อียูบี้หนักกดดันไล่เช็กบิลประมงผิดกม. “ประวิตร”สั่งฟ้องศาลแก้ปมใบแดงIUU

สหภาพยุโรปบี้ไทยนำคดีประมงผิดกฎหมาย 1,000 คดีขึ้นฟ้องศาล ระบุมีผลต่อการพิจารณาให้ใบเหลืองใบแดง IUU รองนายกฯประวิตรสั่งสางปัญหาด่วน เร่งตำรวจ-อัยการทำสำนวนยื่นฟ้อง ชาวประมงวอนรัฐดูเจตนา

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ที่สหภาพยุโรป (EU) ประกาศเตือนโดยให้ใบเหลืองไทยจะมีความคืบหน้าตามลำดับ ทำให้ EU พอใจการดำเนินการของฝ่ายไทย แต่มีบางประเด็นที่ EU ต้องการให้เร่งแก้ไขให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการนำคดีการทำประมงผิดกฎหมายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้รับผิดชอบดูแลการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง ศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เร่งนำคดีที่ก่อนหน้านี้มีการปราบปรามจับกุมเรือประมงที่ทำประมงโดยผิดกฎหมายขึ้นฟ้องร้องต่อศาล เนื่องจากได้รับการเร่งรัดและกดดันจาก EU และเป็นประเด็นที่มีผลต่อการพิจารณาของ EU ก่อนตัดสินใจให้คงใบเหลืองหรือให้ใบแดง ห้ามนำเข้าสินค้าอาหารทะเลไทยไปจำหน่ายในตลาด EU

นอกจาก พล.อ.ประวิตรจะสั่งการและกำชับในเรื่องนี้ในการประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้ว ยังได้ทำหนังสือสั่งการถึงกระทรวงเกษตรฯ ศปมผ.ให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็มอบหมายให้ พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. ชุดที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน ประสานขอความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานอัยการสูงสุด และ ศปมผ. นำคดีการทำประมงผิดกฎหมายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการฟ้องร้องโดยเร็วที่สุด

สั่งเร่งฟ้อง 1,000 คดี

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับของคดีการทำประมง IUU ที่ EU เร่งรัดฝ่ายไทย และมองว่าไทยยังดำเนินการล่าช้า ขณะนี้มีอยู่ทั้งหมดกว่า 1,000 คดี ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งของฝ่ายตำรวจและอัยการ มีบางส่วนที่ทยอยยื่นฟ้องร้องในชั้นศาลและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ฝ่ายนโยบายจึงต้องการให้นำคดีเข้าสู่ศาลโดยเร็ว จะได้ไม่ถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าตอบโต้ไทยอีก

“ที่ผ่านมาอียูมองว่าไทยยังดำเนินการเรื่องนี้ล่าช้าอยู่มากทำให้ขาดความต่อเนื่อง ทั้งที่ พ.ร.ก.การประมง 2558 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมามีบทบัญญัติที่เข้มงวด และบทกำหนดโทษที่ค่อนข้างรุนแรง จากนี้ไปทางตำรวจและอัยการจึงต้องเร่งทำคดีให้เร็วขึ้น”

ล่าสุดในการเข้ามาตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะของทีมเจ้าหน้าที่EU ในระหว่างวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีโอกาสลงสำรวจพื้นที่ และเข้าหารือกับรองนายกฯประวิตร ฝ่ายไทยได้แจ้งผลความคืบหน้าในเรื่องนี้แก่เจ้าหน้าที่ EU

สำหรับคดีกว่า 1,000 คดีนั้น จำนวนเกินครึ่งมาจากการที่ชาวประมงไม่ติดตั้งระบบการติดตามเรือ (Vessel Monitoring System : VMS) ที่เหลือเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับกรณีอื่น ๆ เช่น ชาวประมงใช้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำผิดประเภท เป็นต้น โดยในส่วนของคดีไม่ติดตั้งระบบติดตามเรือนั้น ก่อนหน้านี้กรมประมงเคยรวบรวมไว้ พบว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นหลายพื้นที่ใน 22 จังหวัดติดชายทะเล อาทิ สมุทรปราการ 98 คดี สมุทรสาคร 51 คดี สมุทรสงคราม 27 คดี เพชรบุรี 10 คดี สุราษฎร์ธานี 3 คดี ตรัง 27 คดี นครศรีธรรมราช 32 คดี สตูล 11 คดี พังงา 9 คดี ระนอง 16 คดี ชุมพร 6 คดี ระยอง 22 คดี ตราด 26 คดี ฉะเชิงเทรา 7 คดี จันทบุรี 9 คดี ชลบุรี 10 คดี ฯลฯ

ประมงขอส่งฟ้องตามสภาพจริง

ด้านนายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี และที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นการฟ้องร้องเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีไม่ติดตั้งระบบติดตามเรือ หรือ VMS นั้น ตนอยากเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาข้อเท็จจริงก่อนนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล ที่สำคัญต้องดูที่เจตนาว่าชาวประมงทำผิดกฎหมายจริงหรือไม่

เพราะเท่าที่ทราบข้อมูลพบว่าเรือประมงที่ถูกจับกุมบางส่วนไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่เลิกออกจับปลาเป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่อาจยังไม่ได้แจ้งต่อนายทะเบียน เมื่อไม่ได้ออกจับปลา เจ้าของเรือเหล่านี้จึงไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียน และไม่ได้ติดตั้ง VMS นอกจากนี้บางลำอาจยังมีรายชื่ออยู่ในทะเบียน แต่สภาพความเป็นจริงไม่มีเรืออยู่แล้วก็มี หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกรมเจ้าท่าจึงน่าจะสกรีนเรือประมงกลุ่มนี้ออกไปจากระบบ

ที่สำคัญจากที่รัฐควบคุมดูแลการทำประมงโดยเข้มงวดจำนวนเรือประมงประมาณ 10,000 ลำ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย มีทั้งทะเบียนเรือ ติดตั้งระบบ VMS บัญชีรายชื่อลูกเรือประมง สมุดประจำเรือ หรือ Log Book ส่วนนี้รองนายกฯประวิตรแก้ปัญหาแล้ว โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปรับชาวประมงถึงพื้นที่

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์