ค่ายเอกาทศรถ แหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ สร้างความมั่นคงด้านอาหาร

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 3 ได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ ระดับภาค โดยมี พล.ท. กิตติศักดิ์ แม้นเหมือน รอง ผอ.ศปป.กอ.รมน. ภาค 3 เป็นประธานเปิดงาน โดยมีสื่อมวลชนจากจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา และจังหวัดน่าน เข้าร่วมงาน ประมาณ 100 คน

การเพาะเลี้ยงไส้เดือน

มีโครงการที่น่าสนใจ

ดังต่อไปนี้

โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2560 บนพื้นที่ 200 ไร่ สืบเนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ภายในค่ายเอกาทศรถ จังหวัดพิษณุโลก มีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ดั้งเดิมของไทยไว้ใช้เพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน ให้มีการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันในหมู่เพื่อนบ้าน

ซึ่งทุกวันนี้มีโอกาสหายาก เพราะทุกวันนี้ในท้องตลาดมีแต่เมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่สามารถปลูกได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถเก็บไว้ขยายพันธุ์ต่อไปได้ จะปลูกพืชในฤดูกาลต่อไป จะต้องไปหาซื้อจากภาคเอกชนในท้องตลาด

เริ่มจากนำเมล็ดพันธุ์พืชมาจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย เริ่มต้นจาก 10 ไร่ ปี 2561 ขยายเพิ่มเป็น 50 ไร่ และปัจจุบันขยายพื้นที่ออกไปจนถึง 200 ไร่ โดยมีนายทหารแต่ละหน่วยรับผิดชอบ จึงใช้ชื่อว่า “กิจกรรมโครงการทหารพันธุ์ดี” ระยะแรกปลูกขยายพันธุ์บวบงู ถั่วพู แตงกวา มะเขือเปราะเจ้าพระยา ผักปลังแดง พริกขี้หนู มะเขือยาว กะเพราแดง ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1

กิจกรรมเพาะเห็ดนางฟ้า

ในปีนี้เป็นโครงการระยะที่ 2 ได้แบ่งพื้นที่ปลูกพืชผักแต่ละชนิด 2 งาน ใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ 100%

ขณะนี้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักได้ดังนี้ กะเพราแดง 5 กิโลกรัม มะเขือยาวลายเสือจักรพันธ์ เบอร์ 1 ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 3 กิโลกรัม กระเจี๊ยบเขียว ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 10 กิโลกรัม มะเขือเปราะเจ้าพระยา ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 13 กิโลกรัม น้ำเต้า ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม มะเขือยาว 0.5 กิโลกรัม ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1 ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 30 กิโลกรัม บวบเหลี่ยม ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 15 กิโลกรัม บวบงู ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 11 กิโลกรัม พริกขี้หนู ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 8 กิโลกรัม ถั่วพู ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 10 กิโลกรัม

นอกจากนี้ ยังได้ขยายพื้นที่ออกไปอีก 68 ไร่ เตรียมดิน ปรับสภาพดินด้วยการปลูกปอเทือง ใส่ปุ๋ยขี้ไก่ แกลบดำ เยื่อมะพร้าว ปูนโดโลไมท์ รอบๆ แปลงปลูกถั่วมะแฮะเป็นแนวล้อมรอบปรับปรุงดินและแปรรูปเป็นอาหารได้

พืชพื้นบ้านบางอย่างที่ใกล้จะสูญพันธุ์ และสามารถปลูกได้ในช่วงฤดูฝน ทำให้ขายได้ราคาดี คือ ผักชีพันธุ์พื้นบ้านอุดรธานี ปลูกบริเวณบ้านพักนายสิบ ร้อย.บร.พัน.สบร.23 แปลงขนาด 1.5×12 เมตร พื้นที่ปลูก 72 ตารางเมตร จำนวน 5 แปลง ได้ผลผลิต 30 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 80 บาท ได้เงิน 2,400 บาท ใช้บริโภคในครอบครัวแล้วเหลือจึงนำไปขาย กิโลกรัมละ 120-140 บาท ขึ้นอยู่กับความสวยงามของผักชี ใช้เวลาปลูก 55 วัน ต้นทุน 383 บาท แต่เป็นการลงทุนแบบถาวรในครั้งแรกเท่านั้น เช่น โครงลวดและผ้าพลาสติกกันฝน

บางส่วนของเมล็ดพันธุ์พืชที่อนุรักษ์

โครงการเลี้ยงแพะพระราชทาน พันธุ์แบล็คเบงกอล เริ่มต้นจากการรับพระราชทานพันธุ์แพะสายพันธุ์แบล็คเบงกอล จำนวน 20 ตัว เป็นตัวผู้ 10 ตัว ตัวเมีย 10 ตัว ข้อดีของแพะพันธุ์นี้คือ ขนาดลำตัวเล็ก เนื้อราคาแพง หนังเรียบสวยงาม แต่มีน้ำนมน้อย

ทางโครงการจึงได้นำแพะพันธุ์ชาแนน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้น้ำนมมาก ลำตัวใหญ่ สีขาว ออกลูกครั้งละ 2-4 ตัว เลี้ยงเพียง 8 เดือน ก็สามารถขายเป็นแพะเนื้อได้ นำพันธุ์ชาแนนมาผสมพันธุ์กับพันธุ์แบล็คเบงกอลเพื่อให้ได้ลูกผสมที่เหมาะสมกับสภาพอากาศภาคเหนือตอนล่าง เลี้ยงขยายพันธุ์จนถึงปัจจุบันนี้มีแพะ จำนวน 124 ตัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่เกษตรกรในภาคเหนือตอนล่างนำไปเลี้ยงแล้ว จำนวน 94 ครอบครัว

แพะลูกผสมได้คลอดลูกออกมาและเป็นลูกแพะแฝด พระราชทานชื่อลูกแพะตัวผู้ว่า “อกร่องทอง” ลูกแพะตัวเมียชื่อว่า “อกร่องเขียว” แพะแฝดคู่นี้เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 อาหารที่ใช้เลี้ยงแพะทำเป็นแปลงปลูกหญ้าต่างๆ เช่น หญ้าแพงโกล่า หญ้ารูซี่ หญ้ากินนีสีม่วง หญ้าเนเปียร์ หญ้าจัมโบ้ โดยการแบ่งเป็นสัดส่วน ปล่อยให้แพะลงไปกินในแปลง บางส่วนตัดไปให้ในคอกเลี้ยงด้วย

การเพาะเลี้ยงปลานิลจิตรลดา พบได้ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป ได้ถูกนำเข้ามาประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2508 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต จัดส่งมาน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 50 ตัว ระยะแรกนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่สวนจิตรลดา ต่อมาได้ขยายและกระจายแก่เกษตรกรทั่วไป ลักษณะของปลานิลจิตรลดา สีบนลำตัวปลาเพศผู้จะเข้มกว่าตัวเมีย สีใต้คางเพศผู้เป็นสีม่วงอมแดง มีอวัยวะเพศยาว เพศเมียลำตัวสั้นและกลม เมื่อตัวเมียวางไข่แล้วตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสม ตัวเมียจะอมไข่ไว้ในปากและวางไข่ไปเรื่อยๆ จนหมด ระยะเวลาจนลูกปลาพร้อมที่จะนำไปอนุบาล ใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน จากนั้นจึงนำลงเลี้ยงในสระน้ำขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้ ขยายพันธุ์ปลาสลิด โดยนำพ่อแม่พันธุ์ดีมาจากอำเภอบางบ่อ ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงปลาสลิดรายใหญ่ของประเทศ เป็นปลาที่ทนทานต่อดินเลน ปกติผสมพันธุ์ได้ในฤดูฝน ขยายพันธุ์ได้ง่ายและปริมาณมาก ประมาณ 9,000 กว่าตัว เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ระยะเวลาเพียง 6 เดือน ก็ขายได้ นอกจากนี้ ยังได้เพาะขยายพันธุ์ปลาช่อนและปลาหมอไทย สายพันธุ์ชุมพร 1

เกษตรกรที่สนใจเข้ารับการอบรมการเพาะเลี้ยงปลา ขอให้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม ประมาณ 20 คน ต่อรุ่น จะได้รับความรู้ด้านรูปแบบและวิธีการเลี้ยงปลาน้ำจืด คุณภาพน้ำและการจัดการบ่อ โรคพยาธิปลาและการป้องกัน อาหารปลา การผลิตอาหารปลาด้วยตนเอง เมื่อเกษตรกรผ่านการอบรมแล้ว จะได้รับพันธุ์ปลาไปเลี้ยงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่จะต้องมีความพร้อมในการเตรียมบ่อปลาให้เรียบร้อยก่อน

กิจกรรมการทำปุ๋ยไส้เดือนดิน โดยใช้ไส้เดือนสายพันธุ์บลูเวิร์ม พันธุ์ไทเกอร์ ผลผลิตที่ได้นำไปใช้ในโครงการทั้งสิ้น กิจกรรมการเลี้ยงกระบือ เพื่อเป็นการขยายพันธุ์กระบือในประเทศที่นับวันจะลดน้อยลง จนถึงขั้นจะต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ กิจกรรมการปลูกไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เช่น มะนาว มะกรูด เลมมอน มะละกอ การเพาะเห็ดในเรือนโรง

จากผลงาน กิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ฯ ค่ายเอกาทศรถ มีเป้าหมายในภาพรวมเพื่อเป็นการอนุรักษ์ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ในการผลิตให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารแก่ประชาชนทั่วไป เป็นการผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมี จึงได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน จำนวน 3 ล้านบาท สร้างอาคารคัดบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ได้จากศูนย์  และได้เปิดทำการเรียบร้อยแล้ว

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศึกษาดูงาน เข้ารับการอบรม ติดต่อได้ที่ โทร.(055)252-465 หรือ E-mail:[email protected] หรือ Facebook:ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กอ.รมน. ภาค 3