ผู้เขียน | สกู๊ปหน้า 1 มติชนรายวัน |
---|---|
เผยแพร่ |
“ในอนาคตผลผลิตสัตว์ทะเลต่างๆ จากฟาร์มทะเลเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญ ทดแทนการออกเรือไปจับสัตว์น้ำในทะเลที่ห่างไกล” พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเล็งเห็นปัญหาสัตว์ทะเลธรรมชาติในน่านน้ำไทยลดน้อยลงมาก รวมทั้งพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงและปัจจัยอื่นๆ ที่ใช้ในการออกเรือไปจับสัตว์น้ำธรรมชาติมีต้นทุนสูงมาก สัตว์น้ำที่จับได้ขายแล้วไม่คุ้มค่าต้นทุน จึงทรงมีพระราชดำริที่จะแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร
จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่ ต.ยางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันเปิดดำเนินงานมาสู่ปีที่ 7 วันนี้ไม่เพียงมีหน้าที่เป็นแหล่งองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์น้ำทะเล และพืชหายากใกล้สูญพันธ์ุแล้ว ยังมีบทบาทในการเป็นแหล่งฝึกอบรมอาชีพ สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับราษฎร
ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ที่นี่คือบ้านแม่
นายประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์ ผู้จัดการโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ กล่าวว่า คนที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและนาเกลือ แต่ทำประมงเดี๋ยวนี้มีค่าใช้จ่ายสูง ยิ่งวันไหนออกเรือไปแล้วจับสัตว์น้ำกลับมาไม่ได้ ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ขณะที่ทำนาเกลือช่วงหลังราคาตกต่ำอย่างมาก สุดท้ายก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเหมือนกัน เหล่านี้ทำให้ราษฎรต้องขายเรือขายที่ดินไป จนกระทั่งโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างเข้ามา
“เราทำให้ราษฎรดูเลยว่า ในพื้นที่แห่งนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง ภายใต้การรักษาสมดุลของระบบนิเวศและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การสาธิตเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ อาทิ กุ้งขาว กุ้งก้ามกราม ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากะพงขาว ปลานิล ควบคู่ไปกับการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชหายากใกล้สูญพันธุ์ อาทิ ปะการัง ปลาจาระเม็ดทอง ปลากะพงดำ เพื่อปล่อยลงทะเล รวมถึงศึกษาต่อยอดและแปรรูปผลิตภัณฑ์ อย่างน้ำทะเลมาทำเป็นผง ตอบโจทย์คนในพื้นที่ห่างไกลทะเลที่อยากเลี้ยงสัตว์น้ำทะเล และล่าสุดคือเลี้ยงสาหร่ายทะเล 6 สายพันธุ์ เพื่อนำมารับประทานและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ”
ผู้จัดการกล่าวอีกว่า นอกจากนี้เรายังเปิดอบรมให้ความรู้และให้คำปรึกษาแก่ราษฎร อย่างตอนนี้หลักสูตรอบรมเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะคนไทยกำลังนิยม เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ราคาขายจึงดี อยู่ที่กิโลกรัมละ 250-300 บาท ซึ่งต่อไร่สามารถให้ผลผลิตถึง 300-400 กิโลกรัม หรือประมาณ 120,000 บาท ในเวลาเดือนครึ่งของรอบการเลี้ยงและเก็บผลผลิต และยังสามารถทำควบคู่ไปกับนาเกลือได้ โดยเข้าอบรมฟรี ใช้เวลาเพียงครึ่งวัน
”วันนี้ต้องถือว่าโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างได้ฟื้นคืนคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ราษฎร หลายคนนำองค์ความรู้ของเราไปปฏิบัติ อย่างเรื่องทำแพลอยน้ำในทะเล เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทะเลขนาดเล็กให้มีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น นอกจากจะเพิ่มผลผลิตทางธรรมชาติ ยังสามารถเรียกปลาตัวใหญ่เข้ามาให้จับ รวมถึงหมึกและปูที่ติดเข้ามาเยอะขึ้น ฉะนั้นถือเป็นความสำเร็จที่พวกเราทุกคนได้ตั้งใจทำเต็มที่ เพราะที่นี่คือพื้นที่ของพระองค์ ถ้าเราเรียกโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริว่าเป็นบ้านพ่อ โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างก็คือบ้านแม่” นายประพัฒน์กล่าวด้วยสีหน้าภูมิใจ
สาหร่ายพวงองุ่น รายได้หลักแสนบาท
นางนงนภัส อภิกรรัตน์ ข้าราชการสังกัดกรมประมง และหนึ่งในผู้ก่อตั้งฟาร์มเบ็ญจมาศฯ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามทางเข้าโครงการแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า หลังจากสมัครเข้าอบรมกับโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่าง ก็กลับมาชวนเพื่อนๆ ลงทุนทำบ่อเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นตั้งแต่ปี 2559 ควบคู่ไปกับการทำนาเกลือ ซึ่งขณะนี้สาหร่ายพวงองุ่นทยอยให้ผลผลิตตลอด ส่งขายในหลายจังหวัดทำรายได้ตั้งแต่หลักหมื่นปลายๆ จนถึงหลักแสนต้นๆ ต่อเดือน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล
เช่นเดียวกับ นางสาวสโรชา กึ่งสอาด เจ้าของฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นพื้นที่ 2 ไร่ ในหมู่บ้านร่องใหญ่ อำเภอบ้านแหลม ที่เรียนรู้การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นมาจากฟาร์มทะเลตัวอย่าง กล่าวว่า ต้องขอบคุณที่สอนทุกอย่าง คอยให้คำปรึกษา ตลอดจนแนะนำช่องทางตลาด ซึ่ง 8 เดือนที่ทดลองทำมาผลตอบรับดีมาก มีออเดอร์จากหลายจังหวัดเข้ามารวมถึงขายหน้าร้าน คิดแล้วได้กำไรเฉลี่ยเดือนละ 40,000 บาท ช่วยตนหาเลี้ยงครอบครัวได้ดีเลยทีเดียว อีกทั้งได้พัฒนาความสามารถตัวเอง และสามารถให้คำแนะนำกับคนอื่นได้ แม้จะอายุเพียง 28 ปี
เปิดหมู่บ้านท่องเที่ยวฝั่งทะเล
การมีฟาร์มทะเลตัวอย่าง ไม่เพียงฟื้นอาชีพฟื้นรายได้ให้กับคนในพื้นที่ในแง่เกษตรกรรมและประมง แต่ยังให้ผลพลอยได้ที่ไม่คาดคิดคือปลุกกระแสท่องเที่ยวและช้อปปิ้งสินค้าโอท็อปในอำเภอบ้านแหลม จากคนที่มาดูงานโครงการในพระราชดำริกว่า 20,000 รายต่อปี
นายสมพงษ์ หนูศาสตร์ ผู้ใหญ่บ้านร่องใหญ่ และประธานกลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง กล่าวว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านร่องใหญ่คือนาเกลือ และตั้งอยู่ระหว่างกลางเส้นทางโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่าง กับโครงการแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉะนั้นเวลาใครไปใครมาจึงแวะมาที่หมู่บ้านเราเพื่อช้อปปิ้งและชมนาเกลือ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาราคาเกลือตกต่ำ เราจึงเริ่มพัฒนาต่อยอดเกลือเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปเพื่อสุขภาพและความงาม อาทิ เกลือขัดผิว สบู่เกลือ เกลือน้ำแร่ น้ำเกลือทำความสะอาดแผล ยาสีฟันเกลือ ฯลฯ ขายในอำเภอ ส่งขายต่างจังหวัด และต่างประเทศ ภายใต้ชื่อ กลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง อีกทั้งยังทำเป็นสปานวดสมุนไพรและเกลือ สร้างรายได้เสริมให้คนในพื้นที่
หมู่บ้านร่องใหญ่กำลังพัฒนาเป็นหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยวในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งนอกจากยกระดับผลิตภัณฑ์จากเกลือ สาหร่ายพวงองุ่นเป็นของขึ้นชื่อของหมู่บ้านแล้ว ยังพัฒนานาเกลือและป่าชายเลนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ อาทิ สะพานเข้าชมนาเกลือ เข้าชมป่าชายเลนความยาว 50 เมตร
“ผมรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น เพราะการที่พระองค์ได้พระราชทานโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่าง ได้ทำให้ราษฎรในพื้นที่รู้จักคุณค่าของน้ำเค็ม จากที่ไม่เคยรู้อะไรเลย ตรงนี้ทำให้เราต่อยอดนำเกลือมาทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ตอนนี้ก็มีการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นที่มาใหม่และให้รายได้ดี ทำให้คนในพื้นที่มีอาชีพมีรายได้อย่างยั่งยืน ลูกหลานก็สามารถทำงานและอยู่กับครอบครัวได้ที่บ้านเกิด ขณะเดียวกันยังได้กระแสของการท่องเที่ยวอีก”นายสมพงษ์กล่าว