ยกระดับคุณภาพ “ควายไทย” เตรียมยกร่างมาตรฐานการเลี้ยง รองรับการส่งออก มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.3 พันล้านบาท/ปี

มกอช. ผนึก ม.เกษตร-เครือข่ายคนรักควายภาคอีสาน “ควายไทย” ระดมความคิดเตรียมยกร่างมาตรฐานการเลี้ยงควายไทย เพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตลอดจนเตรียมขยายช่องทางการตลาดส่งออก มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,300 ล้าน/ปี

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ควายไทย เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญมาก โดยมีเลี้ยงราว 1 ล้านตัว จากเกษตรกรกว่า 2 แสนราย ซึ่งจำนวนกระบือเพิ่มขึ้นกว่าปี 2558 ประมาณ 1 แสนตัว และมีปริมาณการส่งออกกระบือและผลิตภัณฑ์กว่า 2,300 ล้านบาท ซึ่งนอกจากควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจแล้วยังเป็นสัตว์ที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการจัดทำแปลงการเกษตรขนาดใหญ่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มกันเลี้ยงควาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรปศุสัตว์ได้มีคุณภาพอย่างครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มกระบือแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 28 แปลง ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ จึงจำเป็นต้องจัดทำระบบฟาร์มที่ได้มาตรฐาน

จากความสำคัญดังกล่าว มกอช. จึงได้จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มกระบือเนื้อ และแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรขึ้น เพื่อเป็นมาตรฐานที่จะช่วยควบคุมระบบการผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์ม โดยเชิญกรมปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน มหาลัยกาฬสินธุ์ และเครือข่ายคนรักควายภาคอีสาน ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่สำคัญต่างๆ ในเรื่อง องค์ประกอบของฟาร์ม การจัดการฟาร์ม บุคลากร สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล เพื่อให้ได้กระบือเนื้อที่มีสุขภาพดี และเหมาะสมในการนาไปใช้ผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัย โดยนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาปรับปรุงร่างมาตรฐานดังกล่าว ให้มีความสมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“กระบือ นับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย มีช่องทางการตลาด แต่เกษตรกรที่เลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อย หากได้รับการพัฒนาการจัดการฟาร์มให้ดี โดยเพิ่มองค์ความรู้ด้านระบบการผลิต การเลี้ยง และการจัดการฟาร์ม เช่น การเตรียมพืชอาหารสัตว์ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การผสมพันธุ์สัตว์/การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ และการป้องกันโรค ก็จะสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการค้าได้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของเนื้อกระบือ รวมถึงน้ำนมกระบือและผลิตภัณฑ์ ให้มีความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการค้าได้มากขึ้น สิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การกำหนดเกณฑ์การควบคุมระบบการผลิต ให้เป็นมาตรฐานกลางของประเทศ เพื่อใช้อ้างอิงในการค้าขาย เลขาธิการกล่าว