภาค จะปลูกลงแปลง ปลูกลงกระถาง ปลูกเป็นซุ้มหน้าบ้าน เป็นต้นไม้ในครัวเรือนก็ได้ ใช้เป็นทั้งพฤกษาเภสัช มีสรรพคุณทางยาผสมได้ทุกชนิด ทั้งแพทย์แผนโบราณและปัจจุบัน เป็นพฤกษาเนื้อนาบุญ บูชาพระ บูชาบุคคลเคารพศรัทธา ที่ผู้สูงอายุให้ข้อคิดเตือนสติโดยใช้เป็นข้อคิดพึงปฏิบัติ จากคำว่า “ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา” สรรพคุณความหอมในตลาดโลก ได้รับการขนานนามว่า “king of essential oils” หรือ “king of owner oils”

มะลิ เป็นดอกไม้ในวรรณคดีมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ถ่ายทอดวรรณกรรม จินตนาการเปี่ยมอรรถรส จากความหอมงามอันบริสุทธิ์ ชวนสัมผัสอารมณ์บรรเจิดเคลิบเคลิ้มกับกลิ่นพฤกษาหอมหวลด้วยสุนทรีย์จากคำประพันธ์ของครูกวีตลอดมา โดยในวรรณคดีจะเปรียบเทียบผิวพรรณสวยงาม ขาวสะอาด กลิ่นเนื้อนางหอมดังมะลิทั้งตูม บาน หรืออบร่ำ แม้ดอกมะลิแห้งก็ยังหอมกรุ่น ส่วนที่ได้ยินมากที่สุดก็มักจะเป็นมะลิซ้อน และมะลิลา

มะลิซ้อน ดอกไม้ขาวบริสุทธิ์ กลีบซ้อนเป็นชั้นๆ คล้ายดอกกุหลาบดอกเล็กๆ นิยมใช้เป็นสัญลักษณ์วันแม่ ในด้านความเชื่อ จัดเป็นดอกไม้ประจำองค์พระนารายณ์ ถือเป็นดอกไม้ประจำวันเกิดวันจันทร์ เสริมดวงเสริมโชคชะตา ปลูกเป็นสิริมงคลด้านความรัก เกิดเสน่ห์กับคนรอบข้าง ควรให้ผู้อาวุโสเพศหญิงเป็นผู้ปลูก ในวรรณคดีเรื่อง ศกุนตลา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 กล่าวถึงท้าวทุษยันต์ ชมความงามนางศกุนตลา ว่า “ดูผิวสิ นวลละอองอ่อน มะลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น”

มะลิลา ดอกไม้ประจำชีวิตคนไทยมานาน นำมาร้อยมาลัยบูชา ไหว้เคารพ ลอยน้ำดื่ม น้ำเชื่อมขนมหวาน ดอกสดปรุงยาหอม ดอกตูมร้อยมาลัยสองชาย หรือมาลัยมงคลในงานพิธี เชื่อกันว่า ถูกโฉลกกับผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี หรือวันเสาร์ ปลูกเป็นมงคลกับชีวิต ในวรรณคดีไทย บทละครเรื่อง อิเหนา ในรัชกาลที่ 2 ทรงนิพนธ์ไว้ว่า

“เหล่าบุตรีกษัตริย์ทั้งนั้น                พี่เลี้ยงกำนัลก็หรรษา

บ้างเที่ยวไปเก็บได้มะลิลา              ซ่อนมาจะเอาไปให้เพื่อนกันฯ”

และอีกตอนกล่าวไว้ว่า

“พี่เลี้ยงตั้งพานพวงบุปผา               ไว้ตรงหน้าหมอบประณตบทศรี

แล้วว่าองค์นงนุชพระบุตรี              ร้อยมาลี มะลิลา มาประทานฯ”

สำหรับท่านสุนทรภู่ กล่าวในนิราศพระแท่นดงรัง ด้วยอาลัยรักพิศวาสวาย ว่า

“ได้หยุดชม หยุดเชย เคยสบาย       ทั้งหยุดก่ายหยุดกอด แม่ยอดรัก

มะลิลา เหมือนพี่มาไม่ลาน้อง        ให้ขัดข้องอุทรดังศรปักฯ”

มะลิ พรรณไม้ใกล้ตัวที่เราคุ้นเคยกับชื่อเรียกขานที่หลายคนอาจจะคิดว่า มีเพียง “มะลิซ้อนและมะลิลา” หรือผู้ที่สนใจเชิงวิชาการ ก็อาจจะรู้จักเพิ่มเติมว่า มีอีกหลายชนิดที่นิยมเรียกชื่อเป็นที่รู้จักทั่วไปในตลาดซื้อขาย ประมาณ 15 ชนิด เช่น มะลิถอด มะลิฉัตร มะลิพวง มะลิป้อม มะลิไก่ มะลิเถื่อน มะลิหลวง เป็นต้น สายพันธุ์ชนิดต่างๆ โดยทั่วไป มีไม่น้อยกว่า 200 ชนิด แต่ที่พบในประเทศไทยประมาณ 45 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นไม้พื้นเมืองของไทยประมาณ 25 ชนิด สำหรับสายพันธุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการปลูกโดยเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิต หรือนิยมปลูกเป็นการค้า เช่น พันธุ์แม่กลอง พันธุ์ราษฎร์บูรณะ พันธุ์ชุมพร จังหวัดที่ปลูกมาก ได้แก่ พิษณุโลก ระยอง หนองคาย สมุทรสาคร อุบลราชธานี กำแพงเพชร นครปฐม นครสวรรค์ เป็นต้น

มีเอกสาร มีหนังสือมากมายที่เขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องมะลิหลายยรูปแบบที่จะศึกษาเรียนรู้โดยทางวิชาการ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างดียิ่ง แต่สำหรับเรื่องราวของมะลิในเมืองไทย ที่กล่าวถึงลักษณะพรรณไม้สกุลมะลิ แนวทางจำแนกชนิด ทั้งชนิดมะลิพื้นเมือง และมะลินำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งมะลิพื้นเมืองที่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย ซึ่งทำให้เรารู้จักชื่อชนิดพันธุ์มะลิต่างๆ อีกมากมาย จะหาอ่านศึกษาได้จากหนังสือ “มะลิในเมืองไทย” (Jasmines in Thailand)

“มะลิในเมืองไทย” เป็นฉบับภาษาไทย-อังกฤษ เรียบเรียงโดย ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย ดร. ณรงค์ โฉมเฉลา ภาพสีประกอบ ถ่ายภาพโดย อภิชัย อิงควุฒิ และ อนันต์ พิริยะภัทรกิจ พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2556 (210 หน้า) สำนักพิมพ์บ้านและสวน บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

จากหนังสือมะลิในเมืองไทย โดย ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น ที่ได้กล่าวถึงแนวทางการจำแนกชนิด (Field Guide of Jasmines Classification) ของมะลิป่าในเมืองไทย รวมทั้งที่ปลูกประดับกันอยู่ตามบ้าน สามารถใช้แนวทางการจำแนกชนิดอย่างง่ายๆ ซึ่งดัดแปลงมาจากรูปวิธานของ ศาสตราจารย์ Peter Shaw Green เป็น Key to Species จึงขออนุญาตนำรายชื่อชนิดต่างๆ ของมะลิที่เชื่อว่าอาจจะไม่เคยได้ยินรู้จักมาก่อน ขอสรุปโดยคัดลอกชื่อมะลิซึ่งท่านอาจารย์ ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น ได้จำแนกชนิดและตารางปฏิทินดูดอกมะลิพื้นเมืองของไทย (Flowering Period)

มะลิวัลย์, ผักแส้ว ไม้เลื้อย เถาเล็ก ใบเดี่ยว ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงกันยายน

มะลิไกรกรัน ไม้เลื้อย แตกกิ่งทอดเลื้อย ขนกำมะหยี่ ออกดอกตุลาคม-พฤศจิกายน

มะลิมอหมอคาร์ ไม้เลื้อย ต้นแตกยอดสั้น กิ่งเป็นพุ่ม ออกดอกตุลาคม

มะลิไส้ไก่ก้านแดง เลื้อย/รอเลื้อย ยาว 2-5 เมตร ออกดอกมิถุนายน-กันยายน

มะลิเถา เลื้อยได้ไกล 2-4 เมตร ออกดอกพฤศจิกายน-มกราคม

มะลิเฉลิมนรินทร์ ไม้เถาเนื้อแข็ง ยอดอ่อน มีขน ออกดอกกรกฎาคม-กันยายน

มะลิเสี้ยวต้น ไม้เลื้อย เถาทอด 2-4 เมตร ออกดอกธันวาคม-มกราคม

มะลิเครือหนามข้อ รอเลื้อย โตเป็นพุ่มได้ ออกดอกแต่ละภาค มีนาคม-ธันวาคม

มะลิป่า เถาเลื้อย 2-4 เมตร มีขนที่ยอดอ่อน ออกดอกพฤษภาคม

มะลิช้าง ทอดเลื้อย 1-3 เมตร ปลายใบมน มีติ่งแหลม ออกดอกกรกฎาคม-สิงหาคม

มะลิช้างแคระ เถาทอดเลื้อย ใบรูปหัวใจ ออกดอกกรกฎาคม-สิงหาคม

มะลิขน มะลิเครบ ไม้เลื้อย ไกล 1-3 เมตร ออกดอกมีนาคม

มะลิภูหลวง เลื้อยได้ไกล 2-4 เมตร ใบรูปหอก ออกดอกกรกฎาคม-กันยายน

มะลิเขี้ยวงู, กรงจัน ทอดเลื้อย 2-5 เมตร มีขนสั้นหนา ออกดอกพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

มะลิดอย เลื้อย 4-6 เมตร ใบเดี่ยวรูปหอก ออกดอกมีนาคม-เมษายน

มะลิไส้ไก่ ไม้รอเลื้อย ใบรูปไข่ หรือรูปหอกแคบ ออกดอกมีนาคม-มิถุนายน

มะลิเอกา เลื้อยได้ 3-5 เมตร ใบรูปรี ออกดอกสิงหาคม-กันยายน

มะลิไส้ไก่ใบมัน รอเลื้อย เถายาวได้ 2-4 เมตร ออกดอกมีนาคม-เมษายน

มะลินก, มะลิฟ้า, แส้วน้อย เถาเลื้อย 2-4 เมตร ออกดอกมีนาคม-มิถุนายน

มะลิไส้ไก่ใบหนา เลื้อยได้ 2-4 เมตร ออกดอกแต่ละภาค พฤษภาคม-ตุลาคม

มะลิใบเรียว เถาเลื้อย 1-2 เมตร ใบรูปไข่ ออกดอกธันวาคม-มกราคม

มะลิวัลย์เล็ก เถาเลื้อย 5-8 เมตร ใบประกอบ 3 ใบ ออกดอกสิงหาคม-ตุลาคม

มะลิวัลย์น้อย คล้ายมะลิวัลย์เล็ก ใบบาง ดอกสั้นกว่า ออกดอกสิงหาคม-ตุลาคม

มะลิระบำ เถาเลื้อยได้ 2-4 เมตร ใบรูปหอกแคบ ออกดอกกุมภาพันธ์-มีนาคม

มะลิลอ เถาเลื้อย 2-4 เมตร ใบรูปหอกแคบ ออกดอกกันยายน-มกราคม

มะลิปูน เถาเลื้อย 2-3 เมตร ใบรูปไข่ ออกดอกมกราคม-กุมภาพันธ์

มะลุลี เลื้อย 2-5 เมตร มีขนนุ่มคลุมดอกช่อกระจุก ออกดอกเป็นช่วงๆ ตลอดปี

มะลิเขี้ยวงูเล็ก เลื้อย 2-4 เมตร ใบรูปไข่แคบ ออกดอกมกราคม-มีนาคม

ปันหยี เถาเลื้อย 2-5 เมตร ใบรูปรี ออกดอกธันวาคม-กุมภาพันธ์

มะลิปี เถาเลื้อย 2-5 เมตร ใบรูปรีถึงรูปไข่กลับ ออกดอกกรกฎาคม-ตุลาคม

มะลิรำ เถาเลื้อย 2-4 เมตร ใบรูปไข่ ออกดอกกรกฎาคม-สิงหาคม

มะลิขนฟู เถาทอดเลื้อย 1-3 เมตร มีขนยาวหนาที่ยอด ออกดอกมีนาคม-พฤษภาคม

เสี้ยวผี, ไก่น้อย รอเลื้อย 4-8 เมตร ใบรูปหอก ออกดอกธันวาคม-กุมภาพันธ์

มะลิสยาม, มะลิเถา ไม้พุ่มเตี้ย สูง 25 เซนติเมตร ดอกเป็นกระจุก ออกดอกมกราคม-พฤษภาคม

มะลิหลังสวน เถาเลื้อย 2-5 เมตร ใบรูปรี ออกดอกช่วงกุมภาพันธ์

มะลิเขี้ยวงูใบแหลม เลื้อยได้ 2-4 เมตร ใบรูปไข่ ออกดอกเมษายน-สิงหาคม

มะลิเขาเงิน ไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยได้ ใบเดี่ยว ออกดอกมีนาคม-สิงหาคม

มะลิภูหมู ไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยได้ 2-4 เมตร ออกดอกมีนาคม

แต่ละชนิดชื่อมะลิพื้นเมืองที่กล่าวนามมามีรายละเอียด ทั้งประวัติที่มา ลักษณะทั่วไปของลำต้น ใบ ดอก กลิ่นหอม ฤดูกาลตามฤดูออกดอกและติดผล รวมทั้งข้อแตกต่างที่เด่นชัดจากชนิดอื่น พร้อมทั้งการปลูกเลี้ยง ขยายพันธุ์ ซึ่งแต่ละชนิดที่เอ่ยนามมะลิพื้นเมือง มีพร้อมภาพถ่ายสีสวยชัดเจน ทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถสืบค้นศึกษาได้ รวมถึงชื่อมะลินำเข้าจากต่างประเทศ อีก 23 ชนิด เรื่องราว และภาพสี ดอก ใบ รายละเอียดเช่นเดียวกัน จากหนังสือ “มะลิในเมืองไทย” ทั้งภาษาไทย โดย ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น และแปลภาษาอังกฤษ โดย ดร. ณรงค์ โฉมเฉลา เชื่อว่า “มะลิพื้นเมืองไทย” ก็จะเป็นที่รู้จักสนใจในวงการพฤกษาสากลต่อไป

 

เพลง รักของแม่

คำร้อง-ทำนอง เริงศิริ ลิมอักษร

ขับร้อง ศรีไสล สุชาติวุฒิ

 

     ลูกเอยลูกรักของแม่ รักจริงรักแท้แน่นอนลูกเอ๋ย สองมืออุ้มชูไม่เคยละเลย ขับเพลงเพราะเปรย เพื่อให้นอนฝันดี

     หัวใจรักบริสุทธิ์ ของมวลมนุษย์ที่ในโลกนี้ หาความซื่อตรงมั่นคงไหนมี เหมือนดวงฤดีที่แม่เสน่หา

     อ้อมแขนแม่ยิ่งใหญ่ โอบเจ้าได้กว้างไกลยิ่งกว่าอ้อมฟ้า อ้อมอกแม่แผ่ยิ่งพสุธา เมื่อปรารถนา ซุกชีวาเจ้าอย่าระคาง

     เหนือความใสแสนสะอาด ของพฤกษชาติที่มีน้ำค้าง น้ำใจแม่ยังไม่เคยรู้จาง รักเดียวไม่สร่าง รักลูกของแม่เอย

บทเพลงเอื้อนเอ่ยถึง “ดอกมะลิ” มีมากมาย ได้เคยเขียนถึง มะลิ ดอกไม้บูชาในวันแม่นานมาแล้ว ถึง 10 ปี คือฉบับที่ 435 วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 โดยกล่าวถึงสรรพคุณ คุณสมบัติที่มิอาจจะหาข้อปฏิเสธแห่งคุณค่าของดอกมะลิได้เลย รวมทั้งได้เคยนำเสนอต่อมาอีกหลายฉบับ พร้อมบทเพลงหลากหลาย ทุกกลุ่มนักร้อง หรือประเภทเพลง ซึ่งล้วนเปรียบเทียบคุณค่าความรักอันยิ่งใหญ่ของแม่

ด้วยวันอันเป็นมิ่งมงคลแก่ลูกหลาน บุตรธิดาในวันแม่ของทุกปี จะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือร่วมใจจัดงาน “วันแม่แห่งชาติ” โดยในแต่ละจังหวัด จะมีการนำเสนอชื่อ “แม่ดีเด่น” จากแต่ละอำเภอ หรือจังหวัด เพื่อรับโล่เชิดชูเกียรติคุณเป็นตัวอย่างและกำลังใจ สำหรับผู้เป็นแม่ และความภาคภูมิใจของครอบครัวลูกหลาน อันนำมาซึ่งความรักความสามัคคีอบอุ่น และเป็นกำลังใจพึงปฏิบัติยึดถือความดีดังรางวัลความดีงามที่ได้รับจากใบประกาศ และโล่เกียรติคุณ ที่จะนำสู่ความเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุขของครอบครัวตลอดไป

จึงขอแทนบทเพลงดอกมะลิ ด้วยบทเพลงที่บอกความในด้วยใจรักจากแม่ถึงลูกบ้าง ดังบทเพลง “รักของแม่” ที่ลูกๆ ควรพึงสังวรณ์ระลึกพระคุณแม่ด้วยเคารพบูชายิ่ง