ฮือฮา พบไม้พันธุ์ใหม่ของโลก 8 ชนิด ขนานนาม’ช้องเจ้าฟ้า’ เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นายสมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ล่าสุดสำนักหอพรรณไม้ได้รายงานให้นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทราบว่าได้มีการสำรวจพบพืชชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทยจำนวน 8 ชนิด ซึ่งผ่านการรับรองตีพิมพ์และอยู่ระหว่างการตีพิมพ์ในวารสารด้านพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ โดยพืชพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบ ได้แก่

1. ช้องเจ้าฟ้า ชื่อพฤกษศาสตร์ Buxus sirindhornianaW. K. Soh , von Sternb., Hodk. & J. Parn. วงศ์ Buxaceae เป็นไม้ต้นชนิดใหม่ของโลก ตีพิมพ์โดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์แห่งทรินิตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงดับลิน ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.จอห์น พาร์แนล ซึ่งเป็นกรรมการบรรณาธิการโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) รวมอยู่ในทีมผู้ตั้งชื่อด้วย โดยได้ตีพิมพ์ในวารสารนอร์ดิก เจอร์นัล ออฟ โบทานี (Nordic Journal of Botany เล่มที่ 32 (4) หน้า 452-458 ปี 2014 คำระบุชนิด “sirindhorniana” ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในวารสารดังกล่าวระบุว่าพระองค์ทรงเป็นผู้สนับสนุนอย่างเข้มแข็งในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

ช้องเจ้าฟ้า
                                      ช้องเจ้าฟ้า

นายสมรานกล่าวอีกว่า ช้องเจ้าฟ้าพบได้ตามเขาหินปูนตั้งแต่บริเวณชายแดนเมียนมาใน จ.กาญจนบุรี ถึงดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก อุทยานฯแจ้ซ้อน จ.ลำปาง และดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ช้องเจ้าฟ้าพบได้ง่ายและพบมากที่สุดที่ดอยหัวหมด ซึ่งเป็นเขาหินปูนผุกร่อน เป็นแหล่งที่พบพืชชนิดใหม่ของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศมากกว่า 10 ชนิด โดยตัวอย่างช้องเจ้าฟ้าที่เก่าแก่ที่สุดเก็บโดยหมอคาร์ (A.F.G.Kerr) นายแพทย์ชาวไอริช ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พืชแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพฯ กรมวิชาการเกษตร โดยหมอคาร์ได้เก็บตัวอย่างผลของช้องเจ้าฟ้าจากดอยหัวหมดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2465 เป็นเวลาเกือบร้อยมาแล้ว ซึ่งขณะนี้ตัวอย่างถูกเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ สวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ทั้งนี้แม้จะมีการเก็บตัวอย่างมานาน แต่ไม่มีการเขียนตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่เพราะนักพฤกษศาสตร์ไม่แน่ใจว่าจัดอยู่ในสกุลใด เพราะปกติพืชสกุลช้องจะมีรังไข่ 3 ช่อง แต่ช้องเจ้าฟ้ามีรังไข่แค่ 2 ช่อง เมื่อได้มีการศึกษาในระดับชีวโมเลกุลยืนยันได้ว่าช้องเจ้าฟ้าถูกจัดอยู่ในสกุลช้อง จึงมีการตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก

นายสมรานกล่าวต่อว่า 2.ยมหินปูน ชื่อพฤกษศาสตร์ Toona calcicola Rueangr., Tagane & Suddee วงศ์ Meliaceae เป็นไม้ต้นชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามซอกหินปูนที่บริเวณสวนสวรรค์ วนอุทยานสวนหินผางาม อ.หนองหิน จ.เลย ตีพิมพ์ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 43 หน้า 79-86 ปี 2015 โดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์จากสำนักหอพรรณไม้ ร่วมกับทีมงานนักพฤกษศาสตร์ญี่ปุ่น โดยทีมงานตีพิมพ์ประกอบไปด้วยนายสุคิด เรืองเรื่อง ดร.ชูอิชิโร ทางาเนะ นางสาวนัยนา เทศนา นายมานพ ผู้พัฒน์ ดร.ฮิเดโตชิ นากามาสึ ดร.อากิโย นาอิกิ และตน ยมหินปูนมีลักษณะเด่นตรงที่เกสรเพศผู้ไม่เชื่อมติดกันเป็นหลอดเหมือนพืชวงศ์เลี่ยน (Meliaceae) สกุลอื่นๆ ผลลักษณะคล้ายยมหินแต่ใบแตกต่างกันมาก เมื่อใบร่วงมีรอยแผลใบบนกิ่งชัดเจน คำระบุชนิด“calcicola” หมายถึงหินปูนซึ่งเป็นแหล่งที่พืชชนิดนี้ขึ้นอยู่

ว่านแผ่นดินเมืองตรัง
                                                                 ว่านแผ่นดินเมืองตรัง

นายสมรานกล่าวต่อว่า 3.ชะนูดต้นแก่งกระจาน ชื่อพฤกษศาสตร์ Prunus kaengkrachanensis Nagam., Tagane & Suddee วงศ์ Rosaceae พบขึ้นตามป่าดิบเขาบริเวณพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตีพิมพ์ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 43 หน้า 43-45 ปี 2015 โดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์สำนักหอพรรณไม้ร่วมกับทีมงานนักพฤกษศาสตร์จากญี่ปุ่น ชะนูดต้นแก่งกระจานมีลักษณะเด่นที่ผนังผลชั้นในมีขนหนาแน่น ก้านใบมีต่อมที่ด้านในกลวง 4.หญ้าคางเลือยตะนาวศรี ชื่อพฤกษศาสตร์ Scutellaria tenasserimensis A. J. Paton วงศ์ Lamiaceae เป็นไม้พืชล้มลุกชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามเขาหินปูนตามแนว เทือกเขาตะนาวศรีในไทยและเมียนมา ตีพิมพ์ในวารสาร Kew Bulletin เล่มที่ 71(1)-3 หน้าที่ 2 ปี 2016 โดย ดร.อลัน พาร์ตัน แห่งสวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b8%8a%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%8810
                                 คางเลื่อยตะนาวศรี

 

%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b8%8a%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%8809-768x512-copy
                                                                   ชะนูดแก่งกระจาน

ดร.ภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และตน ในไทยพบหญ้าคางเลือยตะนาวศรีได้ที่บริเวณ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก 5.หญ้าคางเลือยเขาใหญ่ ชื่อพฤกษศาสตร์ Scutellaria khaoyaiensis A. J. Paton วงศ์ Lamiaceae เป็นไม้พืชล้มลุกชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามป่าดิบเขา โดยเฉพาะบริเวณเขาเขียว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตีพิมพ์ในวารสาร Kew Bulletin เล่มที่ 71(1)-3 หน้าที่ 5 ปี 2016 โดยทีมงานชุดเดียวกันกับที่ศึกษาหญ้าคางเลือยตะนาวศรี

นายสมรานกล่าวอีกว่า นอกจากนั้นเป็นพืชตระกูลกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด คือ 6.ว่านแผ่นดินเย็นแม่โขง ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia mekongensis S. W. Gale, Schuit. & Suddee วงศ์ Orchidaceae โดยเป็นกล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก พบตามป่าผลัดใบ พบในไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลาวตอนเหนือ ในเวียดนามตอนเหนือและตอนใต้ และทางด้านตะวันออกของกัมพูชา ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 247(4) หน้า 267-273 ปี 2016 โดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์ไทยและต่างชาติ ประกอบไปด้วย ดร.สเตฟาน เกล นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ปฏิบัติงานอยู่ที่ฮ่องกง ดร.อังดเร ชูตีแมน นักพฤกษศาสตร์จากสวนพฤกษศาสตร์คิว

ว่านแผ่นดินเย็นแม่โขง
                                                                ว่านแผ่นดินเย็นแม่โขง

ดร.สันติ วัฒฐานะ นักพฤกษศาสตร์ไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยสุรนารี นายโตโมกิ ซานโดะ ชาวญี่ปุ่น นายคิวดอน สุวรรณคุณมณี ชาวลาว ดร.ลิโอนิด อเวอรยานอฟ นักพฤกษศาสตร์ชาวรัสเซีย และตน นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า 7.ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia trangensis S. W. Gale, Suddee & Duangjai, sp. nov. ined. วงศ์ Orchidaceae พบในป่าดิบชื้นที่สวนพฤกษศาสาตร์ทุ่งค่ายและสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง จ.ตรัง ดอกกับใบออกไม่พร้อมกัน ออกดอกช่วงต้นฤดูฝนก่อนออกใบ อยู่ระหว่างการเตรียมเขียนตีพิมพ์โดย ดร.สเตฟาน เกล ผศ.ดร.สุธีร์ ดวงใจ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และตน

ทั้งนี้ ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรังค้นพบครั้งแรกโดยเจ้าหน้าที่สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย นายประสงค์ โพธิ์เอี่ยม ได้ส่งภาพถ่ายมาให้หอพรรณไม้ตรวจสอบ หลังจากนั้นจึงได้มีการติดตามเก็บตัวอย่าง และพบเพิ่มเติมที่สวนพฤกษศาสตร์เขาช่องโดย ผศ.ดร.สุธีร์ และ 8.ว่านแผ่นดินเย็นล้านนา ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia marmorata S. W. Gale, Suddee & Duangjai, sp. nov. ined. วงศ์ Orchidaceae พบตามเขาหินปูนในแถบ จ.เชียงรายและเชียงใหม่ ดอกกับใบออกไม่พร้อมกัน ออกดอกช่วงต้นฤดูฝนก่อนออกใบ อยู่ระหว่างการเตรียมเขียนตีพิมพ์โดย คำระบุชนิด “marmorata” หมายถึงใบที่มีลายคล้ายหินอ่อน ทั้งนี้ตัวอย่างของพืชชนิดใหม่ของโลกทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ที่สำนักหอพรรณไม้ กรมอุทยานฯ

%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b8%8a%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%8805-copy
                                  ว่านแผ่นดินเย็นล้านนา
%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b8%8a%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%8806-copy
                                  ว่านแผ่นดินเย็นล้านนา

นายสมรานกล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นความสำคัญของงานด้านอนุกรมวิธาน คือการจัดจำแนกชนิดพันธุ์ของพืช อยากให้มีคนทำอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดห้วง เพราะคนรุ่นเก่าที่ทำงานด้านนี้เริ่มเกษียณอายุราชการ พระองค์ทรงอยากเห็นคนรุ่นใหม่สนใจงานด้านนี้ให้มากขึ้นเพราะมีความสำคัญต่อประเทศชาติทรงมีรับสั่งว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางส่งเสริมและสนับสนุนส่งคนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศให้มากขึ้นและกลับมาสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านนี้ต่อในประเทศไทยให้ดีเพราะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพื้นที่ดอยหัวหมดที่เป็นแหล่งค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยนั้น มีสภาพเป็นภูเขาหินปูน โล่งเตียนมีหญ้าขึ้นปกคลุม ไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่ขึ้น จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเขาหัวโล้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีหน่วยงานป่าไม้เข้ามาดำเนินโครงการปลูกป่าในพื้นที่ ซึ่งอาจกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพดั้งเดิมในพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะของดอยหัวหมดได้