สนค.วิเคราะห์ ผลสงครามการค้าสหรัฐฯ กับคู่ค้าในกลุ่มสินค้าเกษตร

สนค.วิเคราะห์ผลสงครามการค้าสหรัฐฯ กับคู่ค้าในส่วนของการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร พบไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นหลายรายการ เพื่อไปทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ทั้งข้าว ผลไม้ กากเหลือจากการผลิตสตาร์ช ในตลาดจีน และข้าวโพดหวานในตลาด อียู แต่ก็ต้องระวังสินค้าจากสหรัฐฯ ที่จะไหลเข้าไทย ทั้งถั่วเหลือง ข้าวสาลี

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการศึกษากระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า ในกลุ่มสินค้าเกษตรว่า ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนได้เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าของสหรัฐฯ เช่น กากเหลือจากการผลิตสตาร์ช ข้าว ผลไม้สดและแห้ง โดยเฉพาะพวกส้ม และพบว่า สินค้ากากเหลือจากการผลิตสตาร์ช เศษที่ได้จากการต้มกลั่น เป็นสินค้าที่มีโอกาสทำตลาดมากที่สุดในกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด โดยในปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าเป็นมูลค่า 66 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยมีการส่งออกประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกไป สปป.ลาว เกือบทั้งหมด จึงน่าจะสามารถกระจายสินค้าไปตลาดจีนมากขึ้นได้

ทั้งนี้ ผลจากการที่จีนขึ้นภาษีผลไม้ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น เชอรี่ ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล และพลัม ทำให้ผลไม้จากสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจีนอาจหันมาเลือกบริโภคผลไม้ชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่าแทน จึงเป็นโอกาสของผลไม้ไทยที่จะส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น เช่น มังคุด มะม่วง และสับปะรด เป็นต้น

สำหรับตลาดสหภาพยุโรป (อียู) พบว่า ข้าวโพดหวาน มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น หลังจากที่ อียู ขึ้นภาษีกับสหรัฐฯ โดย ปี 2560 อียู นำเข้าข้าวโพดหวาน 148 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่นำเข้าจาก อียู ด้วยกันเอง 136 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 95% และนำเข้าจากสหรัฐฯ 2.34 แสนเหรียญสหรัฐ และไทย 8.4 หมื่นเหรียญสหรัฐ แต่ไทยส่งออกไปทั่วโลก 26 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงมีศักยภาพที่จะส่งออกไป อียู ได้มากขึ้น แต่ก็ต้องแข่งขันกับสินค้าใน อียู

นอกจากนี้ มีสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ต้องเฝ้าระวังและอาจไหลเข้าไทย เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และเมสลิน  แอปเปิ้ล และลูกแพร์ โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่จีนขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ และปัจจุบันนำเข้า 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อจีนลดนำเข้าจากสหรัฐฯ ก็จะหันไปนำเข้าจากบราซิลแทน อาจทำให้บราซิลซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าถั่วเหลือง อันดับ 1 ของไทยส่งออกมาไทยน้อยลง โดยใน ปี 2560 ไทยนำเข้าถั่วเหลือง 2.7 ล้านตัน นำเข้าจากบราซิล 1.7 ล้านตัน สหรัฐฯ 9.6 แสนตัน จึงเป็นโอกาสของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในไทย

ขณะเดียวกัน พบว่า จีนมีการนำเข้าข้าวสาลีและเมสลินจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าประมาณ 390 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าจากทั่วโลกมากกว่า 4 ล้านตัน โดยนำเข้าจากออสเตรเลีย สหรัฐฯ และแคนาดา ในปริมาณ 1.9 1.6 และ 0.5 ล้านตัน ตามลำดับ หากสหรัฐฯ ส่งออกจีนได้น้อยลง สหรัฐฯ ก็จะผลักดันกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลัก ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย และจีน ส่วนไทยเป็นตลาดส่งออก อันดับ 9 ของสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มว่า สหรัฐฯ น่าจะกระจายสินค้าไปยังตลาดหลักก่อน

สงครามการค้าในส่วนของการขึ้นภาษีสินค้าเกษตรนั้น คู่ค้าสหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีตอบโต้หลังจากที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม โดยจีนขึ้นภาษี 25% เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และเมสลิน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดซอร์กัม แป้งข้าวโพด แป้งธัญพืช ถั่ว เช่น อัลมอนด์ พิตาชิโอ มะม่วงหิมพานต์ แมคคาดาเมีย และวอลนัท ผักและผลไม้ เช่น ส้ม/แมนดาริน เชอรี่ องุ่น แอปเปิ้ล ลูกแพร์ สตรอเบอรี่ พรุน มะม่วง มะพร้าว สับปะรด ฝรั่ง แตงโม มะนาว แครอท กะหล่ำ บร็อกโคลี่ ฟักทอง ผักกาดหอม หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด หอมหัวใหญ่ และกระเทียม และกากเหลือจากการผลิตสตาร์ช ขณะที่ อียู ขึ้นภาษี 25% ในสินค้าข้าว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วแดง ตุรกีขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าข้าว และถั่วประเภทต่างๆ จากสหรัฐฯ อัตรา 20% และ 5% ตามลำดับ แคนาดาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากาแฟคั่วจากสหรัฐฯ ในอัตรา 10%