ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนปัตตานี

เชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก “จังหวัดชายแดนภาคใต้” อย่างผิวเผิน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในที่นี้หมายถึง 5 จังหวัดใต้สุดของประเทศไทย ที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย แม้จังหวัดปัตตานีจะเป็นจังหวัดเดียวที่ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย แต่จัดว่าเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกัน เพราะประเพณี วัฒนธรรม ของคนใน 5 จังหวัดนี้จะคล้ายๆ กัน ประชาชนจะมีการเคลื่อนย้ายไปมาใน 5 จังหวัด และมีการออกไปประกอบอาชีพติดต่อสื่อสาร ไปมาหาสู่กับประชาชนในประเทศมาเลเซียเหมือนๆ กัน จึงได้รวมจังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

วิถีชีวิตชายแดนใต้

จุดเรียนรู้การเลี้ยงปลาในกระชัง

จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางสังคมของประชาชน หลายๆ อย่างแตกต่างไปจากสภาพในภาคอื่นๆ มีความละเอียดอ่อนในเรื่องของศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม และจะเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจ มีความละเอียดอ่อนเปราะบาง และเกิดปัญหาได้ง่าย หากเจ้าหน้าที่หรือส่วนราชการที่ไม่เข้าใจประเพณีและวัฒนธรรมของประชาชนที่นี่เข้าไปปฏิบัติงานได้อย่างยากลำบาก

สภาพเศรษฐกิจทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ประชาชนส่วนใหญ่จะมีฐานะค่อนข้างยากจน วัดจากตัวเลขรายได้ของประชากรต่อหัวยังต่ำกว่าอัตรารายได้ต่อหัวของประเทศไทยมาก แต่ไม่ถึงขั้นอดอยาก ถึงแม้พวกเขาจะไม่มีอาชีพ ก็ยังพออยู่ได้ พอมีพอกินแต่ไม่ร่ำรวย เพราะสภาพความสมบูรณ์ของพื้นที่ เนื่องจากศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้คล้ายกับประชาชนในประเทศมาเลเซีย จึงมีการลื่นไหลของประเพณีและวัฒนธรรมตลอดจนการเคลื่อนย้ายเข้าออกของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

ทีมงานศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนปัตตานี

มีคนไทยในภาคใต้ 5 จังหวัดชายแดน มากมายที่มีญาติอยู่ในประเทศมาเลเซีย และชาวมาเลเซียมากมายที่มีญาติอยู่ในเมืองไทย การเข้า-ออก ของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่เข้าๆ ออกๆ ในประเทศมาเลเซียเหมือนเป็นประเทศของตนเอง บางคนที่มีบัตรประจำตัวประชาชนทั้ง 2 ประเทศ จนไม่รู้ว่าตนเองเป็นคนชาติใด ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมออกไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีคนนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ฯลฯ เพราะมีค่านิยมในเรื่องการมีรายได้สูงกว่าทำงานในเมืองไทย

พี่น้องราษฎรไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มักชักจูงกันเข้าไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ชายแดนติดกัน ไปมาหาสู่กันสะดวก และง่ายต่อการเข้า-ออก ตลอดจนการไม่มีปัญหาในเรื่องของศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ขนาดครอบครัวของประชาชนในชายแดนภาคใต้ยังค่อนข้างเป็นครอบครัวที่ใหญ่ เพราะไม่คุมกำเนิด เนื่องจากมีความเชื่อว่าการคุมกำเนิดเป็นการทำบาป ดังนั้น การคุมกำเนิดจึงยังมีน้อย ครอบครัวแต่ละครอบครัวจึงเป็นครอบครัวใหญ่ ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ใช้ภาษาถิ่น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนปัตตานี

ปลูกยางพารา เป็นไม้เบิกนำฟื้นฟูดินเสื่อมโทรม

เมื่อ 28 ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนปัตตานี” ซึ่งเป็นสถานศึกษา สังกัดสำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2533 โดยมีวัตถุประสงค์ให้ศูนย์แห่งนี้ทำหน้าที่พัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรไทยบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ให้เกิดความมั่นคงทั้งในด้านเศรษฐกิจด้านสังคมและชุมชน ตลอดจนให้เกิดความรักและหวงแหนแผ่นดินเกิด สร้างความมั่นคงกับครอบครัว ชุมชน และสังคม

ปัจจุบัน สำนักงานศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทย บริเวณชายแดนปัตตานี ตั้งอยู่ เลขที่ 62 หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โทร. (073) 357-323

ส่งเสริมการเรียนรู้ “เกษตรธรรมชาติ”

ดินเค็ม ปลูกกล้วย เป็นไม้เบิกนำฟื้นฟูดิน

ปัจจุบัน ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทย บริเวณชายแดนปัตตานี ดูแลรับผิดชอบหมู่บ้านเป้าหมายชายแดนไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล รวมทั้งหมด 19 อำเภอ 49 ตำบล 160 หมู่บ้าน ทางศูนย์ได้จัดกิจกรรมอบรมความรู้แก่ราษฎร โดยใช้เจ้าหน้าที่ศูนย์เป็นวิทยากร ควบคู่กับครูภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความรู้ ความสามารถ ในด้านต่างๆ เช่น เกษตรธรรมชาติ แพทย์แผนไทย การจักสาน การเกษตรผสมผสาน การเลี้ยงผึ้งโพรง การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การเพาะเห็ดแครง การขยายพันธุ์ไผ่กิมซุง การผลิตปุ๋ย การเพาะถั่วงอก การเพาะต้นอ่อนทานตะวัน และการขยายพันธุ์มะนาว ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานเกษตร สำนักงานปศุสัตว์ สำนักงานพัฒนาชุมชน และ กศน.ในแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดสตูล มีแหล่งเรียนรู้ 2 แห่ง คือศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านวังพะเนียดเกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 5 ตำบลเกตรี อำเภอเมือง และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เกษตรธรรมชาติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเขานุ้ยเกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 2 ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน

จังหวัดสงขลา มีแหล่งเรียนรู้ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านสี่แยกพัฒนา เกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 8 ตำบลสะเดา อำเภอสะเดา ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไร่เกษตรธรรมชาติหมู่ที่ 4 ตำบลทับช้าง อำเภอนาทวี และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เกษตรธรรมชาติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบ้านบ่อคุยเกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 9 ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย

จุดเรียนรู้เรื่องการอบไม้เป็นถ่าน

จังหวัดปัตตานี มีแหล่งเรียนรู้ 1 แห่ง คือ ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านบาเลาะเกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 5 อำเภอสายบุรี ส่วนจังหวัดยะลา มีแหล่งเรียนรู้ 4 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านถ้ำทะลุเกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 1 ตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านคลองปุดเกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 7 ตำบลบาละ อำเภอกาบัง ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติชุมชนกาแป๊ะกอตอนอกเกษตรธรรมชาติ ตำบลเบตง อำเภอเบตง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เกษตรธรรมชาติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเหมืองลาบูเกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 8 ตำบลปะแต อำเภอยะหา

จังหวัดนราธิวาส มีแหล่งเรียนรู้ 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านสาวอเกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 8 ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านซอยปราจีน เกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 11 ตำบลสุคิริน อำเภอสุคิริน ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติในสถาบันปอเนาะนูรุลฮูดาเกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 1 ตำบลมูโน๊ะ อำเภอสุไหงโกลก ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสถาบันศึกษาปอเนาะ อัล-มูฮามาดีวิทยาเกษตรธรรมชาติ หมู่ที่ 1 ตำบลบางขุนทอง อำเภอตากใบ ใครอยู่ใกล้ที่ไหน ก็แวะเข้าไปเรียนรู้เรื่องเกษตรธรรมชาติได้ตามความสนใจ

“เศรษฐกิจพอเพียง” ช่วยเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย

นอกจากนี้ ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ยังมุ่งเน้นจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีอาชีพ มีรายได้ และลดรายจ่ายภายในครอบครัว ได้แก่ การจัดกิจกรรมที่เป็นหลักสูตรช่างพื้นฐาน (40 ชั่วโมง) หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นทางด้านการเกษตร (3-15 ชั่วโมง) หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นทางด้านคหกรรม (6-30 ชั่วโมง) เป็นต้น โครงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ได้แก่ กิจกรรมการช่วยเหลือประชาชนในการย้อมผ้า การจัดทำริบบิ้น การสกรีนเสื้อ เพื่อแสดงความอาลัย เป็นต้น การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน ได้แก่ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การจัดกิจกรรม กพช. จิตอาสาพัฒนาชุมชนและศาสนสถาน เป็นต้น

คุณสนิท ตั้นซ้าย

ที่ผ่านมา ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนปัตตานี ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานศึกษาดีเด่นเรื่องเกษตรธรรมชาติ รวมทั้งจัดการเรียนรู้โครงการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น รางวัลที่ 3 ระดับประเทศ  ผลงานเด่นที่ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป ได้แก่ การเรียนรู้เกษตรธรรมชาติสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กิจกรรมการขยายพันธุ์ไผ่เพื่อการค้า การจัดทำขันหมากบายศรีตามวิถีประเพณีมุสลิม งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และอาชีพเพื่อคนชายแดนใต้ เป็นต้น

ทางศูนย์ได้บูรณาการความร่วมมือกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในการเผยแพร่ โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ให้ประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ในการเลือกทำกิจกรรมที่เหมาะสมตามสภาพสังคมของแต่ละพื้นที่ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ การเพาะเห็ดนางฟ้า การปลูกผัก การเลี้ยงปลา ตลอดจนสามารถใช้หลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปขยายผลต่อชุมชน สร้างคนรุ่นใหม่ให้ทำหน้าที่สืบทอดการขับเคลื่อนขยายผลฯ ในพื้นที่ โดยการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น สร้างชุมชนให้เข้มแข็งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

……………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2561