วว. เชิญเยี่ยมชม “อาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 และ เรือนกระจกหลังที่ 2” ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา แหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรและพฤกษศาสตร์แห่งใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 และ 2 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โชว์นิทรรศการ “มหัศจรรย์พรรณไม้ (Flora’s Tale)” พรรณไม้หายากทั้งไทยและต่างประเทศ/พิพิธภัณฑ์อนุรักษ์แมลงเขตร้อนและวิวัฒนาการพืช แสดงแมลงมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและทางการเกษตร รวมถึงห้องภาพที่รวบรวมภาพถ่ายแมลงนานาชนิดและงานศิลป์ที่เชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตของคนและแมลง เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปเที่ยวชม ณ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา…แหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรและพฤกษศาสตร์แห่งใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ชี้แจงว่า สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานีวิจัยในส่วนภูมิภาคของ วว. สังกัดศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์  จัดสร้างอาคารเทคโนโลยีการเกษตรเสมือนจริง และการก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ขึ้นในพื้นที่สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมมายุ 60 พรรษาในปี 2558 ทั้งนี้ วว.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามอาคารดังกล่าว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1” และ “อาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 2” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ ด้านการเกษตรศาสตร์ กีฏวิทยา การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และความสัมพันธ์ของแมลงกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจะเป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืชที่ถูกต้องตามหลักวิชาการสากล เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การวิจัยต่อยอดบนองค์ความรู้ของเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-economy) เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

…วว.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 และเรือนกระจกหลังที่ 2 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2561 สถานีวิจัยลำตะคอง ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรและพฤกษศาสตร์แห่งใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา…” รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 แสดงนิทรรศการ “มหัศจรรย์พรรณไม้ ครั้งที่ 1” โชว์พรรณไม้หายากของทั้งไทยและต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 6 โซน โซนที่ 1 โซนไม้หายาก เช่น มะลิเฉลิมนรินทร์ มะลิปันหยี ปาล์มเจ้าเมืองถลาง มังกรห้าเล็บ เอื้องดิน ปลวกน้ำ กล้วยคุนหมิง พลับพลึงธาร เปราะศรีสะเกษ สารพัดพิษ โซนที่ 2 ไม้อิงอาศัยและกล้วยไม้ เช่น รองเท้านารีชนิดต่างๆ เถางูเขียว หวายแดง กุหลาบกระบี่ ม้าวิ่ง เอื้องมือชะนี ว่านเพชรหึง เอื้องโมก รวมทั้งสับปะรดสีชนิดและพันธุ์ต่างๆ โซนที่ 3 ไม้เขตอบอุ่น ไม้อัลไพน์ และไม้จากยอดดอย เช่น บีโกเนียชนิดต่างๆ ชมพูภูคา ก่วมภูคา เทียนพระบารมี ตาเหิรชนิดต่างๆ กุหลาบพันปี แมกโนเลีย โซนที่ 4 ไม้น้ำ เช่น ไม้กินแมลงในสกุล Nepenthes สกุล Drosera  กกอียิปต์ โลเบเลียแดง กระจับแก้ว ไม้น้ำต่างๆ จัดแสดงในตู้ปลากว่า 30 ชนิด มะหิ่งซำ ซึ่งจัดเป็นสนหายากมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก โซนที่ 5 ไม้ทะเลทรายและไม้อวบน้ำ เช่น ปีศาจทะเลทราย ไข่มุกทะเลทรายหรือแฟรงกินเซนส์ ถังทอง ว่านหางจระเข้หลากชนิด ม้าลาย ม้าเวียน หูกระต่าย บาวบับ โซนที่ 6 พืชวิวัฒนาการต่ำ เช่น ปรงสระบุรี ปรงสามร้อยยอด เฟินกีบแรดไทย เฟินกีบแรดฟิลิปปินส์ เฟินปีกแมลงทับ ตีนตุ๊กแกหลากชนิด เขากวางตั้ง สนฉัตรออสเตรเลีย

Advertisement

ส่วนพรรณไม้ในเรือนกระจกหลังที่ 2 แบ่งเป็น 2 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 จัดแสดงหมวดหมู่พรรณไม้ตามวิวัฒนาการ เริ่มจากกลุ่มพืชที่มีวิวัฒนาการต่ำและไม่มีดอก เช่น มอสส์ เฟิน ปรง และสนต่างๆ ส่วนของพืชดอกปลูกจัดแสดงตามสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการที่ใช้การศึกษาทางชีวโมเลกุลเข้ามาวิเคราะห์ กลุ่มแรกสุดเป็นกลุ่มใบเลี้ยงคู่ที่มีวิวัฒนาการต่ำ เช่น อันดับของพริกไทย กลุ่มใบเลี้ยงเดี่ยว และกลุ่มใบเลี้ยงคู่สมัยใหม่ที่มีวิวัฒนาการสูง เช่น กลุ่มสายสัมพันธ์ของพวกกุหลาบและกลุ่มสายสัมพันธ์ของพวกแอสเตอร์ โซนที่ 2 จัดแสดงการใช้ประโยชน์จากพืชของมนุษย์ แยกเป็นกลุ่มย่อยต่างๆ ดังนี้ กลุ่มพืชเกียรติประวัติ เช่น โมกราชินี จำปี สิรินธร สาละลังกา กลุ่มพืชเครื่องเทศและสมุนไพร เช่น กานพลู กระวาน จันทน์เทศ พริกไทย กลุ่มพืชเครื่องดื่ม เช่น เสาวรส หญ้าหวาน พุงทะลาย เตยหอม ชา กาแฟ โกโก้ กลุ่มแสดงตามช่วงเวลาต่างๆ ในระยะแรกจัดแสดงพวกกุหลาบสายพันธุ์ต่างๆ

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน (Tropical Insect Santuary) โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ เหล่าแมลงผสมเกสร (Pollination pals) โชว์แมลงผสมเกสรบินอิสระ และสังเกตพฤติกรรมการหาอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศและทางการเกษตร พืชกินแมลง (Carnivorous plants) ชมความอัศจรรย์ของเหล่าพืชที่ต้องการดำรงชีวิตอยู่แม้ในพื้นที่ขาดแคลนธาตุอาหาร แมลงจึงกลายเป็นเหยื่อของพืชเหล่านี้  ดักแด้ยักษ์ เป็นจุดปล่อยผีเสื้อเขตร้อนนานาชนิดที่ถูกคุ้มครองอย่างปลอดภัยภายใต้ดักแด้ขนาดใหญ่ จ้าวแห่งการพรางตัว (Master of disguise) ชมความมหัศจรรย์ของเหล่าแมลงที่พรางตัวอย่างแยบยล กลยุทธ์ในการเอาตัวรอดทางธรรมชาติที่น่าทึ่ง ด้วง สัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย (Thailand’s wildlife protection beetles) ชมด้วงหายากของประเทศไทยที่นำมาศึกษา กระบวนการเพาะเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์เชิงรุก พิพิธภัณฑ์และห้องภาพ (Museum & Gallery) ชมภาพถ่ายแมลงนานาชนิดและงานศิลป์ที่เชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตของผู้คนและแมลง ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland ecosystem) จำลองพื้นที่ชุ่มชื้นที่เป็นแหล่งกำเนิดและแหล่งอาหารของสัตว์มากมายหลายชนิด เครือญาติ (Lineage) ชมสัตว์ขาปล้องที่มีสีสัน/รูปร่างที่น่าทึ่ง และมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ แมลงสังคม (Social Bugs) เรียนรู้วิถีชีวิตที่น่าทึ่งของแมลงสังคมที่แบ่งงานกันอย่างขยันขันแข็ง จุดสังเกตการณ์เรือนยอดไม้ (Canopy Observation) ชมผีเสื้อและเหล่าแมลงที่บินอย่างอิสระเหนือเรือนยอดไม้ ห้องปฏิบัติการศึกษาปฏิกิริยาระหว่างพืชและแมลง (Plant and insect interaction laboratory) ห้องปฏิบัติการเพื่อการแมลงมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและทางการเกษตร สาธิตการเพาะเลี้ยงแมลงหายาก (Nursery) ชมเทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงแมลงหายากหลากชนิดพร้อมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยง

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา เลขที่ 333 หมู่ที่ 12 ถ.มิตรภาพ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130 โทร. 044-390-107, 044-390-150  http://www.tistr.or.th/lamtakhong e-mail : [email protected]