โล่งใจได้ระดับหนึ่ง เขื่อนแก่งกระจาน น้ำเริ่มลด หลังผ่านจุดสูงสุดแล้ว คุมเข้มไม่ให้เข้าเมืองเพชร

โล่งใจได้ระดับหนึ่ง เขื่อนแก่งกระจาน น้ำเริ่มลด หลังผ่านจุดสูงสุดแล้ว คุมเข้มไม่ให้เข้าเมืองเพชร

วันที่ 10 ส.ค. ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อม ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยมี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเกิดชัย ธัญวัฒนกุล ผู้อำนวยการชลประทานที่ 14 นายสันต์ จรเจริญ ชลประทานจังหวัดเพชรบุรี พร้อมส่วนราชการในสังกัด ให้การต้อนรับ ณ เขื่อนแก่งกระจาน

ดร.ทองเปลว เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำในอ่าง 734 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 103 ของความจุอ่าง มีการระบายน้ำรวม 196 ลบ.ม.วินาที ปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนแก่งกระจาน ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเกณฑ์ 210 ลบ.ม./วินาที เมื่อวันที่ 9 ส.ค.61 ซึ่งเป็นไปตามที่กรมชลประทานคาดการณ์ไว้ แนวโน้มปริมาณน้ำเริ่มลดลง

ภาพมุมสูงเขื่อนแก่งกระจาน

สำหรับระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนแก่งกระจานที่สถานี B.3 A บ้านสองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.83 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 175.15 ลบ.ม./วินาที สถานี B.9 บ้านสารเห็ด อ.แก่งกระจาน ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.89 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 187.10 ลบ.ม./วินาที

สถานี B.10 อ.ท่ายาง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.79 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 130.50 ลบ.ม./ต่อวินาที สถานี B.16 อ.บ้านลาด ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.05 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 118.75 ลบ.ม./วินาที และสถานี B.15 อำเภอเมืองเพชรบุรี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.67 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 100.48 ลบ.ม./วินาที

ส่วนสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเพชร ปัจจุบันบริเวณหน้าเขื่อนเพชรมีน้ำไหลผ่านประมาณ 184 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำโดยตัดยอดน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเพชรเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย – ฝั่งขวาและ คลองระบายน้ำ D.9 รวมทั้งสิ้น 70 ลบ.ม./วินาที

มุมสูงเขื่อนแก่งกระจาน

คงเหลือปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเพชรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี 114 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อ อ.ท่ายาง และ อ.บ้านลาด ส่วนบริเวณ อ.เมืองเพชรบุรี จะควบคุมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมืองในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี

กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการช่วยเหลือและเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน 31 เครื่อง (สำรองไว้ 5 เครื่อง) ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี 7 เครื่อง อำเภอเมืองรอบนอก 19 เครื่อง และอำเภอบ้านแหลม 5 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า 38 เครื่อง (สำรองไว้ 8 เครื่อง)

บริเวณวัดเขาตะเครา 14 เครื่อง และบริเวณปากคลองระบายน้ำ 24 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จากกองทัพเรือ 20 ลำ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อีก 6 ลำ ติดตั้งในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณวัดคุ้งตำหนัก อ.บ้านแหลม

เร่งระบายน้ำ

ช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น พร้อมกันนี้ ยังได้เตรียมยานพาหนะและเครื่องจักรกลต่างๆ เช่น รถบรรทุก รถขุดตัก 20 คัน ประจำอยู่ในพื้นที่ เพื่อขุดเปิดทางน้ำอีกด้วย

สำหรับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีระยะยาว นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการขุดลอกและขยายคลอง เพื่อใช้ในการระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด

โดยการปรับปรุงคลอง RMC3 เชื่อมคลองระบาย D.9 ความยาว 27 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง มีผลงานคืบหน้าร้อยละ 30 และอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบโครงการขุดลอกคลองอีก 2 เส้นทาง คือคลอง D.1 ความยาว 23 กิโลเมตร และ คลอง D.18 ความยาว 28 กิโลเมตร โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

วางกระสอบกั้นน้ำเต็มที่

วันเดียวกัน น.ส.สุนีย์รัตน์ ภู่ขำ นายอำเภอบ้านลาด พร้อมด้วยปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ทหาร มทบ.ที่15 เจ้าหน้าที่ชลประทาน สมาชิก อส.อำเภอบ้านลาดและผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสาในพื้นที่ ร่วมกันนำกระสอบทรายมาเสริมคันกั้นริมคลองระบายน้ำเพชรบุรีฝั่งซ้าย หมู่ 4 ต.ไร่สะท้อน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

กรณีที่เขื่อนเพชรระบายน้ำลงคลองระบายน้ำเพชรบุรีสายใหญ่ฝั่งซ้าย ทำให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน ประมาณ 15 ครัวเรือน โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงจึงควบคุมสถานการณ์น้ำไว้ได้

นายณรงค์ ศรีแจ้ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.ไร่สะท้อน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี กล่าวว่า มวลน้ำเริ่มล้นตลิ่งตั้งแต่กลางดึก โดยมวลน้ำไหล เข้าบ้านเรือนที่อยู่ริมคลองระบายน้ำดังกล่าว และท่วมถนนทางเข้าหมู่บ้าน ทางอำเภอบ้านลาดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตนและชาวบ้าน ได้ช่วยกันนำกระสอบทรายมาเสริมคันกั้นริมคลอง

เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะลักหมู่บ้านชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ แต่ตอนนี้เราบล็อกน้ำไว้ที่จุดนี้จะไม่กระทบหมู่บ้านชั้นในแน่นอน อย่างไรก็ตามได้ประสานไปยังเขื่อนเพชร ขอให้ทางเขื่อนยกประตูส่งน้ำขึ้นสักนิดเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มายังคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย ลดระดับลงเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของชาวบ้านที่อยู่ริมคลองที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว

เร่งระบายน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุดมวลน้ำยังคงท่วมบริเวณถนนทางเข้าหมู่บ้านและตลอดแนวคันกระสอบทรายที่กั้นเสริมไว้ริมคลอง ความสูงของน้ำ ประมาณ 7-10 เซนติเมตร ประชาชนยังสามารถสัญจรไปมาได้ปกติ

ทั้งนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน (เขื่อนเพชร) ได้เปิดการระบายน้ำลงคลองชลประทานสาย 3 ตั้งแต่เมื่อคืนของวันที่ 9 ส.ค. 61 หลังจากระดมเครื่องจักรรถแมคโครขุดขยายคลองชลประทานสาย 3 จากเขื่อนเพชร ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง เชื่อมต่อกับอาคารประตูระบายน้ำคลอง D9 หมู่ 1 บ้านระหารบอน ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง ระยะทางรวม 7.6 กม. ที่โครงการชลประทานเพชรบุรี

ร่วมกับภาคประชาชน ทำการขุดขยายคลองสาย 3 เพื่อตัดยอดมวลน้ำเหนือเขื่อนเพชรผ่านคลองสาย 3 เชื่อมต่อคลองD9 ลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่บ้านโตนดน้อย ต.ปึกเตียน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งมีศักยภาพระบายน้ำได้ 35 ลบ.ม./วินาที.