ข้าวต้มสอดไส้ใบกะพ้อ

ภาคใต้ นำใบกะพ้อมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ หรือประกอบพิธีตามความเชื่อของชาวใต้ โดยเฉพาะงานเดือนสิบนำมาห่อข้าวต้ม หรือนำใบกะพ้อมาทำหัตถกรรม จักสาน ใบกะพ้อ ลักษณะคล้ายฝ่ามือ เรียงเวียนสลับ รูปกลม ก้านใบรูปสามเหลี่ยม มีหนามแหลม ยอดอ่อนต้มจิ้มน้ำพริก ก้านใบ เอาหนามออกผ่าเป็นตอกใช้มัดข้าวกล้า ปัจจุบัน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ สำหรับการห่อข้าวต้มต้องใช้ใบอ่อน

ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา จัดเผยแพร่วัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยเฉพาะการทำข้าวต้มสอดไส้ใบกะพ้อ เนื่องจากนับวันเยาวชนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้สนใจกับวัฒนธรรมดั้งเดิม โดย ครูรัชนี การะนัด ทำออกเผยแพร่เพื่อได้เรียนรู้ โดยเพิ่มการใส่ไส้เข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แตกต่างจากปกติที่นิยมใส่เพียงข้าวเหนียว กะทิ หรือบางครั้งอาจจะใส่ถั่ว

ต้นกะพ้อ

ส่วนผสม

ข้าวต้ม  ส่วนผสมจะเป็นของที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น ข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม กะทิ 5 ถ้วย เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ และน้ำตาลทรายครึ่งถ้วย

สำหรับส่วนผสมของไส้ ทำจากเนื้อหมูหรือไก่ หั่นสี่เหลียมลูกเต๋า 1 กิโลกรัม เห็ดหอม หั่นบาง 100 กรัม กุ้งแห้ง แช่น้ำ 200 กรัม ไข่แดงเค็ม (ตัด 6 ชิ้น ต่อ 1 ฟอง) 10 ฟอง รากผักชี 3 ราก กระเทียม 10 กลีบ พริกไทย 2 ขีด เครื่องปรุงรส ซีอิ๊ว น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ

วิธีผัดไส้ นำรากผักชี กระเทียม พริกไทย โขลกให้ละเอียด ใส่กระทะผัดให้หอม ใส่เนื้อหมูผัดให้สุก เติมกุ้งแห้ง เห็ดหอม ผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วย ซีอิ๊ว น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ หรือจะเติมเม็ดบัวที่ต้มสุกลงไปผัด ชิมรสชาติตามชอบ

วิธีทำ

1.ล้างข้าวเหนียวให้สะอาด ใส่กระชอนให้สะเด็ดน้ำ เทใส่กระทะ เติมน้ำกะทิ เกลือ น้ำตาลทราย ตั้งไฟ ผัดไฟปานกลางจนข้าวเหนียวใกล้สุก และยกลงพักไว้ให้เย็น

 

2.ตัดใบกะพ้อ แบ่งส่วนของใบกะพ้อให้มีความกว้างของแต่ละใบเท่าๆ กัน เพื่อเวลาห่อขนมจะได้เท่ากัน

3.พับส่วนปลายของใบกะพ้อเป็นรูปกรวย ตักข้าวเหนียวใส่กดลงให้แน่นจนสุดกรวย ให้ได้ครึ่งของกรวย

4.ตักใส้ใส่ตรงกลางพอประมาณ และใส่ไข่แดงของไข่เค็มตามส่วนที่ตัดไว้ แล้วตักข้าวเหนียว ปิดทับให้มิดและให้แน่น แล้วพับเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว จากนั้นให้สอดส่วนโคนของใบกะพ้อออกมาทางยอดแหลมของกรวยดึงให้แน่น หรือจะขมวดปมตรงกรวยเพื่อกันหลุดก็ได้

5.นำไปต้ม หรือนึ่งจนกระทั่งสุก จะใช้เวลา ประมาณ 25 นาที

การห่อ

1.นำใบกะพ้อที่ยังไม่บาน มาทำความสะอาด เช็ดสิ่งสกปรกออกด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ แล้วแกะ ใช้มือรีดตามแนวใบ เพื่อแผ่ให้ใบกว้าง แล้วพับม้วน เพื่อขึ้นรูปให้ทรงตัว

2.นำใบกะพ้อที่ขึ้นรูปไว้แกะออกเป็นใบๆ

3.พับปลายใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ใส่ข้าวเหนียว

การห่อให้สวยงามนั้น จะต้องตัดหนวดขนมต้มให้ดูสวยงาม ข้าวเหนียวที่ห่อมิดชิด ไม่มีข้าวเหนียวออกมานอกใบกะพ้อ ขนาดขนมต้มไม่แตกต่างกันมากนัก หรือใหญ่ไปหรือเล็กไป

ข้าวต้มใบกะพ้อ หรือภาคใต้ เรียกว่า ต้ม เป็นขนมที่ทำจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบอ่อนของใบกะพ้อของชาวปักษ์ใต้ นิยมทำกันในช่วงงานบุญต่างๆ โดยเฉพาะชาวพุทธ นิยมทำในช่วงออกพรรษา งานชักพระ หรือชาวบ้านทำใส่บาตรถวายพระ หรืองานบวช ฯลฯ ชาวมุสลิมจะทำในวันฮารีรายอ ที่ผ่านมาในบางพื้นที่ เคยจัดให้มีการประกวด การห่อขนมต้มกันมาแล้ว เช่น จังหวัดพังงา โดยปกติแล้วก่อนถึงงานบุญ หรือจะทำขนมต้มนั้น จะต้องเตรียมใบกะพ้อไว้ล่วงหน้า 2-3 วัน

สำหรับ กะพ้อ จัดเป็นพืชชนิดปาล์มแตกกอ มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของไทย ในป่าพรุ หรือตามไร่-นา สูงประมาณ 15-20 ฟุต ก้านใบยาวเล็ก มีใบย่อยแตกออกจากกัน และแตกจากจุดเดียวกัน ที่ก้านใบแต่ละใบจะมีใบย่อย ประมาณ 12-18 ใบ ตามใบย่อยมีรอยจีบ ปลายใบตัด ดอกสีขาวออกเป็นช่อ เจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง ชอบดินปนทรายที่ชุ่มชื้นปานกลาง สามารถปลูกในสนามหญ้า เพื่อให้แตกกอเป็นพุ่มหรือจะปลูกในกระถางก็ได้

สำหรับท่านใดที่สนใจ หรือต้องการเรียนรู้ การทำข้าวต้มสอดไส้ใบกะพ้อ สามารถติดต่อได้ที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา